ยูคาลิปตัส พรรณไม้บำบัดโรค

ยูคาลิปตัส ไม่เพียงเป็นไม้เศรษฐกิจในหลายอุตสาหกรรม แต่ยังเป็นสมุนไพรที่เชื่อกันว่ามีสรรพคุณทางการแพทย์ด้วย เพราะมีสารสำคัญที่อาจมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดอาการปวดบวม รักษาอาการของโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ ปวดศีรษะ เป็นต้น

ยูคาลิปตัส

ยูคาลิปตัสเป็นพืชพื้นถิ่นของทวีปออสเตรเลีย ด้วยกลิ่นหอมเย็นเป็นเอกลักษณ์อาจช่วยให้ผู้ที่สูดดมหายใจโล่ง รู้สึกปลอดโปร่ง และยังมีสารประกอบที่อาจมีคุณสมบัติรักษาโรค บางพื้นที่จึงนิยมนำยูคาลิปตัสมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย เป็นส่วนประกอบในยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่าง ๆ เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อ น้ำยาบ้วนปาก ยาอมแก้ไอหรือแก้เจ็บคอ สเปรย์บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงและแมลง เป็นต้น

คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับยูคาลิปตัสนั้นเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด มีการศึกษาและหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนได้พิสูจน์สรรพคุณในการรักษาโรคของพืชชนิดนี้ไว้ ดังนี้

รักษาโรคหืด

โรคหืดเกิดจากการหดตัวหรือตีบตันของระบบทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการหายใจชนิดเรื้อรัง ไอ และมีอาการอื่น ๆ การรักษาส่วนใหญ่จะใช้ยาบรรเทาหรือควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจยังเกิดอาการอยู่บ่อยครั้งแม้ใช้ยารักษาอย่างสม่ำเสมอ จึงมีการค้นคว้าหาวิธีรักษาโรคหืดเพิ่มเติม และได้เริ่มนำน้ำมันยูคาลิปตัสมาใช้เป็นการรักษาทางเลือก เนื่องจากมีสารซิเนออล (Cineole) หรือสารยูคาลิปทอล (Eucalyptol) ที่อาจมีคุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบ ละลายเสมหะ และขยายหลอดลม

จากข้อมูลดังกล่าว มีงานวิจัยพิสูจน์ประสิทธิผลของยูคาลิปตัสโดยให้ผู้ป่วยโรคหืดกลุ่มหนึ่งรับประทานสารซิเนออลที่สกัดจากน้ำมันยูคาลิปตัสปริมาณ 200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันนาน 6 เดือน ควบคู่ไปกับการรักษาปกติ เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานสารสกัดนี้ ผลพบว่าการทำงานของปอด อาการป่วยของโรคหืด และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยดีขึ้น จึงคาดว่าสารสกัดจากน้ำมันยูคาลิปตัสอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคหืดให้ดีขึ้นได้ แต่งานวิจัยดังกล่าวเป็นการทดลองควบคู่ไปกับการรักษาโรคหืดตามปกติด้วย จึงไม่สามารถสรุปผลในการใช้ยูคาลิปตัสรักษาโรคหืดได้อย่างแน่ชัด อีกทั้งยังเคยมีรายงานว่าผู้ป่วยโรคหืดบางรายมีอาการแย่ลงหลังรับประทานหรือสูดดมยูคาลิปตัส ดังนั้น ก่อนใช้ยูคาลิปตัสเพื่อจุดประสงค์ในการรักษาอาการต่าง ๆ ของโรคหืด ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญให้ดีก่อนเสมอ

บรรเทาอาการไอ

ไอ คือ ปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายเพื่อกำจัดของเสียหรือสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้ทางเดินหายใจระคายเคือง เชื่อกันว่าสารซิเนออลที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในน้ำมันยูคาลิปตัสอาจช่วยยับยั้งบรรเทาอาการไอจากโรคในระบบทางเดินหายใจได้ เพราะเชื่อว่ามีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ละลายเสมหะ และขยายหลอดลม ทำให้เกิดการทดสอบประสิทธิผลของน้ำมันยูคาลิปตัสในผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันจำนวน 242 คน พบว่าหลังจากผู้ป่วยรับประทานสารซิเนออล 200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 10 วันแล้วผู้ป่วยมีอาการโดยรวมดีขึ้นเมื่อผ่านไป 4 วัน โดยเฉพาะมีความถี่ในการไอลดลง

นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ใช้น้ำมันหอมระเหยจากยูคาลิปตัสและพืชชนิดอื่นในรูปแบบสเปรย์กับผู้ป่วยติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนต้นจำนวน 60 คน โดยให้ผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งพ่นน้ำมันหอมระเหยจากยูคาลิปตัสวันละ 5 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่ไม่ได้พ่นสเปรย์น้ำมันชนิดนี้แล้วสังเกตระดับความรุนแรงในการไอ อาการเจ็บคอ และอาการเสียงแหบ พบว่าหลังใช้สเปรย์ผ่านไป 20 นาที กลุ่มผู้ป่วยที่ใช้สเปรย์จากน้ำมันหอมระเหยยูคาลิปตัสมีอาการต่าง ๆ ดีขึ้นมาก แต่กลับไม่พบความแตกต่างของอาการทั้ง 2 กลุ่มหลังจากการทดลองผ่านไป 3 วัน

แม้การศึกษาข้างต้นพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากยูคาลิปตัสอาจช่วยลดอาการไอในช่วงสั้น ๆ ได้ แต่ไม่อาจแสดงผลลัพธ์ในการรักษาอาการไอในระยะยาวได้แต่อย่างใด จึงยังไม่สามารถยืนยันสรรพคุณทางการรักษาอาการไอของยูคาลิปตัสได้อย่างแน่ชัด และควรมีการค้นคว้าเพิ่มเติมโดยศึกษาประสิทธิภาพของยูคาลิปตัสอย่างรอบด้านในการทดลองระยะยาว

บรรเทาอาการหวัดและคัดจมูก

อาการคัดจมูกเกิดจากการระคายเคืองหรือการอักเสบในเนื้อเยื่อจมูกที่มักเกิดจากการป่วยด้วยโรคหวัดและโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจอื่น ๆ การรักษาแบบดั้งเดิมนิยมใช้ยูคาลิปตัสบรรเทาอาการคัดจมูกจากโรคหวัด จึงมีการศึกษาหนึ่งที่ต้องการยืนยันคุณสมบัติในด้านนี้ด้วยการทดลองในเด็กอายุ 2-11 ปีจำนวน 138 คน โดยให้เด็กกลุ่มหนึ่งใช้ขี้ผึ้งบรรเทาอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลที่มีส่วนผสมของน้ำมันยูคาลิปตัส การบูร และเมนทอล ทาบริเวณหน้าอกและลำคอก่อนนอนเป็นเวลา 2 วัน แล้วเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษาใด ๆ และกลุ่มที่ใช้ปิโตรเลียม เจลลี่ พบว่ากลุ่มที่ใช้ขี้ผึ้งซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันยูคาลิปตัสมีอาการคัดจมูกและไอดีขึ้น และยังนอนหลับได้ง่ายขึ้นด้วย แต่เด็กบางรายอาจรู้สึกแสบร้อนและมีอาการระคายเคืองทางผิวหนังเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เนื่องจากอาจมีข้อจำกัดในงานวิจัยหลายอย่าง เช่น ไม่ได้ศึกษาเจาะจงที่การใช้ยูคาลิปตัสเพียงอย่างเดียว มีระยะเวลาที่จำกัด และอาจคลาดเคลื่อนด้านความแม่นยำในการประเมินผล ดังนั้น จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนและสามารถนำไปใช้ได้จริง ผู้ป่วยที่ไอและมีอาการคัดจมูกควรหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร รวมทั้งปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอหากต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากยูคาลิปตัส

ลดอาการปวดจากข้ออักเสบ

การอักเสบตามข้อต่อในร่างกายมักก่อให้เกิดความเจ็บปวดเมื่อต้องเคลื่อนไหวร่างกายส่วนนั้น ทำให้ผู้ป่วยที่เผชิญปัญหาข้อต่อกระดูกเสื่อมหรืออักเสบต้องใช้ยาลดการอักเสบและยาบรรเทาอาการปวดอยู่เสมอ มีความเชื่อว่ายูคาลิปตัสอาจรักษาอาการปวดข้อได้ เนื่องจากยูคาลิปตัสมีส่วนประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูงอย่างอัลฟาไปนีนและซิเนออลที่อาจช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวดจากโรคข้อเสื่อมได้ดี จึงมีบางพื้นที่ที่ใช้น้ำมันยูคาลิปตัสเพื่อรักษาอาการดังกล่าว

จากคุณสมบัติที่มีการกล่าวอ้าง มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ศึกษาประสิทธิผลของการใช้น้ำมันหอมระเหยที่มีส่วนผสมของยูคาลิปตัสและน้ำมันจากพืชอีกหลายชนิดในอัตราส่วนที่แตกต่างกันกับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบจำนวน 40 คน พบว่าน้ำมันหอมระเหยดังกล่าวช่วยลดความเจ็บปวดจากข้ออักเสบและช่วยบรรเทาภาวะซึมเศร้าได้อย่างชัดเจน แต่ไม่ส่งผลต่อความรู้สึกพึงพอใจในชีวิตของผู้ป่วยแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ศึกษาในกลุ่มทดลองขนาดเล็ก และน้ำมันหอมระเหยที่ใช้ก็มีส่วนประกอบจากพืชหลายชนิด ทำให้ไม่สามารถยืนยันประสิทธิผลของยูคาลิปตัสได้อย่างชัดเจน จึงควรมีการศึกษาในกลุ่มการทดลองขนาดใหญ่ขึ้น และเจาะจงใช้ยูคาลิปตัสในการทดลองเพียงอย่างเดียว เพื่อหาแนวทางการรักษาและบรรเทาอาการปวดจากข้ออักเสบด้วยการใช้ยูคาลิปตัสต่อไป จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์และนำไปใช้ได้จริงในอนาคต

ความปลอดภัยในการใช้ยูคาลิปตัสรักษาโรค

ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลจากการค้นคว้าที่มากพอจะสรุปว่าการรับประทานหรือการใช้ยูคาลิปตัสสามารถรักษาโรคได้จริงหรือปลอดภัยต่อสุขภาพเพียงใด แต่จากการศึกษาวิจัยบางส่วน อาจระบุปริมาณและคำแนะนำในการใช้ยูคาลิปตัสอย่างปลอดภัย ดังนี้

  • สำหรับน้ำมันยูคาลิปตัส ควรมีการเจือจางก่อนนำไปใช้ทาผิวหนังหรือรับประทาน เพราะการใช้น้ำมันยูคาลิปตัสที่มีความเข้มข้นอาจเกิดพิษต่อร่างกายและก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงถึงชีวิตได้ ซึ่งอาจสังเกตผลข้างเคียงเหล่านั้นได้จากอาการรุนแรง เช่น วิงเวียนศีรษะ ปวดแสบท้อง กล้ามเนื้ออ่อนแรง รูม่านตาหดเล็กลง และหายใจไม่ออก นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่าการรับประทานน้ำมันยูคาลิปตัสที่ไม่ได้เจือจางเพียง 3.5 มิลลิลิตรเป็นเหตุให้ผู้ใช้เสียชีวิตได้
  • โดยทั่วไป การรับประทานใบยูคาลิปตัสปริมาณเล็กน้อยจากอาหารค่อนข้างปลอดภัย และการรับประทานสารยูคาลิปทอลที่สกัดได้จากน้ำมันยูคาลิปตัสไม่เกิน 12 สัปดาห์ ก็ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่หากเป็นสารสกัดจากใบยูคาลิปตัสในรูปแบบอาหารเสริมที่มีความเข้มข้นมากกว่า ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเสมอ เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ
  • การรับประทานน้ำมันยูคาลิปตัสอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียนได้

บุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ ควรระมัดระวังในการรับประทานหรือใช้ยูคาลิปตัสเป็นพิเศษ

 

  • หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร แม้การรับประทานยูคาลิปตัสตามปริมาณปกติจากอาหารค่อนข้างปลอดภัย แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันยูคาลิปตัส เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่รับรองความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์จากการใช้น้ำมันยูคาลิปตัส
  • เด็ก ห้ามรับประทานน้ำมันยูคาลิปตัสหรือนำน้ำมันนี้ไปทาผิวหนัง เพราะอาจไม่ปลอดภัยต่อร่างกาย และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานใบยูคาลิปตัสในปริมาณมาก เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยเพียงพอในด้านปริมาณที่เหมาะสมที่จะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีรายงานว่าใบยูคาลิปตัสอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรระมัดระวังในการใช้ยูคาลิปตัสรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะระหว่างที่รับประทานยารักษาโรคเบาหวาน เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำจนเกินไป และผู้ป่วยควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
  • ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดใช้ยูคาลิปตัสล่วงหน้า 2 สัปดาห์ เนื่องจากยูคาลิปตัสอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และอาจทำให้เกิดปัญหาในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยระหว่างหรือหลังการผ่าตัด ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ป่วย