กล้ามเนื้อกระตุกรัว (Myoclonus)

ความหมาย กล้ามเนื้อกระตุกรัว (Myoclonus)

กล้ามเนื้อกระตุกรัว (Myoclonus) เกิดจากการหดเกร็งหรือคลายตัวของกล้ามเนื้อหรือกลุ่มกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการกระตุกของกล้ามเนื้ออย่างฉับพลันโดยไม่ได้ตั้งใจและไม่สามารถควบคุมได้ อาการกล้ามเนื้อกระตุกไม่จัดเป็นโรคโดยตรง แต่อาจเป็นอาการบ่งบอกโรคอื่น ๆ ได้

อาการกล้ามเนื้อกระตุกรัวมีหลายประเภท โดยความถี่และความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ อาทิ อาการกระตุกประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายอย่างการสะอึก จะเกิดอาการช่วงสั้น ๆ และอาการจะหายได้เอง แต่บางรายที่มีอาการรุนแรงจากโรคบางอย่างอาจเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกบ่อยและเกิดได้ตลอดชีวิต จึงมักรบกวนการเคลื่อนไหว การกิน การพูด และการนอนหลับของผู้ป่วย 

อาการกล้ามเนื้อกระตุก (Myoclonus)

อาการกล้ามเนื้อกระตุกรัว

ผู้ป่วยกล้ามเนื้อกระตุกรัวมักมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกอย่างฉับพลันและมักเกิดในช่วงสั้น ๆ โดยไม่สามารถควบคุมให้อาการกระตุกให้หยุดได้ และบ่อยครั้งอาการกระตุกอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตกใจ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนจะมีความถี่ ความรุนแรง และตำแหน่งที่เกิดอาการต่างกันตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ

อาการกระตุกอาจเป็นเพียงบางกล้ามเนื้อหรือบางกลุ่มกล้ามเนื้อ ทำให้อาจเกิดอาการเฉพาะจุด เช่น ใบหน้า แขน และขา หรือบางรายอาจเกิดอาการกระตุกทั้งร่างกายได้ และหากมีอาการรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การกิน การพูด และการเดิน

สาเหตุของกล้ามเนื้อกระตุกรัว

โดยทั่วไปอาการกล้ามเนื้อกระตุกรัวมักเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น สมองและไขสันหลัง และบางกรณีอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยอาจแบ่งตามสาเหตุของการเกิดอาการดังนี้

  • Physiologic Myoclonus เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในคนที่มีสุขภาพแข็งแรง และหายได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษา เช่น สะอึก สั่นจากความกังวลหรือตกใจ ทารกนอนกระตุก และกระตุกในช่วงเริ่มหลับ
  • Essential Myoclonus เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่มีอาการของโรคอื่นร่วมด้วย และความรุนแรงของอาการมักคงที่ เป็นอาการที่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุหรืออาจได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • Sleep Myoclonus มักเกิดขณะหลับและอาจไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่บางกรณีอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าผู้ป่วยมีภาวะผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ อย่างกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome) 
  • Epileptic Myoclonus เป็นอาการกล้ามเนื้อกระตุกที่พบในผู้ป่วยโรคลมชัก
  • Stimulus-Sensitive Myoclonus เป็นอาการกระตุกเมื่อได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก เช่น แสง เสียง หรือการเคลื่อนไหวบางอย่าง ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่างกัน
  • Action Myoclonus เป็นอาการที่รุนแรงที่สุด มักเกิดจากการขาดออกซิเจนหรือเลือดไปเลี้ยงสมอง เมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือเห็นการเคลื่อนไหวอาจกระตุ้นให้เกิดอาการบริเวณใบหน้า แขน ขา และเสียง อีกทั้งอาการอาจรุนแรงขึ้นเมื่อพยายามควบคุมการกระตุกของร่างกาย
  • Cortical Reflex Myoclonus เป็นอาการกระตุกที่มักพบบริเวณใบหน้า แขนและขา หากพยายามเคลื่อนไหวร่างกายอาจทำให้อาการแย่ลง โดยแพทย์เชื่อว่าเป็นอาการของโรคลมชัก
  • Palatal Myoclonus เป็นอาการสั่นบริเวณเพดานอ่อนในปาก และอาจมีอาการบริเวณใบหน้า ลิ้น ลำคอ และกระบังลม ซึ่งอาการกระตุกอาจเกิดได้มากถึง 150 ครั้ง/นาที และอาจได้ยินเสียงเมื่อกล้ามเนื้อเกิดการหดตัว
  • Reticular Reflex Myoclonus เป็นอาการของโรคลมชักรูปแบบหนึ่งซึ่งมักทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งร่างกาย โดยอาการจะถูกกระตุ้นโดยการเคลื่อนไหวร่างกายและปัจจัยภายนอก
  • Progressive Myoclonus Epilepsy มักพบในเด็กและวัยรุ่น โดยอาการมักรุนแรงขึ้นตามวัย หากอาการรุนแรงอาจส่งผลต่อการพูดและการเคลื่อนไหวร่างกายได้

นอกจากนี้ อาการกล้ามเนื้อกระตุกรัวอาจพบในคนที่มีโรคประจำตัวหรือการประสบอุบัติเหตุร้ายแรง (Symptomatic หรือ Secondary Myoclonus) ได้แก่

  • การติดเชื้อ 
  • ไตและตับวาย หรือการทำงานของอวัยวะอื่นล้มเหลว
  • การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะและไขสันหลัง และภาวะสมองขาดออกซิเจน (Cerebral Hypoxia)
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • เนื้องอกและมะเร็งที่สมองและไขสันหลัง
  • โรคระบบภูมิคุ้มกันอย่างโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
  • โรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) และอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease)
  • ผลข้างเคียงจากยาหรือสารเคมี

การวินิจฉัยกล้ามเนื้อกระตุกรัว

แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพ และตรวจร่างกายเบื้องต้น จากนั้นอาจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีต่อไปนี้

การตรวจเลือดและปัสสาวะ

การตรวจเลือดและปัสสาวะจะช่วยตรวจหาการติดเชื้อและโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เบาหวาน โรคระบบการเผาผลาญ โรคระบบภูมิคุ้มกัน โรคไตและตับ และผลข้างเคียงจากยา

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography)

แพทย์ใช้การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อตรวจหาตำแหน่งของสมองที่ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกรัว โดยติดขั้วไฟฟ้า (Electrode) รับสัญญาณไฟฟ้าที่หนังศีรษะของผู้ป่วยและบันทึกการทำงานของคลื่นสมอง

การตรวจกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (Electromyography)

เป็นการตรวจเพื่อวิเคราะห์การทำงานที่ผิดปกติของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณที่เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก ซึ่งจะช่วยตรวจหาตำแหน่งและรูปแบบของอาการกระตุกของผู้ป่วย

การตรวจโดยใช้ภาพวินิจฉัย (Imaging Tests)

การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การถ่ายภาพเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และ PET Scan จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเนื้องอกหรือความผิดปกติอื่น ๆ บริเวณสมองหรือไขสันหลัง

การรักษากล้ามเนื้อกระตุกรัว

การรักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุกรัวที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ การรักษาโรคหรือภาวะผิดปกติที่ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก โดยส่วนใหญ่แล้วโรคหรือปัจจัยต่าง ๆ อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จุดประสงค์ของการรักษาผู้ป่วยจึงเน้นการบรรเทาอาการกล้ามเนื้อกระตุก และช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยวิธีการรักษาอาจแตกต่างกันตามความรุนแรงและอาการของผู้ป่วย ดังนี้

การใช้ยา

แม้จะไม่มียาที่ใช้ในการรักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุกรัวได้โดยตรง แต่แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพื่อช่วยระงับและควบคุมอาการกล้ามเนื้อกระตุก ซึ่งอาจต้องใช้ยามากกว่า 1 ชนิดในการรักษา ได้แก่

  • ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) อย่างยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) เป็นยาที่นิยมนำมาใช้รักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุกรัว โดยตัวยามีคุณสมบัติคลายกล้ามเนื้อและช่วยลดอาการกระตุก 
  • ยากันชัก (Anticonvulsant) เป็นยาป้องกันและระงับอาการชักในผู้ป่วยโรคลมชัก จึงใช้รักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุกรัวได้ เช่น ยาลีวีไทราซีแทม (Levetiracetam) ยาวาลโปรเอท (Valproate) ยาโซนิซาไมด์ (Zonisamide) และยาไพรมิโดน (Primidone) 

การใช้ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม สับสน คลื่นไส้ และอ่อนเพลีย จึงควรใช้ในปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์สั่ง หากมีอาการผิดปกติหรือมีอาการกระตุกเพิ่มขึ้นหลังการใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

การผ่าตัด

หากผู้ป่วยมีเนื้องอกบริเวณสมองหรือไขสันหลัง แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดนำเนื้องอกที่เป็นสาเหตุของอาการกล้ามเนื้อกระตุกออก รวมทั้งผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อกระตุกบริเวณใบหน้าและใบหู การผ่าตัดอาจช่วยรักษาอาการให้ดีขึ้น

ในบางกรณี การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation) ซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสันอาจนำมาใช้รักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อกระตุกรัวได้ โดยอาจช่วยระงับการส่งสัญญาณที่กระตุ้นเกิดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ 

การรักษาด้วยวิธีอื่น

การฉีดยาโบทูไลนัม ท็อกซิน (Botulinum Toxin) อาจช่วยรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อกระตุกรัวที่มีอาการเฉพาะบางบริเวณ การฉีดยาโดยตรงเข้าสู่กล้ามเนื้อที่มีอาการกระตุกจะระงับการหลั่งสารสื่อประสาทซึ่งทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก 

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาประสิทธิภาพของการใช้อาหารเสริม 5-Hydroxytryptophan ที่สารตั้งต้นของสารสื่อประสาท และการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy) โดยใช้ฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคทรอพิก (Adrenocorticotropic Hormone) ก็อาจมีประโยชน์ในการรักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุกรัวเช่นกัน

ภาวะแทรกซ้อนของกล้ามเนื้อกระตุกรัว

ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อกระตุกรัวเล็กน้อยและไม่มีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วยมักไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ผู้ป่วยที่มีอาการบ่อยครั้งและรุนแรงโดยไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเคลื่อนไหว การพูด และการกินได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายจากโรคประจำตัว อย่างไตและตับวาย โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกและมะเร็งได้

การป้องกันกล้ามเนื้อกระตุกรัว

อาการกล้ามเนื้อกระตุกรัวเป็นอาการที่ป้องกันได้ยาก เนื่องจากเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุหรือจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม การดูแลตัวเองจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกรัว และป้องกันการเกิดอาการซ้ำ ดังนี้

  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือการกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะและสมอง โดยสวมหมวกกันน็อคหรืออุปกรณ์ป้องกันศีรษะขณะขับขี่จักรยานและจักรยานยนต์
  • หลีกเลี่ยงการรับสิ่งที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก เช่น บริเวณที่มีแสงไฟกระพริบ การอยู่ใกล้หน้าจอเครื่องใช้ไฟฟ้า และบริเวณที่มีเสียงดัง