สังคมก้มหน้า กับภัยสุขภาพที่ควรระวัง

สังคมก้มหน้า หรือพฤติกรรมติดโทรศัพท์มือถือที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีทันสมัย นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างคนรอบข้างแล้ว การเสพติดการใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไปยังส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจได้ด้วย แต่จะมีอะไรบ้าง และมีวิธีป้องกันอย่างไร ศึกษาได้จากบทความนี้

1611 สังคมก้มหน้า Resized

สังคมก้มหน้า ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายอย่างไร ?

การติดโทรศัพท์สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้หลายด้าน ซึ่งอาจถึงขั้นทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยหรือเกิดความผิดปกติบางอย่างต่อร่างกาย โดยปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมสังคมก้มหน้า มีดังนี้

  • การติดเชื้อโรค หลายคนนำโทรศัพท์มือถือติดตัวไปเล่นในทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่ห้องน้ำ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะยิ่งเสี่ยงทำให้โทรศัพท์สัมผัสกับเชื้อโรคต่าง ๆ และหากไม่รักษาความสะอาด เชื้อโรคเหล่านั้นอาจเข้าสู่ร่างกายได้โดยไม่รู้ตัว
  • กลุ่มอาการไหล่ห่อคอตก (Text Neck Syndrome) การก้มหน้าจ้องโทรศัพท์นาน ๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอเกร็งตัวมากเกินไป และอาจเกิดการกดทับเส้นประสาทได้ นอกจากนี้ อาจทำให้เสียบุคลิกภาพ และกลายเป็นคนที่มีท่าทางไหล่ห่อคอตกได้
  • นิ้วล็อก การเล่นโทรศัพท์ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดพังผืดบริเวณข้อนิ้วหัวแม่มือที่ต้องงออยู่ตลอดเวลาในขณะเล่นโทรศัพท์ จนกระทั่งเกิดอาการนิ้วล็อกตามมา
  • ข้อนิ้วอักเสบเรื้อรัง แม้จะยังไม่อาจสรุปได้ว่าการเล่นโทรศัพท์มือถือทำให้ข้อนิ้วอักเสบได้หรือไม่ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการข้อนิ้วอักเสบเรื้อรังอยู่แล้วนั้น การเล่นโทรศัพท์มือถือติดต่อกันเป็นเวลานานอาจยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้น ซึ่งโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่บรรเทาอาการได้โดยพักการใช้นิ้วมือและการใช้ยารักษา
  • กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อศอก (Cubital Tunnel Syndrome) การงอศอกเพื่อจับโทรศัพท์เป็นเวลานานอาจส่งผลต่อเส้นประสาทบริเวณข้อศอก จนเป็นเหตุให้เกิดอาการเหน็บชาบริเวณปลายนิ้วนางและนิ้วก้อย นอกจากนี้ อาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บที่ข้อศอกหรือต้นแขนได้ด้วย
  • ปวดคอ การเอียงคอเพื่อหนีบโทรศัพท์กับไหล่ในระหว่างการคุยบ่อยครั้งหรือครั้งละนาน ๆ อาจทำให้เกิดอาการปวดคอหรือคอเคล็ดตามมา จึงควรคุยโทรศัพท์ในท่าทางที่เหมาะสมและหมั่นเปลี่ยนอิริยาบถ
  • ปัญหาสายตา การเล่นมือถือส่งผลให้ได้รับแสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์ได้ โดยแสงดังกล่าวสามารถทำให้ตาล้าและเกิดอาการปวดตา ในระยะยาวก็อาจทำให้เสียสายตาได้ด้วย
  • ปัญหาในการนอนหลับ การเล่นโทรศัพท์ในช่วงเวลากลางคืนหรือก่อนนอนสามารถส่งผลต่อการนอน ทำให้นอนไม่หลับและรู้สึกเหนื่อยล้าในวันถัดไป ส่งผลให้นาฬิกาชีวิตผิดเพี้ยน และนำไปสู่โรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ เป็นต้น
  • ผลกระทบต่อสมอง มีรายงานบางส่วนอ้างว่าการใช้โทรศัพท์อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง การนอนหลับ และปฏิกิริยาต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำงานของสมอง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าคลื่นโทรศัพท์ส่งผลเสียต่อสมองจริง และควรมีการค้นคว้าในด้านนี้เพิ่มเติมต่อไป
  • โรคมะเร็ง มีการศึกษาพบว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสัญญาณโทรศัพท์อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสมองได้ แต่ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยควรใช้อุปกรณ์เสริม เช่น หูฟัง หรือหูฟังบลูทูธ ขณะโทรศัพท์เป็นดีที่สุด

สังคมก้มหน้า ส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างไร ?

พฤติกรรมติดโทรศัพท์ก็ส่งผลต่อสุขภาพจิตได้เช่นกัน โดยมีการศึกษาพบว่าการใช้โทรศัพท์มากเกินไปอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอย่างโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือทำให้เกิดความรู้สึกบกพร่องในการติดต่อกับผู้อื่น รวมทั้งทำให้เสี่ยงต่อโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าสูงขึ้นด้วย

สังคมก้มหน้า กับผลกระทบด้านอื่น ๆ

นอกจากปัญหาสุขภาพแล้ว การติดโทรศัพท์มือถือแม้กระทั่งในเวลาที่ไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ เนื่องจากอาจทำให้ผู้ใช้ละเลยสิ่งที่อยู่ตรงหน้าจนเกิดอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม กระดูกหัก หรือได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ เป็นต้น โดยมีรายงานว่าการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้ถึง 3-4 เท่า แม้จะใช้อุปกรณ์เสริมอย่างหูฟังแล้วก็ตาม ซึ่งอาจร้ายแรงจนถึงขั้นทำให้ตนเองหรือผู้อื่นเสียชีวิตได้

วิธีป้องกันปัญหาสุขภาพจากการใช้โทรศัพท์มือถือ

เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่เป็นผลพวงจากการใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินพอดี ตลอดจนการเกิดอุบัติเหตุจากความไม่ระมัดระวังในการใช้โทรศัพท์ ผู้ใช้ควรปรับพฤติกรรมการใช้ให้เหมาะสมตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ไม่จ้องหน้าจอโทรศัพท์ใกล้เกินไป รวมทั้งควรปรับขนาดตัวอักษรและรูปภาพให้อ่านแล้วสบายตา และหมั่นพักสายตาเป็นระยะ เพื่อป้องกันอาการตาล้า
  • ใช้ฟิล์มติดหน้าจอโทรศัพท์ชนิดกันแสงสะท้อน และปรับสภาพแสงโดยรอบให้สมดุลกับหน้าจอ ไม่ให้สว่างจ้าหรือมืดจนเกินไป
  • คุยโทรศัพท์ครั้งละไม่เกิน 15 นาที เพื่อป้องกันการได้รับคลื่นรังสีในปริมาณมากเกินไป
  • เลือกใช้โทรศัพท์มือถือที่มีค่าดูดกลืนพลังงานจำเพาะต่ำ (Specific Absorption Rate: SAR) ซึ่งเป็นค่าที่บ่งบอกถึงปริมาณที่เนื้อเยื่อในร่างกายจะดูดซับคลื่นรังสีจากโทรศัพท์ โดยควรเลือกที่มีค่ามาตรฐานไม่เกิน 1.6 วัตต์ต่อน้ำหนักตัวของผู้ใช้ 1 กิโลกรัม
  • หลีกเลี่ยงการให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปีใช้โทรศัพท์ เนื่องจากกะโหลกศีรษะของเด็กยังบอบบาง ทำให้คลื่นรังสีผ่านกะโหลกศีรษะเข้าไปยังสมองได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่
  • ใช้อุปกรณ์เสริม เช่น หูฟัง และบลูทูธ เป็นต้น เพื่อป้องกันคลื่นรังสีจากโทรศัพท์มือถือ รวมถึงป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันจากการจดจ่อกับโทรศัพท์มือถือมากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ยานพาหนะ เพราะทำให้ขาดสมาธิและเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้