เจาะหูกินไข่ได้ไหม ตอบข้อสงสัยพร้อมวิธีดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม

การเจาะหูเป็นที่นิยมทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยหลังจากการเจาะหู หลายคนอาจสงสัยว่าเจาะหูกินไข่ได้ไหม เนื่องจากมีความเชื่อต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับการกินไข่หลังเจาะหู เช่น การกินไข่อาจทำให้แผลหายช้า อักเสบ หรือเกิดการติดเชื้อ ดังนั้น การทราบว่าเจาะหูแล้วกินไข่ได้หรือไม่ได้ อาจช่วยให้การดูแลรับมือแผลเจาะหูง่ายขึ้น

การเจาะหูอาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพราะการเจาะคือการสร้างบาดแผลบนผิวหนังรูปแบบหนึ่ง จึงอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลติดเชื้อได้ โดยการดูแลแผลเจาะหูสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทำความสะอาดแผล การรักษาแผลให้แห้ง รวมไปถึงการกินอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารต่าง ๆ ครบถ้วนเพื่อช่วยเร่งการฟื้นฟูของแผลเจาะหูให้หายเร็วขึ้น 

เจาะหูกินไข่ได้ไหม

ตอบข้อสงสัย เจาะหูกินไข่ได้ไหม 

ไข่เป็นแหล่งอาหารที่มีโปรตีนสูง ซึ่งโปรตีนมีหน้าที่ในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เกิดการบาดเจ็บ และช่วยเร่งการฟื้นฟูของบาดแผลให้หายดี ดังนั้น การกินไข่จึงอาจไม่ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น แผลเจาะหูหายช้า แผลเจาะหูอักเสบหรือติดเชื้อ แผลเป็นที่ติ่งหู หรือทำให้รูเจาะหูตัน เมื่อเจาะหูแล้ว ยังคงสามารถกินไข่ได้ตามปกติ อีกทั้งการกินไข่ยังช่วยให้แผลเจาะหูหายเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

โดยหลังจากการเจาะหู แผลอาจเกิดการอักเสบหรือมีอาการแดง เจ็บ คัน และบวม นาน 2–3 วัน ซึ่งเป็นอาการปกติและเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายกำลังฟื้นฟูบาดแผล นอกจากนี้ การกินไข่ก็อาจไม่ทำให้แผลเจาะหูติดเชื้อ เนื่องจากการติดเชื้อมักเกิดจากสถานที่หรืออุปกรณ์ที่ใช้เจาะหูไม่สะอาด หรือการจับแผลเจาะหูโดยไม่ล้างมือก่อน จึงอาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่แผลและเกิดการติดเชื้อได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เจาะหูและมีอาการแพ้อาหารและเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารและเครื่องดื่มชนิดนั้นหลังจากเจาะหู  เช่น ผู้ที่มีอาการแพ้ไข่ ควรหลีกเลี่ยงการกินไข่ ผู้ที่มีอาการแพ้อาหารทะเล ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารทะเล เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ และอาจทำให้อาการคันรุนแรงขึ้น ซึ่งมักส่งผลให้แผลเจาะหูหายช้ากว่าเดิม

วิธีการดูแลตัวเองหลังการเจาะหูอย่างเหมาะสม

การดูแลรักษาแผลเจาะหูอย่างเหมาะสมอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อที่แผลเจาะหูได้ โดยวิธีการดูแลตัวเองหลังเจาะหูอาจมีดังนี้

  • ทำความสะอาดแผลวันละ 2 ครั้งด้วยน้ำสะอาดและสบู่สูตรอ่อนโยน 
  • รักษาแผลให้แห้งอยู่เสมอ โดยใช้คอตตอนบัดหรือกระดาษทิชชูเช็ดบริเวณแผลทุกครั้งหลังแผลโดนน้ำ
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนและหลังจากสัมผัสแผลเจาะหู
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือหมุนต่างหูหากไม่จำเป็น โดยเฉพาะช่วงหลังจากการเจาะหูใหม่ ๆ เพราะการเสียดสีระหว่างต่างหูและแผลเจาะหูอาจทำให้เกิดการระคายเคือง และอาจส่งผลให้แผลหายช้า
  • ควรใส่ต่างหูตลอดเวลาอย่างน้อยประมาณ 3–4 เดือนหรือจนกว่าแผลเจาะหูหายดีแล้ว หลังจากนั้น หากต้องการเปลี่ยนต่างหู ควรเลือกต่างหูที่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้ เพื่อป้องกันอาการแพ้ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา
  • หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำจนกว่าแผลเจาะหูจะหายดี เพราะในน้ำอาจมีเชื้อโรค ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้

นอกจากนี้ ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะร่างกายจำเป็นต้องใช้พลังงานในการรักษาแผลให้หายดี โดยอาจเลือกอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น โปรตีน วิตามินซี วิตามินเอ สังกะสี ธาตุเหล็ก ซึ่งสารอาหารเหล่านี้อาจช่วยให้แผลเจาะหูหายเร็วยิ่งขึ้น

โดยระยะเวลาที่แผลเจาะหูจะหายดีอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม หากสังเกตเห็นสัญญาณของอาการติดเชื้อ เช่น เป็นไข้ แผลเจาะหูเจ็บ บวม แดง จับแล้วรู้สึกอุ่น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป