สะดุ้งตื่นกลางดึก สาเหตุและวิธีการรับมือเบื้องต้น

สะดุ้งตื่นกลางดึกเป็นอาการที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะเมื่ออาการเกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือสม่ำเสมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการรักษาหรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการนอนหลับ และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ตามมาได้

อาการสะดุ้งตื่นกลางดึกสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การถูกรบกวนในระหว่างการนอนหลับ การมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ การทราบสาเหตุของอาการอย่างแน่ชัด จะช่วยให้สามารถรักษาหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้อย่างเหมาะสมและตรงจุด

สะดุ้งตื่นกลางดึก

6 สาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการสะดุ้งตื่นกลางดึก

อาการสะดุ้งตื่นกลางดึกสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

1. สภาพแวดล้อมการนอนหลับที่ไม่เหมาะสม

การนอนหลับในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น การนอนหลับโดยที่โทรทัศน์เปิดอยู่ การมีแสงไฟจากภายนอกส่องเข้ามาภายในห้องนอน การมีแสงจากหน้าจอหรือเสียงแจ้งเตือนจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเสียงจากรถยนต์ รถไฟ รถฉุกเฉิน หรือเสียงเพลงจากสถานบันเทิงในบริเวณใกล้เคียงที่พักอาศัย มักเป็นสาเหตุที่ทำให้สะดุ้งตื่นกลางดึกได้

2. อาการปวดปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน (Nocturia)

อาการสะดุ้งตื่นตอนกลางคืนอาจมีสาเหตุมาจากการปวดปัสสาวะ ซึ่งปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจทำให้เกิดอาการปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติจนส่งผลต่อการนอนหลับ ตัวอย่างปัญหาสุขภาพที่มักทำให้เกิดอาการปวดปัสสาวะบ่อย เช่น ภาวะต่อมลูกหมากโต โดยมักเกิดในเพศชายสูงอายุ หรือภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวมากเกินปกติ (Overactive Bladder) 

3. การเพิ่มขึ้นของอายุและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุคุณภาพของการนอนหลับจะลดลง โดยจะนอนหลับสนิทได้น้อยลงและอาจสะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง อีกทั้ง อายุที่เพิ่มมากขึ้นยังส่งผลให้ต่อระดับของฮอร์โมนในร่างกายด้วย โดยเฉพาะในเพศหญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยทองมักมีอาการนอนหลับไม่สนิท อารมณ์แปรปรวน รู้สึกร้อนวูบวาบหรือมีเหงื่อออกขณะนอนหลับร่วมด้วย

4. ความเครียดและความวิตกกังวล

ความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการนอนหลับยาก นอนหลับไม่สนิท หรือสะดุ้งตื่นกลางดึกได้ โดยความเครียดหรือความวิตกกังวลที่สะสมในจิตใจอาจแสดงออกมาในรูปแบบของฝันร้ายจนต้องตื่นขึ้นมากลางดึกและยากที่จะนอนหลับต่อ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนหลับโดยรวมด้วย

5. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

เมื่อเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ กลไกของร่างกายจะพยายามปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นมาเพื่อหายใจตามปกติ จึงทำให้เกิดอาการสะดุ้งตื่นกลางดึกได้ ผู้ที่มีภาวะนี้มักมีอาการนอนกรน นอนอ้าปาก และรู้สึกง่วงเพลียเหมือนพักผ่อนไม่เพียงพอในตอนกลางวันร่วมด้วย 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับถือเป็นปัญหาสุขภาพที่เป็นอันตรายและควรได้รับการรักษาจากแพทย์ เพราะสามารถส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับโดยรวม หรืออาจนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงขึ้นได้

6. ภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia)

การสะดุ้งตื่นกลางดึกเป็นอีกหนึ่งอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีภาวะนอนไม่หลับเช่นกัน โดยผู้ที่มีภาวะนอนไม่หลับมักตื่นขึ้นมากลางดึกและไม่สามารถหลับต่อได้เป็นเวลานานกว่า 30 นาที รวมถึงอาจมีอาการตื่นก่อนเวลาเพราะนอนหลับไม่สนิท พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือรู้สึกเหนื่อยล้าระหว่างวันทั้ง ๆ ที่นอนหลับเป็นเวลาหลายชั่วโมงร่วมด้วย

วิธีการรับมือเมื่อเกิดอาการสะดุ้งตื่นกลางดึก 

ผู้ที่มีอาการสะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อยครั้งอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อช่วยบรรเทาอาการ หรือหมั่นสังเกตอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย และไปพบแพทย์หากมีอากรผิดปกติ

ตัวอย่างวิธีการรับมือเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการสะดุ้งตื่นกลางดึก เช่น

  • กล่อมตัวเองให้หลับอีกครั้งด้วยวิธีการฝึกการการหายใจเข้าออกช้า ๆ หรือฟังเพลงบรรเลงที่มีทำนองผ่อนคลายและสงบ เช่น เพลงบรรเลงเปียโน
  • ปรับสภาพแวดล้อมภายในห้องนอนให้เงียบสงบ มืด และผ่อนคลาย เช่น ใช้ผ้าม่านทึบแสง ใช้เครื่องนอนที่เหมาะสมกับสรีระ ปิดไฟทุกดวงขณะนอนหลับ และปิดเสียงเครื่องมือสื่อสารขณะนอนหลับ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนเวลานอนเพียงไม่นาน โดยเฉพาะการรับประทานอาหารมื้อดึก
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในช่วงบ่าย และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเวลานอน
  • หลีกเลี่ยงการนอนหลับในเวลากลางวันมากเกินไป
  • พยายามปรับเวลานอนหลับและเวลาตื่นนอนให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน
  • จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย หรือปรึกษานักจิตบำบัดหากมีความเครียดหรือความวิตกกังวลมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ หากมีอาการสะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง มีอาการนอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท นอนฝันร้าย หรือรู้สึกพักผ่อนไม่เพียงพอจนส่งผลต่อการประสิทธิภาพในการคิดวิเคราะห์ สมาธิ ความจำ หรือการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์และหาวิธีการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพที่ร้ายแรงตามมา