หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis)

ความหมาย หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis)

Bronchiolitis (หลอดลมฝอยอักเสบ) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อบริเวณหลอดลมฝอย ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อไวรัส ส่งผลให้หลอดลมฝอยเกิดการอักเสบ บวม และมีเสมหะสะสม จนปอดไม่สามารถทำงานและระบายอากาศได้อย่างเหมาะสม

Bronchiolitis เป็นโรคที่มักพบได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี โดยเฉพาะทารกที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่ปอดและระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ โดยผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มักอาการดีขึ้นและหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 2–3 สัปดาห์

หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis)

อาการของ Bronchiolitis 

ในช่วงแรกผู้ที่ป่วยเป็น Bronchiolitis มักพบเพียงอาการคัดจมูก มีน้ำมูก ไอ และมีไข้เพียงเล็กน้อย ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เอง แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแย่ลงและพบอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น อาการไอที่เริ่มรุนแรงขึ้น หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด 

แม้โดยส่วนมากอาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เอง แต่ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 สัปดาห์ เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และเด็กที่มีภาวะผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจหรือปอด หากพบว่าเริ่มเกิดอาการอื่น ๆ ที่มีความรุนแรง เช่น

  • ไม่ยอมรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ
  • หายใจมีเสียงหวีด หายใจหอบถี่ หรือหายใจลำบาก
  • เซื่องซึม
  • จมูกบานขึ้นขณะหายใจ
  • ผิวหนังเริ่มเปลี่ยนเป็นสีออกเขียว โดยเฉพาะบริเวณริมฝีปากและเล็บมือ
  • ปัสสาวะน้อยลงผิดปกติ

สาเหตุของ Bronchiolitis 

Bronchiolitis เป็นโรคที่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยไวรัสที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไวรัส RSV ไวรัส Human Metapneumovirus (hMPV) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) ไรโนไวรัส (Rhinovirus) อะดิโนไวรัส (Adenovirus) และไวรัสพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza)

โดยการติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดจากการได้รับละอองฝอยสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อผ่านการไอ จาม พูดคุย หรืออาจเกิดจากการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส แล้วนำมาสัมผัสดวงตา จมูก หรือปากของตนเอง

นอกจากนี้ เด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจเสี่ยงต่อการเกิด Bronchiolitis มากขึ้น เช่น เด็กที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีภาวะผิดปกติทางปอดหรือหัวใจบางชนิด เด็กที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เด็กที่สูดดมควันบุหรี่มือสองบ่อย ๆ เด็กที่ไม่ได้ดื่มนมแม่ และเด็กที่มักอยู่ในที่ที่มีคนเยอะหรืออยู่ใกล้ชิดกับคนที่ต้องพบปะผู้คนอยู่บ่อย ๆ 

การวินิจฉัย Bronchiolitis 

หากแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มป่วยเป็น Bronchiolitis แพทย์จะวินิจฉัยโดยการสอบถามอาการผิดปกติ และประวัติของผู้ป่วย อย่างระยะเวลาที่พบอาการครั้งแรก หรือประวัติการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นที่กำลังป่วย จากนั้น แพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้น ฟังเสียงปอดขณะหายใจ และนับอัตราการหายใจ 

โดยทั่วไป แพทย์มักไม่จำเป็นต้องใช้วิธีตรวจอื่น ๆ ในการวินิจฉัย Bronchiolitis แต่ในกรณีที่แพทย์เห็นว่าผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเกิดอาการที่รุนแรง เป็นผู้ป่วยที่อาการมีความรุนแรง หรือมีความเป็นไปได้ว่าอาการของผู้ป่วยอาจเกิดจากโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น แพทย์อาจใช้วิธีตรวจทางการแพทย์บางอย่างเพื่อผลการวินิจฉัยที่แม่นยำ โดยวิธีที่แพทย์อาจใช้ เช่น

  • นำตัวอย่างเสมหะหรือสารคัดหลั่งในโพรงจมูกของผู้ป่วยไปตรวจหาเชื้อ
  • เอกซเรย์ (X–Ray) บริเวณอกเพื่อตรวจดูความผิดปกติของปอด
  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อหาสัญญาณของการติดเชื้อ และประเมินว่าผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำขั้นรุนแรงหรือไม่
  • ตรวจเลือด เพื่อหาสัญญาณของการติดเชื้อ และระดับออกซิเจนในเลือด
  • ใช้เครื่อง Pulse Oximeter ติดไว้ที่ปลายนิ้วเพื่อวัดระดับออกซิเจนในเลือด

การรักษา Bronchiolitis 

โดยส่วนใหญ่ แพทย์มักไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใด ๆ เนื่องจากอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย Bronchiolitis มักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 2–3 สัปดาห์ โดยแพทย์อาจเพียงแนะนำให้ปฏิบัติตามคำแนะนำบางอย่าง เช่น

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ใช้ลูกยางดูดน้ำมูก หรือล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ควันบุหรี่
  • รับประทานยาตามอาการ เช่น รับประทานยาลดไข้เมื่อมีอาการไข้ หรือรับประทานยาแก้ไอละลายเสมหะเมื่อมีอาการไอ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาทุกชนิดเพื่อความปลอดภัย
  • ใช้เครื่องทำความชื้นเพิ่มความชื้นในอากาศ เพื่อช่วยบรรเทาอาการไอและคัดจมูก แต่ควรตรวจสอบ และทำความสะอาดอุปกรณ์อยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราและแบคทีเรีย

นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรคอยติดตามอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ และควรพาไปพบแพทย์ทันทีหากพบว่าเด็กมีอาการแย่ลง หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงดัง

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่พบได้น้อย หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีการรักษาบางอย่าง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ออกซิเจนบำบัด (Oxygen Therapy) เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในกระแสเลือดของผู้ป่วย การให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration) การสูดน้ำมูกหรือเสมหะผ่านทางปากหรือจมูก และการใส่ท่อช่วยหายใจเข้าสู่หลอดลมเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะระบบหายใจล้มเหลว 

ภาวะแทรกซ้อนของ Bronchiolitis 

ผู้ป่วย Bronchiolitis อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรค และภาวะผิดปกติบางอย่าง เช่น ติดเชื้อในหู ปอดบวมจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ริมฝีปาก หรือผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเขียว ภาวะหยุดหายใจ ภาวะขาดน้ำ ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ และระบบทางเดินหายใจล้มเหลว 

การป้องกัน Bronchiolitis 

การป้องกัน Bronchiolitis อาจทำได้โดยวิธีต่อไปนี้ 

  • ล้างมือด้วยน้ำสะอาดบ่อย ๆ ทั้งเด็กและผู้ปกครอง
  • แนะนำให้เด็กอยู่ห่างจากผู้ที่กำลังป่วยเป็นไข้หวัด หรือมีอาการไอ
  • หลีกเลี่ยงการให้เด็กสูดดมควันบุหรี่มือสอง
  • ทำความสะอาดสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่มักหยิบจับอยู่เสมอ เช่น ของเล่น ลูกบิดประตู
  • สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในที่ที่มีคนเยอะ
  • ปิดปากและจมูกขณะจามหรือไอเสมอ หลังจากนั้นล้างมือด้วยน้ำสะอาดทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • ให้ลูกดื่มนมแม่

นอกจากนี้ ผู้ปกครองอาจปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม ซึ่งในบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาฉีดยา Palivizumab ให้เด็กเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส RSV หากเด็กอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจาก Bronchiolitis เช่น เด็กที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีภาวะผิดปกติทางปอด หรือหัวใจ หรือเด็กที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ