เลือดออกตามไรฟัน

ความหมาย เลือดออกตามไรฟัน

เลือดออกตามไรฟัน เป็นอาการที่มีเลือดไหลออกมาจากเหงือกและไรฟัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เหงือกอักเสบ โรคเหงือก ลักปิดลักเปิด แปรงฟันแรงเกินไป ใช้ไหมขัดฟันไม่ถูกวิธี เครื่องมือจัดฟันรัดแน่นเกินไป หรืออาจเป็นอาการแสดงของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ โดยอาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการอย่างเหงือกบวม หรือปวดตามเหงือกและไรฟัน ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเหงือกและฟัน เพื่อที่จะสามารถป้องกันละรักษาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

เลือดออกตามไรฟัน

อาการเลือดออกตามไรฟันที่ควรไปพบแพทย์

ผู้ป่วยที่มีเลือดออกตามไรฟัน ควรไปพบแพทย์หากมีอาการดังต่อไปนี้

  • เลือดออกตามไรฟันอย่างเรื้อรังหรือรุนแรงขึ้น
  • มีเลือดไหลออกมาไม่หยุดหลังเข้ารับการรักษาเหงือกและฟัน
  • มีอาการอื่น ๆ ที่หาสาเหตุไม่ได้เกิดขึ้นร่วมกับอาการเลือดออกตามไรฟัน

สาเหตุของเลือดออกตามไรฟัน

เลือดออกตามไรฟัน อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • การก่อตัวของคราบพลัคตามแนวเหงือก ซึ่งอาจทำให้เหงือกอักเสบ จนเหงือกบวมและมีเลือดออกตามไรฟันได้  
  • การติดเชื้อภายในเหงือกหรือฟัน เช่น โรคปริทันต์ ซึ่งเกิดจากเหงือกอักเสบอย่างเรื้อรังและพัฒนาความรุนแรงมากขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การขาดสารอาหารจำพวกวิตามินซี และวิตามินเค โดยเฉพาะการขาดวิตามินซี อาจทำให้เป็นโรคลักปิดลักเปิดที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และมีเลือดออกตามไรฟันได้ง่าย
  • แปรงฟันแรงเกินไป หรือใช้ไหมขัดฟันไม่ถูกวิธี
  • ใส่ฟันปลอมหรือเครื่องมือจัดฟันที่หลวม ไม่พอดีกับฟัน
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในระหว่างที่ตั้งครรภ์
  • มีปัญหาสุขภาพเป็นภาวะเลือดออกผิดปกติ ขาดเกล็ดเลือดหรือขาดโปรตีนที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว เช่น โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)
  • ป่วยด้วยโรคลูคีเมีย ซึ่งเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง  
  • ใช้ยารักษากลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน แอสไพริน เฮพาริน
  • เกล็ดเลือดต่ำ โดยโรคที่มักมีความเสี่ยงทำให้เกล็ดเลือดต่ำ ได้แก่ ไข้เลือดออก ไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น

การวินิจฉัยเลือดออกตามไรฟัน

เมื่อไปพบทันตแพทย์ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจบริเวณเหงือกและฟัน และต้องตอบคำถามสุขภาพ เช่น พฤติกรรมการแปรงฟัน การดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก การบริโภคอาหาร ตลอดจนการรับประทานยารักษาต่าง ๆ ที่อาจมีผลทำให้เลือดออกตามไรฟันได้

จากนั้น แพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดของอาการเลือดออกตามไรฟันที่อาจเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญภายในได้ โดยแพทย์อาจส่งตรวจตามวิธีดังต่อไปนี้

  • เอกซเรย์ช่องปาก ผู้ป่วยต้องอยู่หน้าเครื่องเอกซเรย์แล้วให้เครื่องฉายภาพบริเวณฟันและกรามภายในออกมา โดยแพทย์จะตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณเหงือกและฟันจากภาพเอกซเรย์ที่ได้
  • การตรวจเลือด แพทย์จะเจาะนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยไปตรวจหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด หรือตรวจนับแยกชนิดเม็ดเลือดขาว เพื่อตรวจหาสัญญาณการติดเชื้อและความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด

การรักษาเลือดออกตามไรฟัน

หลังการตรวจวินิจฉัย ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาตามโรคที่เป็นสาเหตุของอาการเลือดออกตามไรฟัน โดยแพทย์จะแนะนำวิธีการและขั้นตอนที่เหมาะสมต่อไป

การรักษาเมื่อไปพบแพทย์

 

การรักษาอาการเพื่อไม่ให้มีเลือดออกตามไรฟัน ทันตแพทย์อาจมีวิธีการรักษาดังนี้

  • นัดหมายให้ผู้ป่วยมาตรวจฟันและทำความสะอาดฟันเป็นระยะ เพื่อตรวจให้มั่นใจว่าผู้ป่วยไม่ได้มีอาการเลือดออกตามไรฟันอันมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
  • สอนวิธีการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟัน อย่างถูกวิธีแก่ผู้ป่วย เพื่อกำจัดและป้องกันการก่อตัวของคราบพลัค
  • ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้แปรงสีฟันที่มีเนื้อแปรงนุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้ป่วยที่มักมีเลือดออกตามไรฟันหลังการแปรงฟัน
  • ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า ซึ่งถูกออกแบบมาให้สามารถทำความสะอาดตามซอกฟันและแนวเหงือกได้ดีกว่าการแปรงฟันตามปกติ
  • ทันตแพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้น้ำยาบ้วนปากสูตรฆ่าเชื้อ สูตรตัวยาไฮโดรเจน เพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) ผสมกับน้ำเปล่าบ้วนปาก หรือใช้น้ำเกลืออุ่น ๆ บ้วนปาก เพื่อลดคราบพลัคและบรรเทาอาการเหงือกบวมที่เป็นเหตุทำให้เลือดออกตามไรฟันได้

การรักษาอาการและดูแลตนเองที่บ้าน

  • ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจรักษาสุขภาพช่องปากและขูดหินปูนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หรือทุก ๆ 6 เดือน
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด และสอบถามเมื่อมีข้อสงสัย
  • หากมีเลือดออกตามไรฟันมาก ให้กดบริเวณที่มีเลือดออกด้วยผ้าก๊อซชุบน้ำเย็น
  • แปรงฟันเบา ๆ ด้วยแปรงสีฟันที่มีเนื้อแปรงนุ่ม โดยควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือหลังมื้ออาหาร
  • ควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดตามซอกฟันประมาณ 2 ครั้ง/วัน เพื่อป้องกันการก่อตัวของคราบพลัค
  • อาจใช้เครื่องฉีดน้ำในระดับเบาฉีดนวดบริเวณเหงือก
  • ไปพบทันตแพทย์หากฟันปลอมหรืออุปกรณ์จัดฟันหลวมหรือแน่นจนเกินไปไม่พอดีกับฟัน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพรินหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ และปรึกษาแพทย์ให้แนะนำการเปลี่ยนยา หากกำลังรับประทานยากลุ่มนี้อยู่
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพ โดยควรหลีกเลี่ยงการบริโภคขนมขบเคี้ยว และลดปริมาณการบริโภคคาร์โบไฮเดรตจากอาหารบางประเภทลง
  • หากเลือดออกตามไรฟันเกิดจากการบริโภควิตามินซีไม่เพียงพอ ควรบริโภคอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินซี เช่น ส้ม น้ำส้ม และผลไม้ในตระกูลส้ม สตรอว์เบอร์รี่ มะเขือเทศ พริกหวาน บล็อคโคลี่ หรือรับประทานอาหารเสริมวิตามิน ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
  • หากเลือดออกตามไรฟันเกิดจากการบริโภควิตามินเคไม่เพียงพอ ควรบริโภคอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินเค เช่น ผักคะน้า ผักกาด ผักกาดเขียวปลี ผักโขม ผักสลัดน้ำ ถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก หรือรับประทานอาหารเสริมวิตามิน ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

การป้องกันอาการเลือดออกตามไรฟัน

  • แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกต้องตามวิธีที่ทันตแพทย์แนะนำ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยวหรือของหวาน ที่อาจทำให้เกิดการสะสมและก่อตัวของคราบพลัคจากน้ำตาลได้
  • บริโภคอาหารที่มีวิตามินซี และวิตามินเค อย่างเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
  • ไม่สูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้อาการเลือดออกตามไรฟันแย่ลงได้
  • ไม่ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์