ฟันบิ่น

ความหมาย ฟันบิ่น

ฟันบิ่น คือ รอยบิ่นที่เกิดขึ้นบริเวณผิวฟัน ซึ่งอาจส่งผลให้พื้นผิวของฟันไม่เรียบเนียน มีลักษณะแหลมคม มีฟันผิดรูป หรือมีอาการเสียวฟันเมื่อรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ

โดยฟันบิ่นนั้นเกิดจากเคลือบฟัน (Enamal) ที่ปกคลุมอยู่ด้านนอกสุดของฟันได้รับการกระแทกอย่างรุนแรงหรือสึกหรอมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเกิดอุบัติเหตุหรือการเคี้ยวของแข็ง อย่างไรก็ตาม แพทย์มีวิธีการรักษามากมายที่จะช่วยให้ฟันที่บิ่นกลับมาเป็นปกติ         

1882 ฟันบิ่น rs

อาการฟันบิ่น

ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกถึงความผิดปกติของฟันหากมีรอยบิ่นเพียงเล็กน้อย หรือรอยบิ่นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบริเวณฟันหน้า แต่สำหรับผู้ที่มีอาการ อาจสังเกตได้จากความขรุขระของผิวฟันเมื่อใช้ลิ้นสัมผัส การระคายเคืองของเหงือกรอบ ๆ บริเวณที่เกิดฟันบิ่น การระคายเคืองของลิ้นจากการสัมผัสขอบฟันที่สากและขรุขระ มีอาการเจ็บเมื่อเคี้ยวอาหารหรือกัดฟัน และอาจรู้สึกปวดมากหากฟันที่บิ่นอยู่ใกล้เส้นประสาทฟัน

สาเหตุของฟันบิ่น

ฟันบิ่นเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยมีตัวอย่างสาเหตุที่พบทั่วไป เช่น การกัดของที่มีลักษณะแข็งอย่างน้ำแข็งหรือลูกอม การหกล้มหรือการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ การเล่นกีฬาที่ต้องปะทะกันโดยไม่ได้ใส่ฟันยางป้องกัน การนอนกัดฟัน เป็นต้น

ทั้งนี้ ฟันที่อ่อนแอมักเสี่ยงเกิดรอยบิ่นได้มากกว่าฟันที่แข็งแรง โดยมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ฟันอ่อนแอหรือส่งผลให้เคลือบฟันเสียหายได้ เช่น

  • ฟันผุ
  • การอุดโพรงฟันขนาดใหญ่
  • การรับประทานอาหารที่มีกรดสูงอย่างน้ำผลไม้ กาแฟ และอาหารรสจัด
  • ภาวะกรดไหลย้อนหรืออาการแสบร้อนกลางอก
  • กลุ่มโรคการกินผิดปกติอย่างโรคคลั่งผอม (Anorexia) และโรคล้วงคอ (Bulimia)
  • การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจนมักทำให้อาเจียนออกมาบ่อยครั้ง ซึ่งจะทำให้กรดในกระเพาะอาหารย้อนออกมาทางปากและทำลายเคลือบฟัน
  • การสะสมของแบคทีเรียที่เกิดจากน้ำตาล
  • อายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เคลือบฟันเสื่อมสภาพตามกาลเวลา

การวินิจฉัยฟันบิ่น

ทันตแพทย์สามารถวินิจฉัยอาการฟันบิ่นได้ด้วยการตรวจช่องปากและฟัน โดยจะประเมินจากลักษณะเหงือก ฟัน และอาการที่ผู้ป่วยแจ้งให้ทราบ รวมถึงสอบถามพฤติกรรมของผู้ป่วยที่อาจเป็นเหตุให้เกิดรอยบิ่น จากนั้นแพทย์จะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับอาการและความต้องการของผู้ป่วยต่อไป

การรักษาฟันบิ่น

การรักษาฟันบิ่นขึ้นอยู่กับตำแหน่งซี่ฟัน ระดับความรุนแรง และอาการที่เกิดขึ้น หากเคลือบฟันที่เกิดรอยบิ่นมีขนาดเล็ก ทันตแพทย์อาจใช้วิธีการรักษาง่าย ๆ อย่างการกรอฟันหรือขัดฟัน แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือฟันที่บิ่นส่งผลกระทบต่อการเคี้ยวอาหาร ทันตแพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษา ดังนี้

การนำฟันส่วนที่แตกกลับมาติดใหม่

หากพบเศษเคลือบฟันที่แตกออกมา ให้ผู้ป่วยนำไปแช่ในนม แคลเซียมจากนมจะช่วยให้เศษเคลือบฟันนั้นคงสภาพที่เหมาะสมต่อการนำกลับไปติดยังฟันเดิมได้ ในกรณีที่ไม่มีนม ให้ผู้ป่วยเหน็บเศษเคลือบฟันนั้นไว้ระหว่างเหงือกกับกระพุ้งแก้ม จากนั้นรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อติดเศษเคลือบฟันกลับเข้าไปใหม่อีกครั้ง

การอุดฟันด้วยวัสดุที่มีสีเหมือนฟัน

เป็นวิธีที่ง่ายและไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อฟันของผู้ป่วย การรักษาจะเริ่มต้นจากการกัดผิวฟันโดยใช้น้ำยาหรือเจลปรับสภาพที่ช่วยให้ผิวฟันหยาบและช่วยในการยึดเกาะของวัสดุอุดฟัน แล้วทันตแพทย์จะนำวัสดุอุดฟันอย่างพลาสติกเรซิ่น (Composit Resin) มายึดเกาะกับฟันซี่ดังกล่าวและตกแต่งรูปร่างให้เหมือนฟันจริง จากนั้นจะฉายแสงอัลตราไวโอเลตเพื่อให้วัสดุอุดฟันแห้งและแข็งตัว โดยวัสดุอุดฟันชนิดนี้สามารถอยู่ได้นานประมาณ 10 ปี

การครอบฟัน

การครอบฟัน คือ การครอบหรือคลุมตัวฟันที่บิ่นไว้ทั้งซี่ วัสดุที่ทันตแพทย์ใช้ในการครอบฟันมีทั้งโลหะ เซรามิก เซรามิกผสมโลหะ และเรซิ่น ซึ่งจะมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป วิธีการรักษานี้สามารถใช้กับอาการฟันแตก ฟันผุ และการสูญเสียฟันได้ โดยทันตแพทย์จะกรอฟันที่บิ่นเพื่อลดขนาดให้พอดีกับที่ครอบฟัน ซึ่งฟันที่ถูกกรอจะมีลักษณะคล้ายหมุดขนาดเล็ก

แต่ถ้าฟันส่วนที่บิ่นมีขนาดใหญ่ ทันตแพทย์จะนำวัสดุอุดฟันมาช่วยให้ส่วนของฟันที่เหลือมีขนาดใหญ่ขึ้นและยึดติดกับที่ครอบฟันได้ จากนั้นทันตแพทย์จะใส่ที่ครอบฟันชั่วคราวให้ก่อน หลังจากที่ครอบฟันถาวรเสร็จสมบูรณ์จึงจะนัดมาเปลี่ยนเป็นที่ครอบฟันถาวรในเวลาต่อมา

การทำวีเนียร์ (Dental Veneers)

เป็นวิธีเคลือบฟันเทียมด้วยวัสดุแผ่นบาง ๆ ที่ผลิตจากเซรามิกหรือพลาสติกเรซิ่น ซึ่งวีเนียร์เป็นทางเลือกใหม่ของการรักษาทางทันตกรรมที่ช่วยปกปิดรอยแตกหรือรอยบิ่นที่ฟันได้ ช่วยให้ฟันซี่ที่มีปัญหากลับมาดูสุขภาพดีอีกครั้ง โดยทันตแพทย์จะกรอผิวชั้นเคลือบฟันประมาณ 0.3-1.2 มิลลิเมตร และจะพิมพ์แบบฟันเพื่อส่งไปทำวีเนียร์

ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวทันตแพทย์อาจจะติดวีเนียร์ชั่วคราวเพื่อปรับแต่งให้แน่ใจว่าพอดีกับฟันจริง แล้วจึงติดวีเนียร์ถาวรหลังจากนั้น ทั้งนี้ วีเนียร์บางชนิดอาจมีอายุการใช้งานนานถึงประมาณ 30 ปี

การบูรณะฟันแบบออนเลย์ (Dental Onlays)

หากเกิดรอยบิ่นขึ้นบริเวณที่มีการบดเคี้ยวอาหารบ่อย ๆ อย่างบริเวณผิวหน้าฟันกราม ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะพิมพ์แบบฟันเพื่อสร้างออนเลย์ในห้องปฏิบัติการ หลังจากออนเลย์เสร็จสมบูรณ์ ทันตแพทย์จะนำมาใช้อุดฟันซี่ที่มีปัญหาและยึดติดอุปกรณ์กับเนื้อฟันที่เหลืออยู่

โดยการบูรณะฟันแบบออนเลย์สามารถอยู่ได้นานราว 10 ปี แต่ความคงทนของออนเลย์นั้นขึ้นอยู่กับการรับประทานอาหารด้วย หากชอบรับประทานอาหารที่ส่งผลให้ออนเลย์เสื่อมสภาพง่าย หรือใช้ฟันซี่ที่ติดออนเลย์ในการบดเคี้ยวอาหารบ่อย ๆ ก็อาจทำให้ออนเลย์สึกหรอได้ง่ายขึ้น

การรักษารากฟัน

เป็นการรักษาอาการติดเชื้อในโพรงประสาทฟันจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ภายในปาก เมื่อฟันเกิดรอยแตกหรือรอยบิ่นที่มีขนาดใหญ่พอที่จะทำให้ชั้นโพรงประสาทฟันเปิดได้ แบคทีเรียภายในปากจะเข้าสู่โพรงประสาทฟัน โดยผู้ที่มีชั้นโพรงประสาทฟันถูกทำลายอาจมีอาการปวดฟัน ฟันเปลี่ยนสี หรือเสียวฟันเมื่อดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนหรือเย็น

หากปล่อยไว้จนเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันตายก็อาจก่อให้เกิดอาการติดเชื้อที่ฟันซี่นั้น ๆ ทันตแพทย์จะรักษาโดยการนำเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันออกมา และทำความสะอาดรากฟัน หลังจากนั้นจะใช้วัสดุอุดโพรงฟัน โดยอาจใช้ยาฆ่าเชื้อร่วมด้วยเพื่อป้องกันการกลับมาติดเชื้ออีกครั้ง ซึ่งในการรักษารากฟัน ผู้ป่วยจำเป็นต้องไปพบทันตแพทย์อีกหลายครั้ง ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วย แผนการรักษา และความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของฟันบิ่น

ฟันบิ่นเป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปและมักไม่ก่อให้เกิดอาการปวดมากนัก โดยมักไม่ถือว่าเป็นอาการที่ต้องรักษาอย่างเร่งด่วน แต่หากได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วก็ยิ่งส่งผลดีต่อตัวผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม หากรอยบิ่นขยายวงกว้างจนส่งผลกระทบต่อรากฟัน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้ โดยอาจสังเกตได้จากอาการบางอย่าง เช่น ปวดฟันขณะรับประทานอาหาร มีกลิ่นปากหรือกลิ่นเปรี้ยวภายในปาก เสียวฟันเมื่อกินอาหารร้อนหรือเย็น เป็นไข้ มีต่อมน้ำเหลืองบวมบริเวณคอหรือกราม เป็นต้น

การป้องกันฟันบิ่น

ฟันบิ่นเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยากเพราะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้  

  • หลีกเลี่ยงการกัดหรือบดเคี้ยวอาหารที่แข็ง
  • สวมเข็มขัดนิรภัยหรือหมวกกันน็อคขณะขับขี่หรือโดยสารยานพาหนะ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บบริเวณศีรษะและฟัน
  • สวมฟันยางหากเล่นกีฬาหรือมีอาการนอนกัดฟันในเวลากลางคืน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ฟัน เหงือก และกระดูกขากรรไกร

ส่วนผู้ป่วยที่เกิดฟันบิ่นขึ้นแล้วนั้น ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับการรักษาจากทันตแพทย์ สามารถป้องกันอาการเจ็บปวดหรือลดความรุนแรงของอาการได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้ฟันที่บิ่นกัดหรือบดเคี้ยวอาหารที่แข็ง
  • ประคบเย็นหากมีอาการแก้มบวมจากฟันบิ่น
  • ใช้น้ำเกลือกลั้วปาก
  • บรรเทาอาการปวดโดยทาน้ำมันกานพลูรอบ ๆ เหงือกและฟันที่มีอาการปวด
  • อาจใช้หมากฝรั่งที่ปราศจากน้ำตาลหรือขี้ผึ้งจัดฟันไปอุดฟันที่บิ่นไว้ชั่วคราว เพื่อป้องกันส่วนแหลมคมของฟันบิ่นบาดลิ้นหรือเนื้อเยื่อข้างเคียงจนทำให้เกิดแผล  
  • ใช้ยาบรรเทาอาการปวดอย่างพาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน