ฟันแตกเกิดจากอะไร เมื่อฟันแตกต้องทำอย่างไร

ฟันแตกเป็นลักษณะของฟันที่เกิดรอยแยกบนฟัน พบบ่อยในเด็กและผู้สูงอายุ เมื่อฟันแตกอาจทำให้เสียวฟันหรือปวดฟันอย่างฉับพลัน เกิดความไม่สวยงามของฟัน และอาจก่อให้เกิดปัญหาในช่องปากอื่น ๆ หากรักษาฟันแตกได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสที่ฟันจะกลับมาใช้งานได้ตามปกติเร็วขึ้น 

ฟันแตกมักเกิดจากการมีแรงกดหรือแรงกระแทกที่มากเกินไปมากระทบที่ฟัน ทำให้ส่วนเคลือบฟัน (Enamal) และเนื้อฟัน (Dentin) ซึ่งเป็นส่วนภายนอกและส่วนกลางของฟันที่มีความแข็งแรงแตกออก บางครั้งอาจรุนแรงจนทำให้โพรงประสาทฟันชั้นภายในที่เป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทและเส้นเลือดถูกกระทบกระเทือนไปด้วย ก่อนอื่นเรามารู้จักกับสาเหตุการเกิดกันก่อน เพื่อจะได้รับมือกับอาการฟันแตกได้ถูกต้อง

ฟันแตกเกิดจากอะไร เมื่อฟันแตกต้องทำอย่างไร

ฟันแตกเกิดจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้ฟันแตกนั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น 

  • การเคี้ยวหรือกัดอาหารที่มีลักษณะแข็งกรอบ เช่น น้ำแข็ง ลูกอม และกระดูก
  • การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของอุณหภูมิภายในช่องปาก เช่น การรับประทานอาหารที่ร้อนจัดและเย็นจัดต่อเนื่องกัน
  • การอุดฟันที่มีขนาดใหญ่เกินไป ทำให้ความแข็งแรงของฟันลดลง
  • การบาดเจ็บ เช่น หกล้ม อุบัติเหตุทางรถยนต์ อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา 
  • อายุมากขึ้น ทำให้ความแข็งแรงของฟันลดลง ส่วนใหญ่คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงในการเกิดฟันแตกมากขึ้น
  • การนอนกัดฟัน

เมื่อฟันแตกต้องทำอย่างไร

หลังจากเกิดฟันแตกอาจเกิดอาการเสียวฟันหรือปวดฟัน ให้รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อลดความเจ็บปวดและป้องกันการเกิดอาการรุนแรง โดยให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลือหรือน้ำอุ่นเพื่อทำความสะอาดภายในช่องปาก จากนั้นประคบเย็นบริเวณข้างแก้มเพื่อลดอาการบวม หากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หลังจากนั้นควรรีบไปพบทันตแพทย์ทันที 

การรักษาอาการฟันแตกมีอยู่หลายวิธี ทันตแพทย์จะพิจารณาจากขนาดรอยแตกของฟัน ตำแหน่งของรอยแตก ความรุนแรงของรอยแตกว่าขยายไปจนถึงบริเวณเหงือกหรือไม่ และอาการของโดยรวม โดยตัวอย่างวิธีรักษาฟันแตกที่ทันตแพทย์มักใช้โดยคร่าวมีดังนี้  

การอุดฟัน
การอุดฟันจะใช้ในกรณีที่ฟันแตกไม่มาก เช่น ส่วนเคลือบฟันภายนอกร้าวหรือแตกออก โดยจะใช้วัสดุอุดฟันที่เป็นพลาสติกเรซินอุดรอยร้าวหรือรอยแตกของฟันให้เชื่อมกันใหม่ ทำให้ฟันกลับมาสวยงามแข็งแรง และสามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ

การครอบฟัน
การครอบฟันจะใช้ในกรณีที่ฟันแตกลึกลงไปถึงเนื้อฟัน มักจะใช้วัสดุที่มีความทนทานและมีลักษณะคล้ายกับฟันจริง เช่น เรซินผสม พอร์ซเลน และเซรามิก ทันตแพทย์จะกรอส่วนเคลือบฟันบางส่วนออก เพื่อจะสวมวัสดุครอบฟันลงไปได้พอดีกับฟันเดิมที่แตก วิธีนี้จะช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับฟันที่แตก ทำให้สามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ

การรักษารากฟัน
การรักษารากฟันจะใช้ในกรณีที่ฟันแตกลึกลงไปถึงโพรงประสาทฟัน ซึ่งมีโอกาสที่เชื้อโรคเข้าสู่โพรงประสาทฟันและเกิดการติดเชื้อได้ ทันตแพทย์จึงต้องกำจัดเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันส่วนที่เสียหายออก เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มจนทำให้ฟันอ่อนแอลงอีก จากนั้นค่อยอุดคลองรากฟันหรือครอบฟัน เพื่อให้ฟันกลับมาสวยงามแข็งแรง และสามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ

การถอนฟัน
การถอนฟันจะใช้ในกรณีที่ฟันแตกลึกลงไปถึงรากฟัน ทำให้โพรงประสาทฟันได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงและทันตแพทย์ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ จึงจำเป็นที่จะต้องถอนฟันซี่นั้นออกไป หลังจากการถอนฟันอาจทดแทนฟันซี่ที่สูญเสียไปด้วยการใส่สะพานฟันหรือฝังรากฟันเทียม เพื่อทำให้ฟันกลับมาดูเหมือนปกติและป้องกันฟันที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเคลื่อนที่

อย่างไรก็ตาม ฟันแตกบางกรณีก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องรักษา เช่น ฟันแตกมีขนาดเล็กมาก มีลักษณะคล้ายกับรอยขนแมวบาง ๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณฟัน ฟันแตกที่ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและไม่ส่งผลต่อรูปทรงของฟัน

วิธีง่าย ๆ ช่วยป้องกันฟันแตก

เราสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงของการเกิดฟันแตกได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการกัดหรือเคี้ยวอาหารที่มีลักษณะแข็งกรอบ เช่น น้ำแข็ง ลูกอม และกระดูก
  • สวมฟันยางเมื่อเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการกระทบกระแทกบริเวณฟัน เช่น ชกมวย เทควันโด
  • หากมีพฤติกรรมนอนกัดฟันอาจสวมเฝือกสบฟันในเวลานอน หรือปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อรักษาอาการนอนกัดฟัน
  • ดูแลสุขภาพฟันและช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอด้วยการแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันทุกวัน และควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันและขูดหินปูนทุก 6 เดือน

การดูแลสุขภาพฟันให้แข็งแรงอยู่เสมอและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำร้ายฟันจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดฟันแตกได้ระดับหนึ่ง ส่วนคนที่เกิดฟันแตกแล้วควรรีบเข้ารับการดูแลและรักษาอย่างหมาะสม เพื่อลดความเจ็บปวดและความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่น ๆ