ยาลดน้ำมูกเด็กมีอะไรบ้าง ใช้ยาอย่างไรให้ลูกน้อยปลอดภัย

เมื่อลูกมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ผู้ปกครองก็อาจนึกถึงการใช้ยาลดน้ำมูกเด็กเป็นอันดับแรก ๆ แต่อาจไม่รู้ว่ายาลดน้ำมูกนั้นมีตัวยาอะไรบ้าง หาซื้อได้เองหรือต้องให้แพทย์สั่งจ่าย แล้วจะใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัยต่อเด็ก บทความนี้มีคำตอบมาฝากทุกคนแล้ว

ยาลดน้ำมูก (Decongestants) เป็นยาบรรเทาอาการคัดจมูก จมูกตัน หรือน้ำมูกไหลจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้ละอองฟาง รวมถึงโรคภูมิแพ้อื่น ๆ โดยจะเข้าไปช่วยลดอาการบวมของหลอดเลือดและเนื้อเยื่อภายในโพรงจมูก อาการจึงทุเลาลงและหายใจได้โล่งขึ้นนั่นเอง

ยาลดน้ำมูกเด็ก

ยาลดน้ำมูกเด็กมีอะไรบ้าง

ยาลดน้ำมูกสำหรับเด็กมีหลายประเภทด้วยกัน เช่น ยาน้ำ ยาเม็ด หรือยาพ่นจมูก มีทั้งยาที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป หรือต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น โดยตัวอย่างยาลดน้ำมูกเด็กมีดังนี้ 

1. ยาฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine)

ยาชนิดนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ออกฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล แต่ไม่ได้ช่วยรักษาโรคต้นเหตุที่ก่อให้เกิดน้ำมูกไหลหรือช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูเร็วขึ้น 

ตัวอย่างปริมาณยาฟีนิลเอฟรีนที่แนะนำให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปก็เช่น

  • ยาชนิดรับประทานให้ใช้ 10 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง ต่อเนื่องได้นาน 7 วัน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน โดยควรรับประทานพร้อมมื้ออาหาร หากเด็กอาการไม่ดีขึ้นภายใน 7 วันก็ควรหยุดใช้ยาแล้วพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
  • ยาชนิดพ่นจมูกที่มีความเข้มข้น 0.25–1% ให้หยดยา 2–3 หยดหรือพ่นจมูกแต่ละข้างทุก 4 ชั่วโมง ต่อเนื่องได้นาน 3 วัน   

ทั้งนี้ ยาฟีนิลเอฟรีนอาจไม่เหมาะกับเด็กที่มีปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน รวมถึงกำลังใช้ยาลดน้ำมูกชนิดอื่นหรือยารักษาโรคบางชนิด ผู้ปกครองจึงควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ รวมถึงอ่านฉลากยาอย่างละเอียดก่อนให้ลูกใช้ยา          

2. ยาซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine)

ยาซูโดเอฟีดรีนจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตรายที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลได้ดี แต่จำเป็นจะต้องใช้ยาในปริมาณที่เหมาะสมตามที่แพทย์แนะนำ มิฉะนั้นอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ 

แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยานี้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ในปริมาณ 60 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 240 มิลลิกรัม/วัน หากเป็นชนิดออกฤทธิ์นานจะให้ใช้ยาในปริมาณ 120 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง หรือปริมาณ 240 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ยาลดน้ำมูกเด็กอย่างยาซูโดเอฟีดรีนยังมีข้อจำกัดเช่นเดียวกับยาชนิดอื่น หากเด็กมีปัญหาสุขภาพก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน ชัก โรคไต โรคตับ โรคไทรอยด์ รวมทั้งควรแจ้งว่ากำลังใช้ยาอะไรอยู่ด้วย และหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 7 วันหรือมีไข้ร่วมด้วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที       

ข้อควรระวังในการใช้ยาลดน้ำมูกเด็ก

สิ่งสำคัญในการใช้ยาลดน้ำมูกเด็กคือ ผู้ปกครองควรให้เด็กรับประทานยาในปริมาณและระยะเวลาที่กำหนดบนฉลากยาเท่านั้น ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาด้วยตัวเอง เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้หายป่วยเร็วขึ้นแล้ว ยังอาจเสี่ยงรับประทานยาเกินขนาดจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือเป็นอันตรายต่อร่างกายตามมา

อีกทั้งยาลดน้ำมูกเด็กบางชนิดอาจอนุญาตให้ใช้ในเด็กบางช่วงอายุเท่านั้น หากผู้ปกครองมีข้อสงสัยใด ๆ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา และผู้ปกครองต้องไม่ลืมแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนให้ลูกใช้ยานั้นหากเด็กมีปัญหาสุขภาพหรือโรคประจำตัวใด

นอกจากนี้ ยังควรระมัดระวังในการใช้ยาแก้หวัดบางชนิด เนื่องจากอาจเป็นยาสูตรผสมที่มีตัวยาหลายชนิดรวมไว้ด้วยกัน เช่น ยาลดไข้ ยาแก้แพ้ และยาลดน้ำมูก ซึ่งอาจทำให้เด็กได้รับยาซ้ำซ้อนและเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ 

อย่างไรก็ตาม ยาลดน้ำมูกเด็กมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง แต่เด็กบางรายอาจพบผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงได้ เช่น ง่วงซึม เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ รู้สึกป่วย ปากแห้ง ท้องไส้ปั่นป่วน กระสับกระส่าย หรืออยู่ไม่นิ่ง กรณีพบอาการแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ควรให้เด็กหยุดใช้ยาแล้วรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน 

วิธีบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเบื้องต้น

นอกเหนือจากการใช้ยาลดน้ำมูกเด็กเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลแล้ว ผู้ปกครองยังสามารถดูแลบุตรหลานด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ลูกดื่มน้ำมากขึ้น ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ใช้ลูกยางดูดน้ำมูกออก ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ หรืออาบน้ำด้วยน้ำอุ่นก็สามารถช่วยได้เช่นกัน

หากดูแลด้วยวิธีต่าง ๆ แล้วยังไม่ได้ผล เด็กมีน้ำมูกไหลนานกว่า 1 สัปดาห์ อาการน้ำมูกไหลส่งผลต่อการนอนหลับและการใช้ชีวิตของเด็ก หรือพบอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีไข้สูง หรือเจ็บหน้าอกร่วมกับคัดจมูก น้ำมูกไหล ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่ตรงจุดต่อไป