การรักษาไอแห้งด้วยวิธีธรรมชาติ

การรักษาอาการไอแห้งด้วยวิธีธรรมชาติเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับช่วยบรรเทาอาการไอได้ด้วยตนเองในระยะเบื้องต้น โดยอาจใช้วัตถุดิบตามท้องถิ่นที่หาได้ง่ายและราคาไม่แพงมาปรับใช้ บทความนี้จึงรวบรวมวิธีการรักษาอาการไอแห้งด้วยวิธีธรรมชาติมาให้ได้ศึกษากัน

อาการไอแห้งหรือไอไม่มีเสมหะเป็นอาการที่หลายคนอาจเคยพบเจอ อาการนี้มักส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะขณะนอนหลับ อาการไอไม่มีเสมหะเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การระคายเคือง โรคภูมิแพ้ โรคหืด และการติดเชื้อ เป็นต้น ในบางกรณีการไอแห้งอาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคร้าย ดังนั้น หากมีอาการไออย่างต่อเนื่องหรือรุนแรงควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ

การรักษาไอแห้งด้วยวิธีธรรมชาติ

วิธีรักษาอาการไอแห้งด้วยวิธีธรรมชาติ

อาการไอไม่มีเสมหะอาจบรรเทาได้ด้วยวิธีการ ดังนี้

  1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ

    การดื่มน้ำให้เพียงพอเป็นวิธีการรักษาที่ง่ายและปลอดภัยที่สุด เพราะการดื่มน้ำจะช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายสามารถทำงานได้อย่างปกติ ซึ่งปริมาณน้ำที่ควรบริโภคในหนึ่งวันอาจแตกต่างไปตามช่วงอายุและเพศ

  2. บริโภคน้ำผึ้ง

    น้ำผึ้งเป็นวัตถุดิบธรรมชาติที่มักนำมารักษาอาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอาการไอ เชื่อกันว่าน้ำผึ้งมีสรรพคุณช่วยต้านการอักเสบและบรรเทาการระคายเคืองได้ การใช้น้ำผึ้งเพื่อบรรเทาอาการไอแห้งทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น ผสมลงในชา ผสมน้ำผึ้งกับน้ำมันสมุนไพร หรือใช้ผสมกับน้ำมะนาว เป็นต้น นอกจากนี้ การจิบน้ำผึ้งก่อนนอนในปริมาณ 2 ช้อนชาอาจช่วยบรรเทาอาการไอในเวลากลางคืนและยังช่วยให้นอนหลับสนิทมากขึ้นด้วย

  3. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ

    เชื่อกันว่าเกลือมีสรรพคุณต้านการอักเสบ ต้านเชื้อโรค และช่วยสมานแผล ซึ่งการบ้วนปากและกลั้วคอด้วยน้ำเกลือจึงอาจช่วยบรรเทาอาการไอแบบไม่มีเสมหะได้ น้ำเกลือสามารถทำได้เองด้วยการนำเกลือครึ่งช้อนชาผสมกับน้ำอุ่น 200 มิลลิลิตรหรือประมาณ 1 แก้ว โดยใช้กลั้วคอประมาณ 30 วินาทีและบ้วนทิ้ง

  4. ใช้สมุนไพร

    อาการไอไม่มีเสมหะอาจบรรเทาได้ด้วยสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ อย่างมะนาว น้ำผึ้ง มะขามป้อม บ๊วย มะแว้ง รากชะเอมเทศ ขมิ้น กระเทียม และเปเปอร์มินต์ สามารถนำมาการปรุงเป็นอาหาร น้ำหรือชาสมุนไพร นอกจากนี้ อาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสมุนไพรเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ อย่างยาอมหรือเครื่องดื่ม ซึ่งยาอมอาจช่วยสร้างความชุ่มชื้นภายในลำคอ ลดอาการไอ และช่วยเคลือบผนังภายในช่องคอเพื่อป้องกันอาการระคายเคือง อย่างไรก็ตาม ยาอมแก้ไอบางชนิดมีส่วนผสมของยา จึงควรขอคำแนะนำจากเภสัชกรก่อนซื้อ

  5. ปรับความชื้นในที่พักอาศัย

    ความชื้นต่ำและอากาศที่แห้งอาจส่งผลให้คอแห้งและเกิดการระคายเคือง ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของอาการไอแห้ง จึงควรรักษาระดับความชื้นในที่พักอาศัยให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ โดยอาจเลือกใช้เครื่องทำความชื้น หรือใช้วิธีการสูดดมไอของน้ำร้อนจากการซาวน่าหรือการอาบน้ำอุ่นซึ่งอาจช่วยให้ระบบทางเดินหายใจชุ่มชื้นขึ้นได้

  6. รับประทานผักและผลไม้มากขึ้น

    ผักและผลไม้อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ อย่างวิตามินซีและสังกะสีซึ่งเชื่อกันว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงควรเลือกรับประทานผักผลไม้เป็นประจำ เช่น บร็อคโคลี ปวยเล้ง มะเขือเทศ ส้ม มะม่วง กีวี่ สตรอเบอร์รี่ และสับปะรด เป็นต้น   

  7. หลีกเลี่ยงสารก่อระคายเคือง

    การสูดดมหรือสัมผัสกับสารก่อระคายเคืองเป็นอีกสาเหตุของการระคายเคืองในลำคอ จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเหล่านี้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีอาการไอแห้ง สารก่อระคายเคืองอาจพบได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ควันบุหรี่ ละอองเกสร สารเคมี ควันรถ หรือสารก่อภูมิแพ้ เป็นต้น หากเป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรสวมหน้ากากป้องกันที่ได้มาตรฐานเพื่อลดการได้รับสารก่อการระคายเคือง

  8. เพิ่มโพรไบโอติก

    โพรไบโอติกเป็นเชื้อแบคทีเรียมีประโยชน์ที่อาศัยอยู่ในร่างกาย ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ จึงควรเลือกรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกสูง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นอาหารแปรรูปหรืออาหารหมักดอง เช่น โยเกิร์ต กิมจิ มิโซะ และชีสบางประเภท เป็นต้น

  9. พักผ่อนให้เพียงพอ

    การนอนหลับพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการฟื้นฟูร่างกายจากโรค ความผิดปกติ และความเหนื่อยล้าระหว่างวัน ทั้งยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงขึ้นอีกด้วย จึงควรนอนหลับให้เหมาะสมตามช่วงวัย

อย่างไรก็ตาม วิธีรักษาอาการไอแห้งเหล่านี้เป็นเพียงอีกทางเลือกหนึ่งในการดูแลตนเองเบื้องต้น หากมีอาการแพ้ ไออย่างต่อเนื่อง หรืออาการแย่ลงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือคุณแม่ที่ต้องการรักษาเด็กทารกควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำการรักษาด้วยตนเอง