ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือให้ลูกน้อย ทำอย่างไรให้ปลอดภัยต่อโพรงจมูก และไม่สำลัก

เมื่อลูกเป็นหวัดและมีอาการคัดจมูก การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นวิธีทำความสะอาดโพรงจมูกที่พ่อแม่หลายคนเลือกใช้ เพราะเด็กอาจไม่สามารถสั่งน้ำมูกออกเองได้หมด การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยกำจัดน้ำมูกข้นเหนียวที่ค้างอยู่ ทำให้โพรงจมูกสะอาดและหายใจได้สะดวกขึ้น

การล้างจมูกเป็นการใช้อุปกรณ์พ่นน้ำเกลือเข้าสู่โพรงจมูก เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก มลพิษ และสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในโพรงจมูกที่เป็นสาเหตุของอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกไหล ช่วยลดการอักเสบของโพรงจมูก ป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูกและไซนัสขึ้นไปหูชั้นกลางหรือลงไปสู่ปอด และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุจมูกอีกด้วย 

ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือให้ลูกน้อย ทำอย่างไรให้ปลอดภัยต่อโพรงจมูก และไม่สำลัก

ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือให้ลูกน้อยอย่างไรดี

การล้างจมูกมีหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีอาจใช้อุปกรณ์ที่ต่างกันไปบ้าง โดยส่วนใหญ่แล้วอุปกรณ์ที่ใช้ในการล้างจมูกประกอบด้วยภาชนะสะอาดสำหรับรองใส่น้ำเกลือ กระบอกฉีดยาพลาสติกหรืออุปกรณ์ฉีดพ่นน้ำเกลือสำเร็จรูปสำหรับล้างจมูก และน้ำเกลือ ซึ่งพ่อแม่อาจผสมน้ำเกลือใช้เองหรือเลือกใช้น้ำเกลือสำเร็จรูปที่วางขายทั่วไปได้ นอกจากนี้ ควรมีอุปกรณ์ดูดน้ำมูกสำหรับดูดน้ำมูกและเสมหะในการล้างจมูกให้เด็กเล็ก

ทั้งนี้ พ่อแม่สามารถล้างจมูกให้ลูกได้เมื่อลูกอายุ 2 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นวัยที่ผู้ปกครองสามารถควบคุมการใช้อุปกรณ์ล้างจมูกกับเด็กได้ โดยใช้เทคนิคล้างจมูกให้ลูกตามช่วงวัย ดังนี้

เด็กที่ให้ความร่วมมือและสั่งน้ำมูกได้

พ่อแม่ควรอุ่นน้ำเกลือก่อนการล้างจมูกเสมอ เพราะการใช้น้ำเกลือที่ไม่ได้อุ่นก่อนล้างจมูกอาจทำให้เกิดอาการคัดจมูกหลังการล้างได้ โดยนำขวดน้ำเกลือใส่ลงไปแช่ในน้ำเดือดประมาณ 5 นาที แล้วเทน้ำเกลือใส่ภาชนะสะอาด หรือเทน้ำเกลือจากขวดน้ำเกลือใส่ภาชนะสะอาดแล้วนำไปอุ่นในไมโครเวฟ จากนั้นทดสอบอุณหภูมิของน้ำเกลือโดยหยดลงบนหลังมือก่อนนำมาล้างจมูก เพื่อไม่ให้อุณหภูมิสูงเกินไป และล้างจมูกด้วยวิธีดังนี้

  • ให้เด็กยืนบริเวณอ่างล้างหน้า หรือใช้ภาชนะอย่างชามหรือกะละมังมารองรับน้ำเกลือหลังล้างจมูก
  • ให้เด็กแหงนหน้าขึ้นเล็กน้อย สอดปลายกระบอกฉีดยาในรูจมูกข้างหนึ่ง ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ 0.5–1 ซีซีหรือเท่าที่เด็กทนได้ 
  • ในระหว่างฉีดน้ำเกลือให้เด็กกลืนน้ำเกลือที่ไหลลงคอเป็นระยะหรือบ้วนทิ้ง 
  • ให้เด็กสั่งน้ำมูกพร้อม ๆ กันทั้งสองข้าง โดยไม่ควรอุดรูจมูกอีกข้าง และใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมูกให้แห้ง
  • ทำเช่นเดิมกับรูจมูกอีกข้างหนึ่ง และสามารถล้างจมูกซ้ำหลาย ๆ ครั้งจนไม่มีน้ำมูกหลงเหลือ

เด็กเล็กที่ยังสั่งน้ำมูกเองไม่ได้

ทารกและเด็กเล็กเป็นวัยที่ไม่สามารถสั่งน้ำมูกได้เอง จึงควรใช้วิธีหยดน้ำเกลือหรือค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลืออย่างระมัดระวัง โดยอุ่นน้ำเกลือให้มีอุณหภูมิที่เหมาะสม และล้างมือให้สะอาดก่อนล้างจมูกให้เด็ก จากนั้นเทน้ำเกลือใส่ขวดยาหยอดตา หรือใช้กระบอกฉีดยาดูดน้ำเกลือจนเต็ม ให้เด็กนอนลง โดยวางศีรษะสูงพอควรเพื่อป้องกันการสำลัก หากเด็กไม่ให้ความร่วมมือให้ใช้ผ้าห่อตัวเด็ก ซึ่งจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากการล้างจมูกได้

จับใบหน้าเด็กให้นิ่ง ค่อย ๆ หยดน้ำเกลือครั้งละ 2–3 หยด หรือค่อย ๆ สอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูกข้างหนึ่งโดยวางปลายกระบอกฉีดยาชิดด้านบนของรูจมูก ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ 0.5 ซีซี 

จากนั้นใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกในจมูกออก โดยสอดปลายลูกยางเข้าไปในรูจมูกลึกประมาณ 1–1.5 ซม. เพื่อดูดน้ำมูกเข้ามาในอุปกรณ์ดูดน้ำมูก และบีบน้ำมูกในอุปกรณ์ดูดน้ำมูกทิ้งในกระดาษทิชชู สามารถทำซ้ำได้จนกว่าจะไม่มีน้ำมูกค้างอยู่

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่หลายอาจประสบปัญหาการล้างจมูกด้วยวิธีข้างต้น ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมที่อาจมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ลูกไม่ให้ความร่วมมือเพราะกลัวกระบอกฉีดน้ำเกลือที่มีรูปร่างคล้ายเข็มฉีดยาหรือกลัวน้ำเกลือที่พุ่งแรงจากการใช้กระบอกฉีด รวมไปการใช้กระบอกฉีดอาจทำให้น้ำเกลือไม่ทั่วถึงทั้งโพรงจมูก จึงอาจทำให้ไม่สามารถชำระล้างน้ำมูกหรือสิ่งสกปรกในโพรงจมูกได้หมด 

ในปัจจุบันจึงมีชุดอุปกรณ์อีกแบบที่ช่วยให้การล้างจมูกเป็นเรื่องง่ายขึ้น โดยจะประกอบด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อ และขวดบรรจุน้ำเกลือที่มีขนาดพอเหมาะจับถนัดมือ ซึ่งช่วยให้ควบคุมทิศทางและความแรงของน้ำเกลือได้ดีกว่าการล้างจมูกแบบเดิม จึงสามารถชะล้างน้ำมูกหรือสิ่งสกปรกในโพรงจมูกออกได้อย่างทั่วถึงและสะอาดขึ้น ถือเป็นอีกทางเลือกให้การล้างจมูกลูกไม่ใช่เรื่องยุ่งยากและทำได้อย่างปลอดภัย

ข้อควรระวังในการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือให้ลูกน้อย

การล้างจมูกอย่างถูกวิธีและใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมจะช่วยให้การล้างจมูกให้ลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการล้างจมูกให้เด็กมีข้อควรระวังที่พ่อแม่ควรเอาใจใส่เป็นพิเศษ ดังนี้

  • เลือกใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อ และควรเลือกน้ำเกลือขวดใหม่หรือชนิดผสมใหม่ครั้งต่อครั้ง เพื่อความสะอาดและปลอดภัย โดยน้ำเกลือสำหรับล้างจมูกควรมีความเข้มข้นของโซเดียมคลอไรด์อยู่ที่ 0.9% เนื่องจากเป็นระดับความเข้มข้นที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุโพรงจมูก และไม่มีส่วนผสมของสารอื่น เช่น สารแต่งสีและกลิ่น หรือวัตถุกันเสีย เนื่องจากสารเหล่านี้อาจทำให้ระคายเคืองเยื่อบุโพรงจมูกได้
  • ไม่ควรใช้น้ำประปาล้างจมูก เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคอื่น ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคติดเชื้อรุนแรงได้
  • การล้างจมูกควรใช้น้ำเกลือในปริมาณเพียงพอต่อการล้างในแต่ละครั้ง และใช้อุปกรณ์ฉีดน้ำเกลือที่มีความแรงพอเหมาะ เพราะการฉีดพ่นน้ำเกลือแรงเกินไปอาจทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บต่ออวัยวะในโพรงจมูกหรือด้านหลังโพรงจมูกได้ 
  • หากใช้กระบอกฉีดน้ำเกลือที่มีความแรงเกินไปแล้วทำให้ลูกตกใจกลัวหรือรู้สึกเจ็บ คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกใช้อุปกรณ์ฉีดพ่นน้ำเกลือในรูปแบบขวดบีบที่สามารถควบคุมแรงดันของน้ำเกลือได้ดีและไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ
  • หลังการใช้งานทุกครั้งควรล้างกระบอกฉีดล้างจมูก ลูกยางแดง และภาชนะที่ใช้ให้สะอาดด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด และควรต้มลูกยางแดงในน้ำเดือดวันละ 1 ครั้ง นาน 5 นาที เมื่อแห้งแล้วจึงเก็บเข้าที่
  • น้ำเกลือที่ใช้เหลือหลังล้างจมูกในแต่ละครั้งให้เททิ้ง ไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อความปลอดภัยในการล้างจมูกและป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อน 
  • หากน้ำเกลือหมดอายุหรือมีลักษณะผิดปกติ เช่น มีตะกอนขุ่นและมีสิ่งสกปรกอยู่ภายในขวด ควรทิ้งและเปลี่ยนขวดใหม่

ทั้งนี้ ควรล้างจมูกให้ลูกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนเข้านอนหรือเมื่อลูกมีน้ำมูกมาก และแนะนำให้ล้างจมูกก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการอาเจียนหรือสำลัก 

โดยทั่วไป การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย แต่ไม่ควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลือติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำลายเมือกที่ปกป้องโพรงจมูกในการปกป้องและดักจับเชื้อโรคได้ หากลูกคัดจมูกติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม