ยาสีฟัน เลือกอย่างไรเพื่อฟันสวยและแข็งแรง

ยาสีฟัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำความสะอาดสุขภาพช่องปากในชีวิตประจำวัน เพราะยาสีฟันจะช่วยขจัดคราบหินปูนและคราบแบคทีเรียสะสมบนฟัน ป้องกันปัญหาโรคเหงือกที่อาจเกิดขึ้นจากการมีหินปูนสะสม โดยยาสีฟันส่วนมากมีส่วนประกอบเป็นฟลูออไรด์ (Fluoride) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความแข็งแรงและป้องกันฟันผุ การเลือกยาสีฟันให้ตรงตามความต้องการของสุขภาพปากและฟันของแต่ละบุคคลจึงถือว่ามีความสำคัญไม่น้อย

ยาสีฟัน

ส่วนผสมหลักของยาสีฟัน

ยาสีฟันมีทั้งชนิดน้ำ ผง เจล และครีม แต่ในไทยจะคุ้นเคยกับ 2 ประเภทหลังมากกว่า โดยยาสีฟันสูตรต่าง ๆ ย่อมมีส่วนประกอบที่แตกต่างหลากหลายขึ้นอยู่กับคุณสมบัติที่แต่ละยี่ห้อต้องการนำเสนอเป็นพิเศษ เช่น ยาสีฟันช่วยทำให้ฟันขาว ยาสีฟันลดการอักเสบของเหงือก อย่างไรก็ตาม ยาสีฟันเกือบทุกชนิดมักมีส่วนผสมหลักดังต่อไปนี้

  • สารขัดถูชนิดอ่อนโยน เช่น แมกนีเซียมคาร์บอเนต (Magnesium Carbonate) แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) เจลซิลิโคนชนิดแห้ง (Dehydrated Silica Gels) อะลูมิเนียมออกไซด์ (Hydrated Aluminum Oxides) และเกลือฟอสเฟต (Phosphate Salts) สารเหล่านี้ล้วนมีหน้าที่ขจัดแบคทีเรีย เศษอาหาร และคราบต่าง ๆ ออกจากฟัน
  • สารรักษาความชุ่มชื้น เช่น กลีเซอรอล (Glycerol) หรือซอร์บิทอล (Sorbitol) เป็นส่วนผสมที่จะช่วยรักษาความชื้นของยาสีฟัน ทำให้เนื้อยาสีฟันไม่แห้งตัว
  • สารเพิ่มความข้นหนืด มักได้จากสาหร่ายทะเล สารแขวนลอยแร่ธาตุ (Mineral Colloids) เส้นใยเซลลูโลสสังเคราะห์ หรือยางจากธรรมชาติ มีหน้าที่ช่วยให้ยาสีฟันจับตัวเป็นเนื้อเดียวกัน
  • ฟลูออไรด์ เป็นส่วนผสมที่ช่วยให้เคลือบฟันแข็งแรงและลดการผุของฟัน
  • สารแต่งกลิ่นรสชนิดที่ไม่ทำให้ฟันผุ เช่น สารให้ความหวานแทนน้ำตาลอย่างแซกคารีน (Saccharin) ที่นิยมใส่เพื่อช่วยให้ยาสีฟันมีรสชาติดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีรสชาติอื่น ๆ ให้เลือกหลากหลายตามความชอบ เช่น กลิ่นมินท์ มะนาว  อบเชย เป็นต้น
  • สารทำความสะอาด เช่น โซเดียมลอริลซาโครซิเนต (Sodium Lauryl Sarcosinate) หรือโซเดียมลอริลซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate) ซึ่งจะทำให้ยาสีฟันเป็นฟองขณะแปรง

ประเภทของยาสีฟัน

ยาสีฟันฟลูออไรด์ แร่ธาตุที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติชนิดนี้เป็นส่วนผสมสำคัญอันดับแรกที่ควรมองหาเมื่อเลือกซื้อยาสีฟัน เนื่องจากยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์มีคุณสมบัติในการปกป้องฟันจากกรดที่แบคทีเรียภายในปากปล่อยออกมาขณะจับตัวกับน้ำตาลซึ่งตกค้างจากการรับประทานอาหาร โดยสารฟลูออไรด์จะส่งผลให้เคลือบฟันแข็งแรงขึ้น ทำให้ฟันมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากกรดดังกล่าวลดน้อยลง นอกจากนี้ยังช่วยให้ฟันบริเวณที่เพิ่งเริ่มเกิดการผุกร่อนกลับมามีสุขภาพดีดังเดิมได้

อย่างไรก็ตาม การได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียทำให้เกิดการตกกระที่ฟันได้ โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดให้มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ในยาสีฟันไม่เกิน 0.11 เปอร์เซ็นต์ และไม่จำเป็นต้องใช้ยาสีฟันมาก ๆ ในการแปรงฟันแต่ละครั้ง ควรบีบขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียวก็เพียงพอ นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังควรคอยดูแลไม่ให้บุตรหลานกลืนหรือรับประทานยาสีฟันเข้าไปด้วย

ยาสีฟันลดการเสียวฟัน เป็นยาสีฟันสำหรับผู้ที่ฟันไวต่อความรู้สึกหรือเกิดอาการเสียวฟันได้ง่าย เช่น เมื่อเผชิญกับอุณหภูมิที่ร้อนหรือเย็นเกินไปจากการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่เย็นจัด ร้อนจัด ซึ่งยาสีฟันประเภทนี้มักมีส่วนผสมของโพแทสเซียมไนเตรต (Potassium Nitrate) หรือสตรอนเทียมคลอไรด์ (Strontium Chloride) สารที่ช่วยบรรเทาอาการเสียวหรือระคายเคืองของฟันด้วยการไปอุดช่องทางของฟันที่เชื่อมต่อไปยังเส้นประสาทรับความรู้สึกภายในฟัน โดยจะเห็นผลลัพธ์จากการใช้ภายใน 4 สัปดาห์

ยาสีฟันช่วยให้ฟันขาว ยาสีฟันประเภทนี้ส่วนใหญ่ไม่มีสารฟอกขาวเป็นส่วนผสม หรือหากมีก็มีปริมาณเพียงเล็กน้อย จึงไม่ควรคาดหวังถึงผลลัพธ์ฟันที่ขาวขึ้นอย่างชัดเจนเหมือนการฟอกสีฟัน และไม่ทำให้สีโดยธรรมชาติของเนื้อฟันขาวขึ้นแต่ประการใด ยาสีฟันเพื่อฟันขาวประกอบด้วยวัสดุขัดถูหรือสารที่มีคุณสมบัติในการขัดถู รวมทั้งสารที่ช่วยสลายหรือละลายคราบ จึงช่วยขจัดคราบบนฟันที่อาจเกิดจากการรับประทานอาหาร เช่น ชา กาแฟ หรือการสูบบุหรี่ และมักไม่กรัดกร่อนหรือก่อความเสียหายให้ฟัน เนื่องจากไม่ได้มีความรุนแรงต่อเคลือบฟันมากไปกว่ายาสีฟันชนิดอื่น ๆ โดยการใช้ยาสีฟันชนิดนี้วันละ 2 ครั้ง อาจใช้ระยะเวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์จึงจะเห็นผล

ทั้งนี้ การเลือกใช้ยาสีฟันที่ช่วยทำให้ฟันขาวควรมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์แสดงการรับรองจากองค์กรทันตกรรมที่น่าเชื่อถือ เช่น สมาคมทันตแพทย์อเมริกัน (ADA) ซึ่งจะยืนยันได้ว่ายาสีฟันดังกล่าวมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในการใช้

ยาสีฟันควบคุมคราบหินปูนและลดโรคเหงือก คราบชั้นการสะสมของแบคทีเรียบนฟันที่ล้วนมีกันทุกคนนั้นหากไม่ได้รับการแปรงทำความสะอาดอย่างเหมาะสม นานไปจะก่อตัวแข็งขึ้นกลายเป็นคราบหินปูนบนฟันและบริเวณใต้เหงือกซึ่งยากต่อการขจัด นำไปสู่การเกิดโรคเหงือกได้ในที่สุด

ยาสีฟันที่มีคุณสมบัติในการควบคุมคราบหินปูนโดยมากมีสารฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบ รวมถึงไพโรฟอสเฟต (Pyrophosphate) ซิงค์ซิเตรท (Zinc Citrate) สารเหล่านี้ต่างได้รับการทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพ และยิ่งมีสารต้านการสะสมคราบแบคทีเรียมากชนิด ก็ยิ่งให้ผลดีในการควบคุมคราบหินปูน นอกจากนี้ บางยี่ห้อยังอาจมียาปฏิชีวนะอย่างไตรโคลซาน (Triclosan) ที่จะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในช่องปากร่วมด้วย

ยาสีฟันชาร์โคล เริ่มได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในระยะหลัง เนื่องจากมีการกล่าวอ้างว่าชาร์โคลหรือถ่านกัมมันต์ซึ่งสามารถช่วยดูดซับสารพิษจะมีประสิทธิภาพในการขจัดคราบบนฟันออกไป ทำให้ฟันขาว และกำจัดกลิ่นปาก ทว่ายังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันอย่างแน่ชัดถึงความปลอดภัยหากใช้ชาร์โคลภายในปาก เช่นในกรณีที่เผลอกลืนเข้าไป ชาร์โคลจะไปทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคที่รับประทานหรือไม่ และจะส่งผลในการกำจัดแบคทีเรียได้อย่างไร

ด้วยข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของชาร์โคลที่ยังตอบไม่ได้ ทันตแพทย์ทั้งหลายเห็นพ้องกันว่าควรเลือกใช้ยาสีฟันชนิดนี้อย่างระมัดระวังและไม่บ่อยครั้งเกินไป หรือสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ไม่ใช้ติดต่อเป็นเวลานานแม้จะรู้สึกว่าสุขภาพฟันยังเป็นปกติดีก็ตาม เนื่องจากชาร์โคลนั้นเป็นสารขัดถูอยู่แล้ว เมื่อรวมตัวกับสารขัดถูในยาสีฟันอีกจึงอาจมีฤทธิ์กัดกร่อนเคลือบฟันหากใช้เป็นประจำ และสำหรับผู้ที่มีปัญหาเหงือกร่น ก็อาจส่งผลให้รากฟันอ่อนแอจากการใช้ได้

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรเลือกซื้อยาสีฟันชาร์โคลจากยี่ห้อที่เชื่อถือได้ โดยหากพบอาการผิดปกติใด ๆ เช่น มีเลือดออกตามไรฟันและรู้สึกเสียวฟันยิ่งขึ้นหลังจากการใช้ยาสีฟันชนิดนี้ ให้หยุดใช้ทันทีและไปพบทันตแพทย์

เคล็ดลับการเลือกยาสีฟัน

นอกจากประเภทหรือคุณสมบัติของยาสีฟันที่ควรเลือกให้เหมาะสมกับสุขภาพฟันดังข้างต้น สิ่งที่ควรคำนึงถึงเพิ่มเติมในการมองหายาสีฟันที่ให้ผลดีและปลอดภัยในการใช้ มีดังนี้

  • เลือกยาสีฟันที่ได้รับการรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้น
  • เลือกยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์เสมอ เพื่อป้องกันฟันผุและทำให้สุขภาพฟันแข็งแรง
  • เลือกชนิดที่ให้รสชาติและความรู้สึกขณะแปรงดีที่สุด โดยไม่ว่าจะเป็นชนิดเจลหรือครีม รสมินท์ สเปียมินท์ หรือรสใด ๆ ก็ทำความสะอาดได้เหมือนกัน แต่หากใช้แล้วพบว่ามีส่วนผสมที่รบกวนช่องปาก เช่น กลิ่น รส หรือรู้สึกเสียวฟัน ให้ลองเปลี่ยนยาสีฟัน หากยังไม่ดีขึ้นควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจรักษา
  • สำหรับผู้ปกครองที่ต้องการปลูกฝังให้เด็ก ๆ รักษาสุขอนามัยช่องปากด้วยการแปรงฟันอย่างสม่ำเสมอ อาจลองเลือกยาสีฟันที่แต่งกลิ่นรสผลไม้หรือยาสีฟันที่เด็ก ๆ ใช้แล้วชอบ เพื่อกระตุ้นให้อยากแปรงฟัน แต่ควรหลีกเลี่ยงยาสีฟันชนิดที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม