ยาแก้หวัด เลือกใช้อย่างไรให้ปลอดภัยและเหมาะกับอาการ

ไข้หวัดเป็นอาการป่วยที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย จึงไม่แปลกที่ในท้องตลาดจะมียาแก้หวัดให้เลือกใช้หลากหลายชนิดและยี่ห้อ ซึ่งแม้จะดูเป็นเรื่องดีที่มีตัวเลือกจำนวนมาก แต่หลายคนกลับไม่รู้ว่ายาแก้หวัดชนิดใดเหมาะสมกับอาการของตัวเอง รวมถึงปลอดภัยต่อร่างกาย และเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด  

ไข้หวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจส่วนบน อย่างจมูก ปาก และลำคอ ซึ่งเชื้อไวรัสต้นเหตุนั้นมีอยู่หลายชนิด แต่เชื้อที่พบได้บ่อยก็คือ ไรโนไวรัส (Rhinoviruses) โดยมักก่อให้เกิดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ จาม มีไข้ต่ำ ไม่สบายตัว อาจมีปวดกล้ามเนื้อหรือปวดศีรษะเล็กน้อย 

ยาแก้หวัด เลือกใช้อย่างไรให้ปลอดภัยและเหมาะกับอาการ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ส่วนใหญ่โรคนี้จะไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต ผู้ป่วยมักหายได้เองภายใน 1–2 สัปดาห์โดยประมาณ เพียงแค่ดูแลตัวเองด้วยการดื่มน้ำให้มาก ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หรือพักผ่อนให้เพียงพออยู่เสมอ

ยาแก้หวัดมีตัวยาชนิดใดให้เลือกใช้บ้าง

ยาแก้หวัดตามร้านขายยาทั่วไปจะเน้นบรรเทาอาการหวัดที่เกิดขึ้น เพื่อให้ร่างกายรู้สึกดีขึ้นและสามารถพักผ่อนให้ได้มากที่สุด โดยแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มยาด้วยกัน อาทิ

1. ยาแก้แพ้

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องรับประทานยาแก้แพ้เมื่อเป็นหวัด จริง ๆ แล้วเมื่อติดเชื้อหวัด ร่างกายจะตอบสนองต่อเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาด้วยการหลั่งสารฮีสตามีน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดอาการจาม น้ำมูกไหล ไอ คันตา หรือน้ำตาไหล เพื่อปกป้องและกำจัดเชื้อโรคให้ออกไปจากร่างกาย 

ยาแก้แพ้มีอีกชื่อเรียกว่า ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) เป็นยาช่วยยับยั้งการหลั่งสารเคมีที่ทำให้อาการต่าง ๆ ของไข้หวัดดีขึ้น โดยในปัจจุบัน ยาแก้แพ้มีทั้งกลุ่มที่ทำให้ง่วง อย่างยาบรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) หรือยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ซึ่งจะช่วยลดน้ำมูกในระบบทางเดินหายใจได้ดี แต่ไม่ควรใช้ในเด็กเล็ก และกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วง อย่างยาเซทิริซีน (Cetirizine) หรือยาลอราทาดีน (Loratadine) แต่มักไม่ลดน้ำมูกในไข้หวัดมากนัก ผู้ป่วยจึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสม

2. ยาแก้ไอ

ยาแก้ไอแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ยารักษาไอไม่มีเสมหะหรือไอแห้ง และยารักษาไอมีเสมหะ ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องเลือกให้ถูกกับอาการของตัวเอง จึงจะหายได้เร็วขึ้น 

ผู้ที่ไอแห้งจะเหมาะกับยาแก้ไอชนิดระงับอาการไอหรือยากดอาการไอ (Cough Suppressants) อย่างยาเด็กซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) จะออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางที่ตอบสนองต่อการไอ ทำให้ไอน้อยลง ไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรือการนอนหลับในตอนกลางคืน

ส่วนผู้ที่ไอมีเสมหะควรใช้ยาขับเสมหะ (Expectorants) อย่างยาไกวอะเฟนิซิน (Guaifenesin) ที่ออกฤทธิ์เพิ่มของเหลวในระบบทางเดินหายใจ ช่วยให้ความเหนียวข้นของเสมหะลดน้อยลง ทำให้ไอเอาเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น โดยในระยะแรกอาจมีปริมาณเสมหะเพิ่มขึ้นและไอมากขึ้น แต่เมื่อไอเอาเสมหะออกมาหมดแล้ว อาการไอจะน้อยลง

3. ยาแก้ปวด 

ยาพาราเซตามอลและยาไอบูโพรเฟนเป็นตัวยายอดนิยมที่ช่วยลดไข้และบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ จากไข้หวัด ไม่ว่าจะเป็นปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ปวดหู หรือเจ็บคอ ทว่าผู้ป่วยควรใช้ยาในปริมาณและระยะเวลาที่กำหนดบนฉลากบรรจุภัณฑ์ยา เพื่อป้องกันการใช้ยาเกินขนาดและการใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงหรืออันตรายต่อตับและไต

นอกจากยาในข้างต้น ยังมียาแก้คัดจมูกที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ ซึ่งจะออกฤทธิ์ลดการขยายตัวของหลอดเลือดในเยื่อบุโพรงจมูก ลดอาการบวมในจมูกเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก และช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น ตัวยาหลักของยาแก้คัดจมูกก็เช่น ยาซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) และยาออกซีเมตาโซลีน (Oxymetazoline) ซึ่งจะมีรูปแบบยา ปริมาณการใช้ยา และระยะเวลาในการใช้ยาต่างกันไปตามที่แพทย์แนะนำ 

ทั้งนี้ ยาแก้คัดจมูกนั้นไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาในกลุ่มนี้ เนื่องจากตัวยาอาจไปเพิ่มระดับความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ รวมถึงความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง  

คำเตือนก่อนการใช้ยาแก้หวัด

ยาแก้หวัดบางชนิดอาจมีส่วนผสมจากหลายกลุ่มยาเข้าด้วยกัน อาทิ ยาแก้คัดจมูก ยาแก้แพ้ และยาพาราเซตามอล ผู้ป่วยหรือผู้ปกครองควรตรวจสอบยาแต่ละตัวให้ละเอียดก่อนการใช้ยา เพื่อป้องกันการใช้ยาซ้ำซ้อน ทำให้ผู้ป่วยใช้ยามากเกินไปโดยไม่รู้ตัวจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตได้

เช่นเดียวกันนี้ ยาบางชนิดยังไม่อนุญาตให้ใช้ในเด็กบางช่วงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวบางประการ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย การอ่านฉลากยาหรือปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยปลอดภัยและหายดีไปพร้อม ๆ กัน

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรหาซื้อยาปฏิชีวนะอย่างยาอะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) มารับประทานเอง เนื่องจากยาชนิดนี้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุหลักของไข้หวัดได้ ซึ่งการใช้ยาโดยไม่จำเป็นบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ในอนาคต 

นอกเหนือจากการใช้การดูแลตัวเองหรือใช้ยาแก้หวัดแล้ว การรับประทานวิตามินและแร่ธาตุอย่าง วิตามินซี วิตามินดี หรือสังกะสี ยังอาจช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการจากหวัดได้ โดยผู้ป่วยอาจเลือกรับประทานวิตามินจากอาหารโดยตรงหรือจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ได้ ทว่าหากเลือกรูปแบบอาหารเสริมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว   

หากใช้ยาแก้หวัดและดูแลตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ แล้วไม่ได้ผล เป็นไข้หวัดนานกว่า 3 สัปดาห์ มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หนาวสั่น ปวดศีรษะมาก อาการปวดบริเวณแก้มหรือหน้าผากทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หายใจไม่อิ่ม หายใจมีเสียงหวีด หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์โดยเร็ว