กลิ่นปากในเด็กและวัยรุ่นกับข้อมูลที่ควรรู้

กลิ่นปากเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป แต่หากเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ โดยเฉพาะเมื่อลูกแปรงฟันเป็นประจำอยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจเป็นกังวลว่ากลิ่นปากเป็นสัญญาณบอกโรคอะไรหรือเปล่า การเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กมีกลิ่นปากอาจช่วยให้แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

นอกจากความกังวลที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเจอ กลิ่นปากอาจทำให้ความมั่นใจในการพูดคุยหรือสื่อสารกับคนรอบข้างของเด็กลดลงอีกด้วย เพราะเด็กจำนวนไม่น้อยไม่ทันสังเกตว่าตนเองกำลังมีปัญหากลิ่นปากอยู่ บางคนอาจรู้ตนเองมีกลิ่นปากจากเพื่อนและคนรอบข้าง ซึ่งการรู้ปัญหาด้วยวิธีนี้อาจทำให้รู้สึกไม่สบายใจหรือเกิดความเครียดตามมา

 กลิ่นปาก

ลูกมีกลิ่นปาก เพราะอะไร

ตามปกติแล้วเด็กมักจะมีกลิ่นปากหลังตื่นนอน แต่ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นกังวลไป เพราะกลิ่นปากจากสาเหตุนี้มักหายไปหลังจากเด็กแปรงฟันหรือกินอาหาร นอกจากนี้ ปัญหากลิ่นปากที่พบในเด็กและวัยรุ่นยังสามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น

  • กินอาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น กระเทียม หัวหอม ชีส อาหารที่มีน้ำตาลหรือโปรตีนสูง เป็นต้น
  • ดื่มเครื่องดื่มบางชนิด อาทิ กาแฟ ผลิตภัณฑ์จากนม น้ำส้ม โซดาหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่รักษาความสะอาดในช่องปาก
  • ใช้ยาบางชนิดที่อาจทำให้ปากแห้งหรือสูบบุหรี่
  • มีโรคประจำตัวหรือป่วยด้วยโรคบางโรค เช่น เป็นกรดไหลย้อน มีเสมหะในลำคอ มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ติดเชื้อภายในปากหรือลำคอ มีอาการคัดจมูก มีภาวะไซนัสอักเสบ เป็นโรคเหงือก ฟันผุหรือมีฝีในปาก ป่วยด้วยกลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren's Syndrome) เป็นต้น

กลิ่นปากมักมาจากบริเวณเหงือกและลิ้น ทำให้เด็กหลายคนอาจไม่ทันรู้ตัวว่าตนเองนั้นมีปัญหากลิ่นปากอยู่ แต่การจะสังเกตว่าตนเองมีกลิ่นปากหรือไม่นั้น ทำได้ด้วยการใช้สำลีหรือผ้าก๊อซสะอาดเช็ดพื้นผิวในช่องปากและดม หรือเลียลงบนหลังมือก่อนปล่อยให้แห้งประมาณ 10 วินาทีแล้วลองดม หากรู้สึกว่ามีกลิ่นเหม็น อาจต้องระมัดระวังและหาวิธีกำจัดกลิ่นปากอย่างถูกวิธี

วิธีกำจัดกลิ่นปากสำหรับเด็กและวัยรุ่น

การกำจัดกลิ่นปากที่เกิดขึ้นในเด็กและวัยรุ่นสามารถทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

รักษาความสะอาดภายในช่องปากอยู่เสมอ

การสะสมของแบคทีเรียและคราบพลัค (Plaque) ภายในปากอาจเป็นสาเหตุของการเกิดกลิ่นปาก ขั้นแรกอาจให้เด็กแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์อย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน สอนการแปรงลิ้นและใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งเพื่อกำจัดเศษอาหารที่อาจติดค้างอยู่ตามร่องฟัน ซึ่งการทำความสะอาดช่องปากอย่างถูกวิธีเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหากลิ่นปากเบื้องต้น

ดื่มน้ำให้เพียงพอตลอดทั้งวัน

เด็กหรือวัยรุ่นที่มีกลิ่นปากหรือมีภาวะปากแห้ง ควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอหรือประมาณ 8 แก้วต่อวัน เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นภายในช่องปากและกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำลายออกมามากขึ้น แต่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูงหรือมีน้ำตาลสูง

เคี้ยวหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล

การเคี้ยวหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล (Sugar-free Gum) จะช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลายในช่องปาก ทำให้เศษอาหารหรือแบคทีเรียถูกกำจัดออกไปมากขึ้น โดยให้เคี้ยวหลังมื้ออาหารหรือหลังจากการกินอาหารที่มีกลิ่นฉุน

ทำความสะอาดรีเทนเนอร์

รีเทนเนอร์อาจเป็นแหล่งสะสมทั้งแบคทีเรีย คราบพลัคและคราบหินปูน หากทำความสะอาดไม่เหมาะสมก็อาจก่อให้เกิดกลิ่นปากได้ จึงควรทำความสะอาดรีเทนเนอร์ทุกวัน หลังกินอาหารทุกครั้งหรือหลังการแปรงฟัน โดยอาจแช่น้ำยาทำความสะอาดรีเทนเนอร์โดยเฉพาะหลังการใช้งาน หรือทำความสะอาดขณะที่รีเทนเนอร์เปียกก็จะช่วยให้ขจัดคราบที่ติดอยู่ได้ง่ายขึ้น

กินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อช่องปาก

อาหารและเครื่องดื่มที่อาจช่วยระงับกลิ่นปาก เช่น แครอท แตงกวา แอปเปิ้ล ส้ม สับปะรด ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ หรือผลไม้อื่น ๆ ที่มีวิตามินซีสูง โดยวิตามินซีจะช่วยกำจัดแบคทีเรียและบรรเทาอาการของโรคเหงือกที่อาจเป็นสาเหตุของกลิ่นปากได้

นอกจากนี้ การกินชาเขียวหรือสมุนไพรชนิดต่าง ๆ อาจช่วยเรื่องกลิ่นปากได้เช่นกัน อย่างเมล็ดโป๊ยกั๊ก เมล็ดยี่หร่า หรือพาร์สลีย์ ทั้งนี้ อย่าลืมหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรง ไม่ว่าจะเป็นกระเทียม หัวหอม อาหารรสเผ็ด อาหารที่มีน้ำตาลหรือมีส่วนประกอบของโปรตีนสูง

เลิกบุหรี่

การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยลดการเกิดกลิ่นปาก ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเหงือก ฟันผุ การรับรสได้น้อยลงหรือมะเร็งช่องปากได้ โดยสามารถปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญถึงแนวทางการเลิกบุหรี่ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน

นอกจากนี้ การรักษาโรคหรือภาวะที่ก่อให้เกิดกลิ่นปาก อย่างโรคเหงือก ภาวะไซนัสอักเสบ โรคเบาหวานหรือกรดไหลย้อน จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ลงได้ หากสงสัยว่ากลิ่นปากของลูกเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

สิ่งสำคัญในการกำจัดกลิ่นปาก คือ การดูแลช่องปากอย่างเหมาะสม การตรวจสุขภาพของช่องปากประจำปี และการพบทันตแพทย์เมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติในช่องปากของลูก เช่น เด็กมีกลิ่นปากอย่างรุนแรงในตอนเช้าหลังตื่นนอน ฟันผุ กลิ่นปากไม่บรรเทาลงหลังพยายามกำจัดกลิ่นด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว ซึ่งการพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่องปากได้ทันก่อนจะมีอาการที่รุนแรงขึ้น