หิวบ่อย ใช่สัญญาณของโรคร้ายหรือไม่?

อาการหิวเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลังจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันจนร่างกายเหนื่อยล้าและขาดแคลนพลังงาน แต่หากบางคนกินจุและมีอาการหิวบ่อยทั้ง ๆ ที่เพิ่งรับประทานอาหารไปไม่นานอยู่เป็นประจำก็น่าสงสัยว่าเป็นสัญญาณเตือนอะไรของร่างกายหรือไม่ สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับอาการหิวบ่อยมีตั้งแต่สาเหตุปกติไปจนถึงภาวะหรือโรคต่าง ๆ ที่กระทบต่อร่างกาย

หิวบ่อย

โดยเหตุผลที่ทำให้เกิดอาการหิวบ่อยอาจเกิดได้จาก

อาหาร

อาหารแต่ละประเภทส่งผลต่อความหิวที่แตกต่างกัน การรับประทานประเภทไขมันสูง เต็มไปด้วยน้ำตาล หรือคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เช่น คุ้กกี้ ขนมปังขาว เบเกอรี่ ฟาสต์ฟู๊ด เป็นต้น ซึ่งอาหารเหล่านี้ผ่านการดัดแปลง ขัดสี หรือปรุงแต่งจนได้รสชาติและสีสันที่น่ารับประทาน จึงเป็นที่นิยมของหลายคน แต่การรับประทานอาหารประเภทนี้มาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการหิวบ่อยได้ง่าย เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างเร็วและร่างกายนำไปเผาผลาญเป็นพลังงานไม่ทัน

การเลือกประเภทอาหารให้มีความสมดุลตามหลักโภชนาการจะช่วยลดอาการหิวให้น้อยลง อาจลองปรับมารับประทานอาหารที่มีโปรตีน ไขมันชนิดไม่อิ่มตัว หรือกากใยสูง เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา ผลิตภัณฑ์จากนม ผัก ธัญพืช ผลไม้ หรือถั่วชนิดต่าง ๆ จะช่วยให้อิ่มท้องนานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาการหิวบ่อยจากสาเหตุนี้มักพบว่ามีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ท้องผูก อุจจาระมีลักษณะแห้งแข็งและเล็ก ปวดท้อง

การรับประทานยา

ยาบางประเภทอาจกระตุ้นให้อยากอาหารได้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน ยารักษาอาการซึมเศร้าในกลุ่ม SSRIs ยารักษาโรคเบาหวานบางตัว ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาระงับอาการทางจิต ยา เบต้า บล็อกเกอร์ หากสังเกตพบความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักหลังการรับประทานยาและรู้สึกหิวบ่อย ๆ ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่าอาการที่กำลังเผชิญมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ยา แต่ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้น ผู้ที่มีความกังวลต่อน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นควรปรึกษาแพทย์ถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนยาเป็นชนิดอื่นทดแทนหรือขอคำแนะนำวิธีควบคุมน้ำหนักที่เหมาะสม ทั้งนี้ ไม่ควรหยุดหรือเปลี่ยนยาเองโดยแพทย์ไม่ได้สั่ง เนื่องจากอาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย

การตั้งครรภ์

อีกสาเหตุของอาการหิวบ่อยก็อาจเกิดได้จากการตั้งครรภ์ เพราะทารกอยู่ในช่วงกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงต้องการอาหารมากขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 หรืออายุครรภ์ประมาณสัปดาห์ที่ 17 จะเริ่มรับประทานอาหารจุมากกว่าปกติ เพื่อนำมาเสริมสร้างร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์ ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักขึ้นตามมา แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์และระมัดระวังไม่รับประทานอาหารเกินปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากทารกมีขนาดตัวที่เล็กมาก จึงไม่ต้องการอาหารในปริมาณเทียบเท่าผู้ใหญ่ทั่วไป และน้ำหนักที่พุ่งสูงเกินมาตรฐาน อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่เอง

สถาบันแพทยศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า หญิงตั้งครรภ์ปกติในช่วงไตรมาสแรกควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.8-2.7 กิโลกรัม และช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์ไม่ควรน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกิน 0.45 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาแตกต่างกันออกไปแต่ละคน จึงควรปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแลโดยตรงเกี่ยวกับน้ำหนักที่เหมาะสมในะระหว่างตั้งครรภ์จะดีที่สุด

นอกจากอาการหิวบ่อย ยังพบสัญญาณอื่นที่บ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ เช่น ประจำเดือนขาด ปัสสาวะบ่อย คลื่นไส้ เจ็บหน้าอก หรือหน้าอกขยายใหญ่ขึ้น หากเกิดความกังวลหรือไม่แน่ใจก็อาจลองหาที่ตรวจครรภ์มาทดสอบเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์

ทิ้งช่วงระหว่างมื้ออาหารนานเกินไป

การอดมื้อเช้าหรือทำงานเพลินจนลืมเวลารับประทานข้าวบางมื้อก็อาจทำให้ร่างกายเกิดความอยากอาหารมากกว่าปกติโดยไม่รู้ตัว การทิ้งช่วงรับประทานอาหารระหว่างมื้อนานเกินไปจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า เกรลิน (Ghrelin) เข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นฮอร์โมนกระตุ้นความอยากอาหาร เมื่อเกิดการหลั่งออกมาเป็นปริมาณมาก จึงทำให้รู้สึกหิวและรับประทานมากขึ้นกว่าปกติ การปล่อยให้ท้องว่างเป็นเวลานานหลายชั่วโมงก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อร่างกาย โดยทั่วไประยะเวลาห่างระหว่างแต่ละมื้อของวันไม่ควรเกิน 4-5 ชั่วโมง คนที่ไม่ได้รับประทานอาหารเช้าหรือรับประทานมื้อไหนไม่ทันก็ควรหาอะไรรองท้องเล็กน้อย

โรคเบาหวาน ร่างกายคนทั่วไปจะมีกลไกการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นกลูโคสสำหรับใช้เป็นพลังงานให้กับเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเกิดความผิดปกติของกระบวนการนี้และไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ จึงเกิดการสะสมของน้ำตาลในเลือดสูงมาก บางส่วนก็จะถูกขับออกมาทางน้ำปัสสาวะ ร่างกายจึงตอบสนองต่อการขาดแคลนพลังงานด้วยอาการหิวบ่อย เพื่อหาแหล่งพลังงานเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงมักหิวบ่อยกว่าคนปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1

สำหรับอาการอื่น ๆ ที่บ่งบอกว่าอาจเป็นโรคเบาหวาน เช่น กระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลดหรือเพิ่มผิดปกติโดยไม่มีสาเหตุ สายตาพร่ามัว บาดแผลหายช้า ชาตามมือหรือเท้า เหนื่อยง่าย ผู้ที่สงสัยว่าอาการหิวบ่อยเกิดจากโรคเบาหวานก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจให้แน่ชัดและรับการรักษาที่ถูกต้อง

ภาวะน้ำตาลต่ำ

ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหิวบ่อยได้ง่ายเช่นกัน มักพบบ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากผลข้างเคียงของการรักษา ภาวะนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ค่อยรุนแรงและสามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นโดยการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลอยู่มาก

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง เช่น ตับอักเสบ ความผิดปกติของไต ปัญหาเกี่ยวกับต่อมหมวกไตหรือต่อมใต้สมอง สำหรับสัญญาณอื่นที่บ่งบอกว่าอาการหิวบ่อยอาจมาจากภาวะน้ำตาลต่ำมักพบว่าจะมีอาการคล้ายคลึงกับคนที่ดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปมาก พูดไม่ชัด มีปัญหาในการเดิน วิตกกังวล หัวใจเต้นเร็ว ผิวซีด สั่น เหงื่อออก ชารอบปาก หน้ามืด ชัก หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตในรายที่ระดับน้ำตาลลดต่ำอย่างรุนแรง

พักผ่อนไม่เพียงพอ

การตื่นกลางดึกบ่อยครั้งหรือพักผ่อนน้อยจะส่งผลกระทบต่อการหลั่งฮอร์โมนของร่างกายที่มีความเกี่ยวข้องกับความอยากอาหาร เพราะจะไปกระตุ้นให้ร่างกายเพิ่มระดับฮอร์โมนเกรลินที่ควบคุมความอยากอาหารให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดระดับฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม ดังนั้น เมื่อขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอจึงมักเกิดความอยากอาหารมากขึ้น มีแนวโน้มรับประทานอาหารเข้าไปเป็นปริมาณมาก และอิ่มช้าลง เมื่อร่างกายรู้สึกอ่อนเพลียก็จะรับประทานอาหารเข้าไปง่าย มีแนวโน้มที่จะรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูงได้ง่าย โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน แป้ง และน้ำตาลอยู่มาก

สำหรับอาการอื่นที่บ่งบอกว่าอาการหิวเป็นผลมาจากการพักผ่อนน้อย เช่น อารมณ์ไม่คงที่ ทำอะไรด้วยความเชื่องช้าจนซุ่มซ่าม ไม่มีความกระตือรือร้น เกิดความผิดพลาดได้ง่าย น้ำหนักขึ้น รู้สึกอยากงีบระหว่างวันบ่อย สมองไม่ปลอดโปร่ง คืนนี้ลองหาเวลาหลับให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมง เพื่อปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายให้กลับมาเป็นปกติและอาจช่วยลดอาการหิวบ่อยให้น้อยลง

ความเครียด

คนที่อยู่ในอารมณ์เครียดหรือวิตกกังวลมากจะทำให้ระดับฮอร์โมนแห่งความเครียดที่มีชื่อว่า คอร์ติซอล (Cortisol) และอะดรีนาลีน (Adrenaline) เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งในสภาวะฉุกเฉินของร่างกาย เช่น โกรธ ตกใจ หรือตื่นเต้นอย่างรุนแรง ทำให้ร่างกายต้องการพลังงานมากขึ้น จึงยิ่งไปกระตุ้นให้เกิดความอยากรับประทานอาหารตามมา ขณะเดียวกัน ความเครียดยังยับยั้งการหลั่งเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทจากสมองที่มีหน้าที่หลายอย่าง รวมทั้งควบคุมความหิวในร่างกาย เมื่อสารชนิดนี้มีปริมาณน้อย ทำให้อยากอาหารเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดอาการหิวบ่อยตามมา

เมื่อร่างกายอยู่ภายใต้สภาวะเหล่านี้มักจะเกิดความอยากอาหารประเภทที่มีน้ำตาลและไขมันสูงได้ง่าย และอาจเกิดอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหนื่อยง่าย ปวดศีรษะ มีปัญหาในการนอน ท้องเสีย อารมณ์พลุ่งพล่านง่าย ดังนั้น การรู้จักผ่อนคลายความเครียดอย่างถูกวิธีอาจจะช่วยลดอาการหิวบ่อยให้น้อยลงมาได้

ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์

ไทรอยด์เป็นต่อมรูปทรงคล้ายผีเสื้อที่อยู่บริเวณด้านหน้าลำคอบริเวณจุดบรรจบของกระดูกไห้ปลาร้า มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมระบบเมตาบอลิซึมของร่างกายและการทำงานของอวัยวะให้เป็นไปตามปกติ การเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติใด ๆ ที่ส่งผลให้ไทรอยด์ฮอร์โมนสูงขึ้นอาจส่งผลต่ออารมณ์ น้ำหนัก ระดับพลังงานของร่างกาย

สำหรับสาเหตุของต่อมไทรอยด์ผิดปกติที่ส่งผลให้เกิดอาการหิวบ่อยมักมาจากโรคเกรวฟส์ (Graves' Disease) หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) ผู้ที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติจากโรคหรือภาวะนี้มักจะมีอาการหิวบ่อยร่วมกับอาการอื่น เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกง่าย ชีพจรเต้นเร็ว คอบวม เหนื่อยง่าย กระหายน้ำหลังดื่มน้ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง อย่างไรก็ตาม หากสังเกตพบอาการหิวบ่อยเกิดพร้อมกับความผิดปกติเหล่านี้ก็ควรไปพบแพทย์ให้ตรวจหาสาเหตุ

อาการก่อนมีประจำเดือน

ผู้หญิงที่พบว่าใกล้ช่วงมีประจำเดือนของทุกเดือนมักมีอาการหิวบ่อยและความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น อาจมีความเป็นไปได้ว่าอาการหิวบ่อยเป็นผลมาจากกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome: PMS) ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เกิดกับร่างกายโดยมีความเกี่ยวข้องกับประจำเดือน ส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงก่อนมีประจำเดือนและมีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายและการเลือกรับประทานอาหารอาจช่วยบรรเทาอาการได้บางส่วน หากพบว่าอาการเหล่านี้เป็นรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือเป็นระยะเวลานานก็ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีการบรรเทาอาการอย่างถูกวิธี

ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนที่อาจก่อให้เกิดอาการหิวบ่อยที่พบเป็นปกติ แต่อาการนี้ก็อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่รู้สึกหิวบ่อยกว่าปกติ แต่ไม่พบความเกี่ยวข้องทางร่างกายหรือเกิดขึ้นเป็นเวลานานโดยไม่รู้สาเหตุ ควรปรึกษาแพทย์ในเบื้องต้น เพื่อช่วยประเมินความผิดปกติที่เกิดขึ้น

รักษาและแก้ไขอาการหิวบ่อยอย่างไร ?

อาการหิวบ่อยของแต่ละคนอาจมีสาเหตุต่างกัน จึงไม่ควรรับประทานยากลุ่มที่ระงับอาการอยากอาหารก่อนโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุให้แน่ชัดก่อนทำการรักษา ซึ่งแผนการรักษาจะเป็นไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิด เช่น

  • อาการหิวที่มีสาเหตุจากโรคเบาหวาน แพทย์ผู้ดูแลหรือนักโภชนาการจะช่วยแนะนำวิธีควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ เช่น การใช้ยารักษาเบาหวานและการเลือกชนิดอาหารให้เหมาะสม รวมถึงวิธีการสังเกตสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ถูกวิธี เพราะหากรักษาไม่ถูกวิธีอาจทำให้หมดสติหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • อาการหิวบ่อยที่มาจากการรับประทานยา แพทย์อาจจะแนะนำให้เปลี่ยนยาหรือปรับขนาดการรับประทานยา แต่ไม่ควรหยุดหรือเปลี่ยนขนาดยาที่รับประทานในปัจจุบันเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • อาการหิวบ่อยที่ไม่ได้มีสาเหตุจากด้านร่างกาย เช่น โรคการกินผิดปกติ ภาวะซึมเศร้า หรือปัญหาทางด้านจิตใจอื่น ๆ แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับคำปรึกษาทางจิตวิทยาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา