สาหร่าย คุณประโยชน์จากทะเล และหลากเรื่องควรรู้

สาหร่าย เป็นส่วนประกอบในอาหารยอดนิยมอย่างซูชิ ต้มจืด ขนมกินเล่น และยังถูกสกัดเป็นอาหารเสริมอีกด้วย หลายคนเชื่อว่าสาหร่ายมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ช่วยลดความอ้วน หรือต้านมะเร็ง แต่ปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังคงไม่รับรองการใช้สาหร่ายในเชิงการรักษา แม้จะมีข้อมูลวิจัยบางส่วนพิสูจน์คุณประโยชน์ของสาหร่ายแล้วก็ตาม

สาหร่าย

สาหร่ายปริมาณ 1 ช้อนพูน ให้พลังงานเพียง 4 แคลอรี่ โดยประกอบไปด้วยแคลเซียม ธาตุเหล็ก ไฟเบอร์ โฟเลต แมกนีเซียม และไอโอดีนจำนวนมาก แต่ปราศจากโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน และในสาหร่ายสกัดยังมีสารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น สารฟิวโคแซนธิน (Fucoxanthin) ที่เชื่อว่าอาจช่วยลดน้ำหนัก และสารฟูคอยแดน (Fucoidan) ที่อาจมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ เป็นต้น

ความเชื่อและข้อพิสูจน์ถึงคุณประโยชน์ของสาหร่าย

ช่วยลดน้ำหนัก การเลือกรับประทานอาหารเป็นส่วนหนึ่งในวิธีการควบคุมน้ำหนัก มีอาหารเสริมมากมายอ้างสรรพคุณของสารสกัดจากสาหร่ายเพื่อการลดน้ำหนัก ทำให้หลายคนเข้าใจว่าการบริโภคสาหร่ายอาจทำให้ผอมลง ทั้งนี้ มีงานวิจัยบางส่วนได้กล่าวถึงประโยชน์ของสารสกัดจากสาหร่ายว่าอาจช่วยกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญอาหาร และช่วยลดความรู้สึกหิว ทำให้มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักได้

งานวิจัยหนึ่งจากประเทศเนเธอร์แลนด์ศึกษาเรื่องความรู้สึกหิวจากกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 18-60 ปี จำนวน 23 คน โดยให้ผู้ทดลองดื่มเครื่องดื่มไฟเบอร์และสารอัลจิเนต (Alginate) ที่สกัดจากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล จากนั้นให้ผู้ทดลองบอกอัตราความหิวของตนในแต่ละครั้งหลังจากดื่มเสร็จ ซึ่งการวิจัยพบว่า ไฟเบอร์และสารอัลจิเนตจากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล อาจช่วยให้รู้สึกอยู่ท้องนานถึง 5 ชั่วโมงหลังการบริโภค และอาจทำให้รู้สึกหิวน้อยลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

อีกงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาในผู้ทดลองเพศหญิง 72 คนซึ่งมีภาวะไขมันพอกตับชนิดที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ พบว่ากลุ่มทดลองที่บริโภคสารฟิวโคแซนธินที่ได้จากสาหร่ายและน้ำมันเมล็ดทับทิมมีน้ำหนักตัวลดลงมากเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคสารดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจากห้องทดลองพบว่า สารฟิวโคแซนธินอาจช่วยลดน้ำหนักด้วยการสลายกรดไขมัน และเพิ่มพลังงานแก่ร่างกายได้ด้วย

เช่นเดียวกับที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติเปิดเผยว่า สารสกัดจากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลอาจช่วยเสริมสร้างกระบวนการเผาผลาญอาหาร การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และเพิ่มพลังงานแก่ร่างกาย

แม้การศึกษาส่วนหนึ่งแสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากสาหร่ายอาจมีผลต่อการลดน้ำหนัก แต่งานวิจัยเหล่านั้นเป็นการค้นคว้าในกลุ่มทดลองขนาดเล็ก และบางส่วนก็เป็นการศึกษาในห้องทดลองเท่านั้น จึงยังไม่สามารถยืนยันประสิทธิภาพของสาหร่ายในด้านนี้ได้อย่างชัดเจน และยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการบริโภคสาหร่ายนั้นจะปลอดภัยต่อร่างกาย หรือให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้ดีกว่าการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายแต่อย่างใด

ลดระดับน้ำตาลในเลือด ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอาจเป็นเหตุให้เผชิญโรคหรือมีอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ตามมาได้ นอกเหนือจากการรักษาโดยแพทย์ หลายคนเชื่อว่าการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างสาหร่ายอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดความเสี่ยงจากโรคเบาหวานได้

มีงานวิจัยหนึ่งทดลองในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเบาหวานชาวเกาหลีโดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกควบคุมให้บริโภคอาหารปกติ และกลุ่มที่ 2 บริโภคสาหร่ายปริมาณ 48 กรัม/วัน หลังการทดลองปรากฏว่า กลุ่มที่บริโภคสาหร่ายได้รับไฟเบอร์สูงกว่าอีกกลุ่ม 2.5 เท่า และมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมากอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ อีกหลายงานวิจัยยังพบว่า สารโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharides) และไฟเบอร์จากสาหร่าย อาจช่วยให้รู้สึกอิ่มท้องหลังมื้ออาหาร ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และกระตุ้นร่างกายให้ไวต่ออินซูลิน ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานได้

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเหล่านี้เป็นการวิจัยขนาดเล็กที่จัดทำขึ้นเมื่อนานมาแล้ว ทดลองในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก และยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ชัดเจนเพียงพอ ดังนั้น จึงควรมีการค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากพอยืนยันประสิทธิผลของสาหร่ายต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางการรักษาโรคเบาหวานและอาการอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง จากแหล่งที่มาตามธรรมชาติ สาหร่ายอุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร สารอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย จึงคาดว่าสาหร่ายอาจดีต่อสุขภาพ และป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคมะเร็ง โดยมีงานวิจัยบางชิ้นศึกษาสารสกัดต่าง ๆ จากสาหร่ายทะเลหลากชนิดแล้วพบว่า สารเหล่านั้นอาจทำลายและชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ โดยเฉพาะสารฟูคอยแดนที่สกัดจากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล อาจมีฤทธิ์ต้านมะเร็งลำไส้และมะเร็งเต้านมได้ด้วยเช่นกัน  

งานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมะเร็งกับสาหร่ายในหนูทดลองพบว่า หลังได้รับสาหร่ายในรูปอาหารเสริม หนูทดลองมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมลดจำนวนลง 25-38 เปอร์เซ็นต์ และลดการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลง 18-35 เปอร์เซ็นต์ ตามปริมาณการให้อาหารเสริมจากสาหร่ายเช่นกัน

แม้มีผลลัพธ์ในทางบวก แต่งานวิจัยข้างต้นเป็นเพียงการทดลองในสัตว์เท่านั้น จึงไม่อาจสรุปว่าการบริโภคสาหร่ายช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ได้ และในปัจจุบันยังคงมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไม่เพียงพอสนับสนุนประสิทธิภาพของสาหร่ายในการป้องกันมะเร็ง ดังนั้น การยืนยันสมมติฐานในด้านดังกล่าวจำเป็นต้องค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรศึกษาทดลองในมนุษย์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์สูงสุดในทางการแพทย์  

การบริโภคสาหร่ายอย่างเหมาะสม

แม้สาหร่ายมีสารอาหารและแร่ธาตุที่มีประโยชน์มากมาย ซึ่งอาจทำให้มีผลดีต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ ตามที่กล่าวมา แต่ขณะนี้ยังไม่มีการแนะนำให้ใช้สาหร่ายเพื่อรักษาหรือป้องกันโรคใด ๆ ผู้บริโภคจึงควรรับประทานสาหร่ายในปริมาณพอเหมาะ และคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพเสมอ โดยควรระมัดระวังปริมาณสารประกอบที่อาจเพิ่มขึ้นจากอาหารหรือขนมที่มีสาหร่ายเป็นส่วนประกอบ เช่น เกลือ น้ำตาล น้ำมัน และที่สำคัญ คือ ไอโอดีน

สาหร่ายประกอบไปด้วยไอโอดีนจำนวนมาก โดยในสาหร่าย 1 กรัม จะมีไอโอดีนประมาณ 16-2,984 ไมโครกรัม แตกต่างกันไปตามชนิดของสาหร่าย ดังนั้น หากรับประทานมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ผู้บริโภคจึงควรคำนวณปริมาณการบริโภคสาหร่ายให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงปริมาณไอโอดีนที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ดังนี้

  • ทารกแรกเกิด-อายุ 6 เดือน 110 ไมโครกรัม/วัน
  • ทารกอายุ 7-12 เดือน 130 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 1-13 ปี 90-120 ไมโครกรัม/วัน
  • วัยรุ่นอายุ 14-18 ปี และผู้ใหญ่ 150 ไมโครกรัม/วัน
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร 220-290 ไมโครกรัม/วัน

นอกจากนี้ การบริโภคสาหร่ายปริมาณมากอาจทำให้เกิดปฏิกิริยากับยาบางชนิด เช่น ยาวาร์ฟาริน หรืออาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการแพ้ทางผิวหนัง โรคผิวหนังเหลือง โรคคอพอก และอาจมีผลต่อลำไส้ได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือกำลังเผชิญภาวะใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคสาหร่ายและพืชทะเลอื่น ๆ ทุกครั้ง เช่น ผู้ป่วยไทรอยด์ เพราะอาจเกิดความผิดปกติขึ้นได้ หากได้รับไอโอดีนปริมาณมากและเข้มข้นจนเกินไป และผู้ที่ให้นมบุตรยิ่งควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะไอโอดีนอาจถูกส่งผ่านทางน้ำนมแล้วส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ของทารกได้