แม้ว่าลมพิษเป็นปัญหาสุขภาพที่มักหายไปได้เองและมักไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่การเรียนรู้วิธีแก้ลมพิษอย่างเหมาะสมก็อาจช่วยบรรเทาอาการผื่นคัน ทำให้อาการไม่สบายตัวลดลง และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นได้
ลมพิษ (Urticaria) เป็นปัญหาผิวหนังที่ก่อให้เกิดผื่นบวมแดง เป็นปื้น และคัน โดยอาจเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายหรือเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ปัจจัยบางประการอาจกระตุ้นให้เกิดลมพิษได้ เช่น ยา อาหาร ความเครียด แมลงกัดต่อย แสงแดด อากาศร้อนหรือเย็น แรงกดที่ผิวหนัง ไปจนถึงปัญหาสุขภาพอย่างการติดเชื้อ โรคภูมิแพ้ โรคไทรอยด์ หรือโรคมะเร็ง
วิธีแก้ลมพิษง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
ผู้ป่วยลมพิษชนิดเฉียบพลันอาจสังเกตได้ว่าเพียงไม่นานอาการผื่นคันก็มักหายไปได้เองหรือประมาณหายไปในเวลาไม่เกิน 6 สัปดาห์ ในขณะที่ลมพิษชนิดเรื้อรังนั้นอาจเกิดขึ้นได้นานกว่า 6 สัปดาห์ โดยอาจกินเวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปี จนกระทบต่อการใช้ชีวิต การทำงาน การทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการนอนหลับได้
การเรียนรู้วิธีแก้ลมพิษในเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่อาจช่วยบรรเทาอาการลมพิษ และลดความไม่สบายตัวไปจนถึงผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตได้ เช่น
- หลีกเลี่ยงสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งกระตุ้นให้เกิดลมพิษที่ตนเองทราบดีอยู่แล้วหรือสงสัยว่าอาจกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นยา อาหาร เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ยาง ความเครียด ความร้อน หรือแรงกดทับใด ๆ บริเวณผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงการเกาหรือถูผิวหนัง เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้
- ใช้ยาแก้คันที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อบรรเทาอาการคันที่ผิวหนัง เช่น ยาลอราทาดีน (Loratadine) ยาเซทิริซีน (Cetirizine) หรือคาลาไมน์โลชั่น (Calamine Lotion)
- เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังด้วยการทามอยส์เจอไรเซอร์ (Moisturizer) ที่ปราศจากน้ำหอม
- บรรเทาอาการคันด้วยการอาบน้ำเย็น โดยควรเลือกใช้สบู่อาบน้ำที่อ่อนโยนต่อผิวหนัง หรือประคบเย็นบริเวณผิวหนังด้วยผ้าขนหนูห่อน้ำแข็งหรือเจลเย็นประมาณ 2–3 นาที โดยควรประคบวันละหลาย ๆ ครั้ง ในกรณีที่ลมพิษไม่ได้เกิดจากความเย็น
- สวมเสื้อผ้าที่นุ่มสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป และควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่มีเนื้อสัมผัสหยาบหรือทำจากขนสัตว์ เพื่อป้องกันการเสียดสีหรือแรงกดที่ผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในน้ำเย็นหรืออากาศเย็น และต้องไม่ลืมสวมเสื้อผ้าหนา ๆ หรือผูกผ้าพันคอรอบบริเวณปากและจมูก เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายด้วย หากสาเหตุของลมพิษเกิดจากความเย็น
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งหรืออยู่ภายใต้แสงอาทิตย์นาน ๆ ในกรณีที่เลี่ยงไม่ได้ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันแสงแดดและทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านเสมอ หากสาเหตุของลมพิษเกิดจากแสงแดด
ทั้งนี้ หัวใจสำคัญที่อาจช่วยให้ผู้ป่วยหายจากลมพิษได้คือ การหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ คอยจดบันทึกอาการลมพิษ ช่วงเวลาที่เกิดลมพิษ หรือสถานการณ์ขณะเกิดลมพิษ เพราะหากสามารถระบุได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด ก็จะช่วยให้แพทย์สามารถทำการรักษาลมพิษให้หายดีหรือช่วยให้คำแนะนำในการป้องกันการเกิดลมพิษในอนาคตได้
หากวิธีแก้ลมพิษที่กล่าวมาข้างต้นใช้ไม่ได้ผล ผู้ป่วยเป็นลมพิษที่รุนแรง ลมพิษคงอยู่นานกว่า 2–3 วัน หรือพบลมพิษพร้อมกับอาการอื่น ๆ อันเป็นสัญญาณของอาการแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) เช่น เวียนศีรษะ หายใจลำบาก และอาการบวมบริเวณลิ้น ริมฝีปาก ปาก หรือคอ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษาที่ตรงจุดโดยเร็ว