เสียวฟัน ปัญหาสุขภาพช่องปากที่แก้ไขได้

เสียวฟัน หรือความรู้สึกปวดและเจ็บแปลบที่ฟัน เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพทางช่องปากที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของใครหลายคนได้ โดยเฉพาะขณะดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้เป็นปัญหาที่สามารถจัดการได้ เพียงแค่ต้องทราบสาเหตุและวิธีการรักษาที่ถูกต้อง

อาการเสียวฟันมักเกิดขึ้นเมื่อฟันโดนความร้อน ความเย็น ขณะรับประทานอาหารที่มีความเป็นกรด ขณะที่ความดันอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือผู้ที่มีอาการเสียวฟันบางรายอาจพบอาการขณะที่หายใจทางปาก หรือกัดฟันร่วมด้วย 

เสียวฟัน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเสียวฟัน

เสียวฟัน เป็นอาการที่มักเกิดจากปัญหาทางช่องปากอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เคลือบฟันเกิดภาวะสึกกร่อนหรือเสียหาย จนส่งผลให้ส่วนของประสาทฟันที่อยู่บริเวณเนื้อฟันไร้การปกป้องและถูกกระทบกระเทือนได้ง่าย โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยก็เช่น

  • การแปรงฟันที่ไม่ถูกต้อง การแปรงฟันแรง ๆ และใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งจนเกินไป อาจส่งผลให้เคลือบฟันหลุดร่อนได้ อีกทั้งยังอาจส่งผลให้เนื้อเยื่อของเหงือกถูกทำลายและเกิดปัญหาเหงือกร่นจนถึงรากฟัน ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดอาการเสียวฟันได้
  • ฟันผุ เนื่องจากเมื่อฟันหรือเคลือบฟันเกิดการผุกร่อน อาการเสียวฟันก็อาจเกิดตามมาได้
  • โรคเหงือก เหงือกที่มีภาวะอักเสบ บวม และอ่อนแอ อาจมีโอกาสเกิดภาวะเหงือกร่น จนรากฟันโผล่ออกมาได้ ซึ่งเมื่อรากฟันสัมผัสกับความร้อน ความเย็น หรือความดันอากาศก็ อาการเสียวฟันก็อาจเกิดขึ้นได้
  • การเสียหายของฟัน ฟันที่บิ่นหรือหักอาจส่งผลให้โพรงประสาทภายในฟันถูกเชื้อแบคทีเรียทำร้ายและเกิดอาการอักเสบจนเป็นสาเหตุทำให้เสียวฟันได้
  • การรับประทานอาหารที่เป็นกรด อาหารที่เป็นกรด โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเปรี้ยว คือสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้สารเคลือบฟันเกิดการผุกร่อน ดังนั้น หากรับประทานแล้วไม่แปรงฟัน กรดจากอาหารก็อาจทำลายไปถึงชั้นเนื้อฟัน ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดอาการเสียวฟันแต่ยังทำลายฟันได้อีกด้วย
  • มีคราบหินปูนเกาะมากเกินไป การสะสมของคราบหินปูนอาจส่งผลให้เคลือบฟันหลุดร่อน จนเป็นสาเหตุของอาการเสียวฟันได้

แนวทางการรับมือกับอาการเสียวฟัน 

ในเบื้องต้น ผู้ที่มีอาการเสียวฟันสามารถบรรเทาอาการด้วยตัวเองได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ใช้ยาสีฟันสูตรที่ช่วยลดอาการเสียวฟัน การใช้ยาสีฟันซึ่งมีส่วนผสมของตัวยาที่ช่วยบรรเทาอาการเสียวฟันอาจช่วยให้เสียวฟันน้อยลง โดยเฉพาะยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ นอกจากนี้ หากต้องการให้ประสิทธิภาพในการลดอาการเสียวฟันยาวนานยิ่งขึ้น อาจใช้สำลีก้านยาวป้ายยาสีฟันทาลงบาง ๆ บริเวณที่เสียวฟันร่วมด้วย
  • ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม การเลือกแปรงสีฟันที่ขนอ่อนนุ่มร่วมกับการแปรงฟันด้วยน้ำหนักมือที่เหมาะสมก็มีส่วนสำคัญในการป้องกันและรักษาอาการเสียวฟันได้ 
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เนื่องจากแอลกอฮอล์อาจส่งผลให้เคลือบฟันกร่อนและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเสียวฟันได้
  • ใช้ฟันยางขณะนอนหลับ สำหรับคนที่มีอาการเสียวฟันและมักติดนิสัยในการกัดฟันขณะหลับ การใช้ฟันยางจะช่วยลดอาการกัดฟันและช่วยเปลี่ยนนิสัยนี้ได้
  • รักษาความสะอาดของช่องปากด้วยการแปรงฟันและบ้วนปากอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ วิธีที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงวิธีดูแลอาการเสียวฟันในเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากอาการเสียวฟันเป็นปัญหาที่ควรได้รับการตรวจและการดูแลจากทันตแพทย์ เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัดและรับการรักษาอย่างตรงจุด โดยวิธีการรักษาที่ทันตแพทย์ใช้เพื่อรักษาอาการเสียวฟันก็เช่น

  • การเคลือบฟลูออไรด์ เป็นการนำสารฟลูออไรด์ป้ายบริเวณที่มีอาการเสียวฟัน เพื่อเสริมสารเคลือบฟันให้แข็งแรงและลดอาการปวดลง โดยในบางกรณี ทันตแพทย์อาจแนะนำให้นำสารฟลูออไรด์กลับไปใช้ที่บ้านด้วย
  • การอุดฟัน สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหารากเคลือบฟันเปิดจนเห็นรากฟัน ทันตแพทย์อาจใช้วิธีอุดด้วยเรซินเพื่อปิดบริเวณที่เห็นรากฟัน โดยบางครั้งอาจใช้ยาชาเฉพาะจุดเพื่อช่วยลดอาการเสียวฟันในขณะทำการรักษา
  • ศัลยกรรมปลูกเหงือก (Gingival Graft) ในกรณีที่อาการเสียวฟันเกิดจากการการสูญเสียเนื้อเยื่อของเหงือกบริเวณรากฟัน ทันตแพทย์อาจใช้วิธีนำเนื้อเยื่อจากเหงือกส่วนอื่นมาปลูกถ่ายยังบริเวณที่มีปัญหา
  • รักษารากฟัน (Root Canal Treatment) หากอาการเสียวฟันค่อนข้างรุนแรง และการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ทำการรักษารากฟัน

สุดท้ายนี้ แม้ปัญหานี้จะอาจฟังดูไม่รุนแรง แต่ในผู้ป่วยบางคนที่ไม่ได้รับการรักษา อาการเสียวฟันที่อาจเพียงรบกวนขณะรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำก็อาจลุกลามหรือนำไปสู่อาการปวดหัวได้ ดังนั้น ผู้ที่พบอาการเสียวฟันหรือรู้สึกเจ็บแปลบ ๆ ที่ฟันขณะดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่เย็นจัด หรือร้อนจัด ก็ควรหาเวลาไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเกิดตามมาได้