น้ำมูกเขียว 5 สาเหตุ และวิธีรับมือที่ได้ผล

โดยปกติน้ำมูกของคนเราจะมีสีใส แต่หากมีน้ำมูกเขียวเกิดขึ้น รวมถึงน้ำมูกมีลักษณะหนืดข้นมากขึ้น ก็อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อภายในร่างกายได้ โดยน้ำมูกเป็นสารคัดหลั่งชนิดหนึ่งที่คอยสร้างความชุ่มชื้นให้แก่โพรงจมูก รวมถึงคอยดักจับเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งการที่น้ำมูกเปลี่ยนสีมักเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง

เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวภายในเยื่อเมือกโพรงจมูกพบสิ่งผิดปกติหรือการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียหรือการติดเชื้อไวรัส จะเกิดการผลิตเอนไซม์เพื่อต่อสู่กับสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ ซึ่งในเอนไซม์จะมีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก ส่งผลให้น้ำมูกเปลี่ยนสี รวมถึงอาจมีลักษณะข้นหรือเหนียวขึ้นจนอาจส่งผลให้เกิดอาการคัดจมูกหรือหายใจลำบากด้วย

5 สาเหตุที่อาจทำให้มีน้ำมูกเขียว

หากน้ำมูกมีสีเขียว อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้

ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ส่วนมากมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการที่รุนแรงและเกิดขึ้นนานกว่า อาการของไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ในช่วงเริ่มต้นจะมีน้ำมูกใสก่อนประมาณ 2–3 วัน หลังจากนั้นน้ำมูกจะกลายเป็นสีเขียวและมีลักษณะข้นขึ้น ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น คัดจมูก เจ็บคอ ไอ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเนื้อเมื่อยตัว

อาการไข้หวัดโดยทั่วไปสามารถหายได้เองภายในเวลาไม่นาน แต่ไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และสามารถนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างโรคปอดบวมได้ด้วย จึงควรหมั่นสังเกตอาการที่เกิดขึ้นและไปพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติ

การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น โพรงจมูก คอ หรือหลอดลมอย่างโรคหลอดลมฝอยอักเสบมักเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำมูกมีสีเขียวเช่นกัน เพราะเมื่อเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะกระตุ้นการสร้างน้ำมูกและเสมหะเพื่อมาดักจับสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ออกจากร่างกาย นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการคัดจมูก ไอมีเสมหะ หรือหายใจมีเสียงหวีดร่วมด้วย

โรคหลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchitis) มักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรือไข้หวัด ซึ่งมักมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองภายในเวลาไม่นาน แต่หากเกิดขึ้นอย่างเรื้อรังอาจมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นได้ จึงควรไปพบแพทย์

ไซนัสอักเสบ 

น้ำมูกเขียวอาจเป็นสัญญาณของไซนัสอักเสบ ซึ่งไซนัสเป็นโพรงอากาศที่อยู่บริเวณด้านหน้าของกระโหลกศีรษะหรือใบหน้าบริเวณหน้าผาก แก้ม และจมูก เมื่อไซนัสมีการอักเสบจะทำให้เกิดอาการคัดจมูก มีน้ำมูกเขียว รู้สึกปวดแบบตื้อ ๆ แน่น ๆ บริเวณใบหน้า และอาจมีไข้ร่วมด้วย ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และสารก่อภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ 

โรคปอดบวม

โรคปอดบวมมักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคมีเรียภายในเนื้อเยื่อปอด อาจเกิดขึ้นบริเวณปอดข้างใดข้างหนึ่งหรือปอดทั้งสองข้างก็ได้ อาการในช่วงแรกของโรคปวดบวมคือเจ็บคอ คัดจมูก และอาจมีน้ำมูกเขียวเกิดขึ้นด้วย นอกจากนี้ อาการหลักของโรคปอดบวมที่สามารถสังเกตได้ง่ายคือมีไข้ ไอแบบมีเสมหะ รู้สึกเจ็บหน้าอกเมื่อไอหรือหายใจ และหายใจไม่สะดวก

โรคโควิด-19 (Covid-19)

การติดเชื้อในตระกูลโคโรนาไวรัส (Coronavirus) ซึ่งทำให้เกิดโรคโควิด-19 อาจทำให้มีอาการน้ำมูกเขียวได้เช่นกัน แม้ว่าน้ำมูกเขียวจะไม่ได้เป็นอาการเฉพาะของโรคนี้โดยตรง แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยหลายคน นอกจากนี้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการอื่น ๆ ของโรคโควิด-19 ปรากฎร่วมด้วย ได้แก่ เจ็บคอ ไอ มีไข้ ปวดเนื้อเมื่อยตัว สูญเสียความสามารถในการรับรสและกลิ่น เหนื่อยล้า และหายใจลำบาก 

วิธีรับมือเมื่อมีน้ำมูกเขียว

เมื่อมีน้ำมูกเขียวสามารถดูแลตัวเองด้วยการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ รับประทานยาลดน้ำมูกทั่วไป และพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้อาการติดเชื้อหายเร็วขึ้น 

นอกจากนี้ หากไปพบแพทย์ แพทย์อาจใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาอะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) ในการรักษา โดยผู้ป่วยควรรับประทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันนานประมาณ 10–14 วัน หรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด 

การใช้ยาปฏิชีวนะจะถูกปรับชนิดของยาให้เข้ากับเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาอาการน้ำมูกเขียวเสมอไป เพราะน้ำมูกเขียวสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ซึ่งยาปฏิชีวนะไม่สามารถใช้รักษาอาการที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสได้ และการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการดื้อยาด้วย

ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรสังเกตตัวเองและไปพบแพทย์หากอาการน้ำมูกเขียวไม่ดีขึ้นภายในเวลา 7–10 วัน มีอาการรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีอาการอื่น ๆ ที่น่ากังวลเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น น้ำมูกมีสีขุ่นข้นคล้ายหนอง มีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดเบ้าตา ไวต่อแสงและเสียง อาเจียนรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เจ็บหน้าอก และหายใจลำบาก