ดอกดาวเรือง รู้เฟื่องเรื่องคุณประโยชน์

ดอกดาวเรืองเป็นไม้ดอกสีเหลืองสวยงามที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งดอก ใบ ลำต้น และราก หรืออาจนำมาทำสารสกัดบำรุงสุขภาพ เพราะเชื่อว่าสารประกอบในดอกดาวเรืองอาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยรักษาแผล และแก้ปัญหาช่องปากได้

ดอกดาวเรือง

ดอกดาวเรืองมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Calendula หรือ Tagetes Erecta Linn มีสารประกอบกลุ่มฟีนอล (Phenolic Compounds) สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ธาตุเหล็ก สังกะสี แมงกานีส และโพแทสเซียม ซึ่งสารเหล่านี้อาจมีประโยชน์ต่อผิวหนังและร่างกายระบบต่าง ๆ จึงมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากดอกดาวเรืองที่มักกล่าวอ้างสรรพคุณดังกล่าว โดยมีข้อพิสูจน์และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ต่าง ๆ ของดอกดาวเรืองไว้ ดังต่อไปนี้

ต้านอนุมูลอิสระ หากสารอนุมูลอิสระสะสมอยู่ในร่างกายปริมาณมาก อาจเสี่ยงเกิดความเสียหายต่อเซลล์เนื้อเยื่อต่าง ๆ และนำไปสู่การเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ ดอกดาวเรืองมีสารฟลาโวนอยด์ที่เชื่อว่าอาจมีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระได้ โดยมีงานวิจัยในห้องทดลองหลายชิ้นพบว่าสารเควอซิทาจิทิน (Quercetagetin) 1 ในสารฟลาโวนอยด์ที่สกัดได้จากดอกดาวเรืองเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง

นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่ทดลองใช้สารสกัดจากดอกดาวเรืองกับเซลล์เนื้อเยื่อผิวหนังแล้วพบว่าสารต่าง ๆ ที่สกัดจากดอกดาวเรืองรวมทั้งสารเควอซิทาจิทินไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ต่อเซลล์ผิวหนัง ดังนั้น สารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติจากดอกดาวเรืองอาจเป็นประโยชน์ต่อการยับยั้งสารอนุมูลอิสระและยังปลอดภัยต่อผิวหนังด้วย รวมถึงอาจช่วยให้สีผิวจางลง หรือทำให้ผิวขาวขึ้นได้

แม้ผลลัพธ์จากงานวิจัยเหล่านี้จะชี้ว่า สารสกัดต่าง ๆ จากดอกดาวเรืองอาจช่วยต้านอนุมูลอิสระได้และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนัง แต่งานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาจากตัวอย่างสารสกัดและเซลล์เนื้อเยื่อในห้องทดลองเท่านั้น จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าดอกดาวเรืองช่วยต้านอนุมูลอิสระได้หรือปลอดภัยต่อร่างกายจริง ดังนั้น ควรศึกษาวิจัยต่อไปโดยทดลองใช้ดอกดาวเรืองในมนุษย์ เพื่อยืนยันประสิทธิผลของดอกดาวเรืองในด้านนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ป้องกันผิวหนังเหี่ยวย่นและการเกิดริ้วรอย ดอกดาวเรืองมีสารเอทานอลที่เชื่อว่าอาจช่วยป้องกันผิวหนังเหี่ยวย่นและการเกิดริ้วรอยได้ โดยมีงานวิจัยที่พบว่าสารเมทานอลที่สกัดจากดอกดาวเรืองอาจมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ย่อยโปรตีนบางชนิดที่ทำให้ผิวหนังแห้งกร้าน เหี่ยวย่น และเกิดริ้วรอยได้ เช่น เอนไซม์ไฮยาลูโรนิเดส (Hyaluronidase) และเอนไซม์อีลาสเตส (Elastase)

ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งซึ่งทดลองใช้ครีมที่มีส่วนผสมของดอกไม้แต่ละชนิดรวมทั้งดอกดาวเรืองกับผิวที่เกิดริ้วรอยจากรังสี UV เป็นเวลา 8 สัปดาห์ แล้วสังเกตลักษณะของผิวหนังตลอดการทดลองผ่านเครื่องวิซิโอมิเตอร์ (Visiometer) หรือเครื่องมือที่ใช้วัดริ้วรอยและความหยาบละเอียดของผิวหนัง พบว่าครีมที่มีส่วนผสมของดอกดาวเรืองอาจทำให้ริ้วรอยต่าง ๆ ดูตื้นขึ้น โดยไม่ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองใด ๆ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นเพียงการศึกษาในห้องทดลองเท่านั้น จึงอาจต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในด้านนี้ต่อไป เพื่อนำผลการทดลองที่ได้มาปรับใช้ในอนาคต

รักษาแผล และผื่นแพ้สัมผัส ดอกดาวเรืองเป็นดอกไม้ที่คนนำมาใช้รักษาแบบพื้นบ้านมายาวนาน โดยเชื่อกันว่าหากนำดอกดาวเรืองมาพอกปิดแผลไว้ จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ซึ่งมีงานวิจัยหนึ่งศึกษาการใช้สารสกัดจากพืชตระกูลดาวเรืองชนิดหนึ่งกับผู้ป่วยมีแผลเรื้อรังที่ขาจากหลอดเลือดดำอุดตันจำนวน 34 คน พบว่าสารสกัดดังกล่าวอาจช่วยเร่งให้แผลหายเร็วขึ้นได้

ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งซึ่งทดลองใช้ครีมที่มีส่วนประกอบเป็นสารสกัด 7 ชนิดจากพืชตระกูลดาวเรืองและดอกโรสแมรี่บนผิวหนังของอาสาสมัครผู้มีสุขภาพดี พบว่าครีมดังกล่าวอาจช่วยป้องกันการเกิดผื่นแพ้สัมผัสได้ และยังมีอีกหนึ่งงานวิจัยที่ทดลองใช้สารสกัดจากพืชตระกูลดาวเรืองในตัวอย่างเซลล์มนุษย์เผยว่า พืชตระกูลดาวเรืองอาจช่วยรักษารอยช้ำ ผื่นแดง ฝี และผิวหนังอักเสบชนิดอื่น ๆ ได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้สารสกัดดังกล่าวกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นเพียงการศึกษาขนาดเล็ก บางงานเป็นการค้นคว้าในห้องปฏิบัติการ และบางงานก็ทดลองโดยใช้สารสกัดจากดาวเรืองร่วมกับสารสกัดอื่น ๆ ดังนั้น ผลการวิจัยเหล่านี้จึงไม่สามารถยืนยันสมมติฐานที่ว่าดอกดาวเรืองสามารถรักษาแผลและผื่นแพ้สัมผัสได้จริง จึงควรค้นคว้าหาหลักฐานอื่น ๆ ที่แน่ชัดมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรศึกษาทดลองกับกลุ่มตัวอย่างมนุษย์ด้วย

ต้านแบคทีเรีย ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมักกล่าวอ้างว่าสารสกัดจากดอกดาวเรืองมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย และอาจช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียได้ เพราะดอกดาวเรืองมีสารประกอบต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งมีงานวิจัยหนึ่งศึกษาคุณประโยชน์ของดาวเรืองส่วนเหนือดินโดยสกัดด้วยเอทานอลที่มีความเข้มข้นปริมาณ 5 มิลลิกรัม/1 มิลลิลิตร พบว่าสารดังกล่าวอาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียสเตปฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ที่อาจเป็นสาเหตุของเยื่อบุตาอักเสบหรือต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ส่วนอีกหนึ่งงานวิจัยที่ศึกษาในห้องทดลองเช่นกันพบว่า น้ำที่สกัดจากใบของดอกดาวเรืองและสารสกัดเอทานอลที่ได้จากดอกดาวเรือง อาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียสเตปฟิโลค็อกคัส ออเรียส ด้วยเช่นเดียวกัน

แม้มีผลลัพธ์การทดลองในทางบวก แต่งานวิจัยข้างต้นเป็นเพียงการศึกษาในห้องทดลองเท่านั้น จึงไม่อาจสรุปได้ว่าดอกดาวเรืองช่วยต้านแบคทีเรียในมนุษย์ได้จริง ดังนั้น เพื่อยืนยันสมมติฐานในด้านดังกล่าว จำเป็นต้องค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ต่อไป

แก้ไขปัญหาในช่องปาก สุขภาพช่องปากเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ หลายคนเชื่อว่าการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของดอกดาวเรืองอาจช่วยลดกลิ่นปากและป้องกันการเกิดคราบจุลินทรีย์ได้ ซึ่งมีงานวิจัยบางส่วนพบว่าสารสกัดจากดอกดาวเรืองอาจช่วยรักษาปัญหาในช่องปากบางชนิดได้ งานวิจัยหนึ่งให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก มีภาวะเหงือกอักเสบไม่รุนแรง และมีปัญหาเลือดออกตามไรฟันจำนวน 240 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 20-40 ปี ใช้สารสกัดแอลกอฮอล์จากพืชตระกูลดาวเรืองเจือจางกับน้ำกลั่นในอัตรา 2:6 มิลลิลิตร บ้วนปากวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เป็นเวลา 6 เดือน พบว่าปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้ป่วย เช่น คราบหินปูน และอาการเลือดออกตามไรฟันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่บ้วนปากด้วยน้ำกลั่นธรรมดา

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยจำนวนน้อยที่ศึกษาในด้านนี้ และยังเป็นเพียงงานวิจัยจากพืชตระกูลดาวเรืองเท่านั้น จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าดอกดาวเรืองจะสามารถรักษาปัญหาในช่องปากได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ควรศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในด้านนี้ โดยเฉพาะการเจาะจงใช้ดอกดาวเรืองในการทดลอง เพื่อพิสูจน์คุณประโยชน์ของดอกดาวเรืองในด้านนี้ให้ชัดเจนต่อไปในอนาคต

การใช้ดอกดาวเรืองอย่างปลอดภัย

แม้ดอกดาวเรืองอาจมีประโยชน์มากมาย แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลมากพอยืนยันผลลัพธ์และความปลอดภัยของดอกดาวเรืองในการบริโภคหรือการใช้เพื่อหวังสรรพคุณทางการรักษา จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากดอกดาวเรือง

ส่วนการบริโภคดอกดาวเรืองในรูปแบบอาหารอาจไม่ก่อให้เกิดโทษใด ๆ หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม แต่หากรับประทานในปริมาณมากเกินไป หรือบริโภคดอกดาวเรืองในขณะที่กำลังมีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ก็อาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ ควรระมัดระวังในการบริโภคหรือใช้ประโยชน์จากดอกดาวเรืองเป็นพิเศษ

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร การบริโภคดอกดาวเรืองในรูปแบบอาหารนั้นปลอดภัยสำหรับทั้งผู้ที่ตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตร แต่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคหรือใช้ในปริมาณมากเพื่อหวังผลทางการรักษาโรค เพราะในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่ชัดเจนเพียงพอ
  • ผู้ที่แพ้พืชที่มีละอองเกสร หรือพืชชนิดอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกับดอกดาวเรือง ดอกดาวเรืองอาจก่อให้เกิดอาการแพ้กับผู้ที่ไวต่อการแพ้พืชวงศ์ทานตะวันอื่น ๆ เช่น ดอกเบญจมาศ และดอกเดซี่ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่แพ้พืชดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนบริโภค สัมผัส สูดดม หรือใช้สารสกัดจากดอกดาวเรือง