หญ้าหวานต้านโรค พิสูจน์ได้จริงหรือไม่

หญ้าหวาน (Stevia) เป็นพืชชนิดหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมในหมู่คนไทยที่รักสุขภาพ มักนำมาใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เนื่องจากมีรสชาติหวานกว่าน้ำตาล 100-300 เท่า แต่ปราศจากสารปรุงแต่งและแคลอรี่ โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาจัดให้สารสกัดหญ้าหวานเป็นสารเคมีที่ปลอดภัยต่อการบริโภค

หญ้าหวาน

หลายคนเชื่อว่าหญ้าหวานมีสรรพคุณช่วยรักษาปัญหาสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน แสบร้อนกลางทรวงอก ภาวะบวมน้ำ หรือโรคเกี่ยวกับหัวใจ อย่างไรก็ตาม คุณประโยชน์ของหญ้าหวานต่อสุขภาพยังเป็นประเด็นถกเถียงที่ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป โดยการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของหญ้าหวานที่ปรากฏชัดเจนและแพร่หลายนั้นมีอยู่จำกัด ดังนี้

ลดความดันโลหิต

การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปรุงแต่งน้ำตาลในปริมาณมากจะทำให้เป็นโรคอ้วน ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ง่าย การลดปริมาณน้ำตาลนับเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยควบคุมภาวะดังกล่าว แต่อีกทางเลือกที่ถูกกล่าวถึงก็คือใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาล ประเด็นนี้ได้รับความสนใจและมีการศึกษาอย่างแพร่หลาย งานวิจัยหนึ่งทดลองให้ผู้ที่มีความดันโลหิตปกติรับประทานสารสกัดหญ้าหวานวันละ 1,000 กรัม เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมเข้าวัดระดับความดัน ผลปรากฏว่าระดับความดันโลหิตของผู้เข้าร่วมทดลองไม่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นหนึ่งกลับพบผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม หลังจากทดลองสุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และผู้ที่มีความดันปกติ ให้รับประทานสารสกัดหญ้าหวานในปริมาณ 250 มิลลิกรัมหรือยาหลอก เป็นเวลา 3 เดือน แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน ผลการทดลองพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ปรากฏค่าความแตกต่างอย่างชัดเจน แต่ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และผู้ที่มีความดันปกติที่ได้รับหญ้าหวานหรือยาหลอกนั้นต่างมีค่าความดันโลหิตไม่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าการบริโภคแคปซูลบรรจุสารสกัดหญ้าหวานไม่ได้ส่งผลต่อระดับความดันโลหิตแต่อย่างใด โดยผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่รับประทานแคปซูลหญ้าหวานและผู้ป่วยกลุ่มยาหลอกต่างมีระดับความดันลดลงไม่ต่างกัน ผลลัพธ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าหญ้าหวานอาจไม่มีประสิทธิภาพในการช่วยลดความดันโลหิต

เนื่องจากงานวิจัยในปัจจุบันยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่าหญ้าหวานจะช่วยลดความดันโลหิตได้จริง ผู้ที่หวังสรรพคุณข้อนี้ของหญ้าหวานจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่มีความดันต่ำหรือกำลังใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานหญ้าหวาน เพราะอาจเสี่ยงทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำเกินไปจนเกิดอันตรายได้ ทั้งนี้ วิธีควบคุมระดับความดันที่มั่นใจได้จริงคือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยควรเลือกรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์เนยนมไขมันต่ำ และอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ลดเกลือ จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ รักษาน้ำหนักตัว และหมั่นสังเกตระดับความดันอยู่เสมอ

ลดระดับน้ำตาลในเลือด

ผู้ป่วยเบาหวานนั้นเสี่ยงมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้ง่าย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อร่างกายขาดเซลล์ที่ผลิตอินซูลินหรือเกิดภาวะดื้ออินซูลิน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้ เช่น ไม่ได้รับอินซูลินหรือยารักษาเบาหวาน กินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป เกิดความเครียด ได้รับบาดเจ็บ เข้ารับการผ่าตัด หรือติดเชื้อ ซึ่งคุณประโยชน์อีกประการหนึ่งของหญ้าหวานที่อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานก็คือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยปรากฏงานวิจัยที่ศึกษาประเด็นนี้มากมาย งานวิจัยหนึ่งได้ให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 รับประทานสารสกัดหญ้าหวาน 1 กรัม พร้อมเข้ารับการตรวจเลือดหลังผ่านไป 4 ชั่วโมง พบว่าผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นที่พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากรับประทานแป้งที่ทำมาจากหญ้าหวาน

นอกจากนี้ การรับประทานหญ้าหวานอาจลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ที่มีสุขภาพปกติเช่นกัน งานวิจัยหนึ่งได้สุ่มให้ผู้เข้าร่วมทดลองรับประทานซูโครส แอสปาแตม หรือหญ้าหวานก่อนอาหารมื้อกลางวันและมื้อเย็น เป็นเวลา 3 วัน ผลการศึกษาพบว่าผู้ที่รับประทานหญ้าหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินหลังรับประทานอาหารลดลงมากกว่าผู้ที่รับประทานซูโครสและแอสปาแตมอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ กลุ่มที่รับประทานหญ้าหวานและแอสปาแตมก่อนมื้ออาหารยังรู้สึกอิ่มและไม่รับประทานอาหารอื่นเพิ่มเติมจากมื้อหลัก เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าการรับประทานสารสกัดจากใบหญ้าหวานช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้เข้าร่วมการทดลองที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคเบาหวานหรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยข้างต้นศึกษากับผู้เข้าร่วมทำลองจำนวน 16 คน ซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย จึงไม่อาจนำข้อมูลดังกล่าวมาสรุปผลเกี่ยวกับสรรพคุณในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของหญ้าหวานได้อย่างชัดเจน ทั้งยังมีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 122 คน ชี้ให้เห็นว่าการบริโภคสารสกัดหญ้าหวาน 1000 มิลลิกรัม เป็นเวลา 16 สัปดาห์ ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

กินหญ้าหวานอย่างไรให้ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ

ผู้ที่ต้องการรับประทานหญ้าหวานหรือสารสกัดจากหญ้าหวานโดยหวังผลทางยาในด้านต่าง ๆ พึงคำนึงถึงภาวะสุขภาพของตนเองและความปลอดภัยในการใช้เป็นสำคัญ ดังนี้

  • สตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตรควรเลี่ยงบริโภคหญ้าหวาน เนื่องจากยังไม่ปรากฏข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันความปลอดภัยในการใช้หญ้าหวานระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตร
  • เลี่ยงบริโภคหญ้าหวานในกรณีที่แพ้พืชตระกูลเดียวกับหญ้าหวาน เช่น ดอกเบญจมาศ ดาวเรือง เป็นต้น เนื่องจากผู้ที่แพ้พืชเหล่านี้อาจเสี่ยงมีอาการแพ้หญ้าหวานได้เช่นกัน
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานหญ้าหวานควรหมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งปรึกษาแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติใด ๆ เนื่องจากหญ้าหวานหรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากหญ้าหวานอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปได้
  • ผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตต่ำควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานหญ้าหวานหรือผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารสกัดจากหญ้าหวาน เนื่องจากอาจทำให้ความดันโลหิตลดต่ำจนเกินไป
  • ผู้บริโภคหญ้าหวานบางรายอาจเกิดอาการท้องอืด คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือชาตามร่างกายได้
  • มีข้อกังวลว่าหญ้าหวานดิบอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อไต ระบบสืบพันธุ์ ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงทำปฏิกิริยากับยาลดระดับน้ำตาลในเลือด และส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำเกินไป
  • ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของหญ้าหวานและน้ำตาลแอลกอฮอล์อาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหารในผู้บริโภคบางรายได้ เช่น ท้องอืด ท้องร่วง เป็นต้น