ยาฝังคุมกำเนิด ประโยชน์ ข้อควรรู้ และข้อควรระวัง

ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive Implant) เป็นวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพสูง โดยใช้หลอดยาขนาดเล็กฝังเข้าไปใต้ผิวหนังบริเวณใต้ท้องแขนของแขนท่อนบน ซึ่งตัวยาจะบรรจุฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) เอาไว้ เมื่อฮอร์โมนชนิดนี้ค่อย ๆ เข้าสู่ร่างกายจะสามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้เป็นเวลา 3 ปี

ยาฝังคุมกำเนิดสามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ในทันทีหากฝังเอาไว้ในช่วง 5 วันแรกของการมีประจำเดือน แต่หากฝังยาเอาไว้ในวันถัดไปหรือวันอื่น ๆ ของรอบประจำเดือน จะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้หลังฝังยาคุมกำเนิด 7 วันขึ้นไป ซึ่งในระหว่างนี้ควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย 

ยาฝังคุมกำเนิด

กลไกในการป้องกันการตั้งครรภ์ของยาฝังคุมกำเนิด

ยาฝังคุมกำเนิดประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) บรรจุอยู่ในหลอดหรือแท่งขนาดเล็ก โดยฮอร์โมนโปรเจสตินที่ค่อย ๆ ปล่อยออกมาจากแท่งหรือหลอดเข้าสู่กระแสเลือดจะทำให้ฟองไข่ไม่พัฒนาและไม่เกิดการตกไข่ เมื่อไม่เกิดการตกไข่ที่พร้อมปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิ ก็จะไม่สามารถเกิดการตั้งครรภ์ได้ 

นอกจากนี้ ฮอร์โมนโปรเจสตินที่ปล่อยออกมายังทำให้เมือกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ทำให้อสุจิผ่านเข้าไปยังมดลูกเพื่อปฏิสนธิกับไข่ได้ยาก รวมไปถึงยังทำให้เยื่อบุผนังมดลูกบาง ซึ่งทำให้ไข่ที่ถูกผสมแล้วไม่สามารถเกาะที่ผนังมดลูกได้ จึงช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้นั่นเอง

ประโยชน์และความเสี่ยงของยาฝังคุมกำเนิด

ประโยชน์ของการฝังยาคุมกำเนิด มีดังต่อไปนี้

  • เมื่อฝังยาคุมกำเนิดไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีอื่นในการป้องกันการตั้งครรภ์ตลอดระยะเวลา 3 ปี 
  • ไม่ต้องกังวลเรื่องการตั้งครรภ์ หรือปัญหาการลืมรับประทานยาคุมกำเนิด
  • หลังจากที่แท้งบุตร ทำแท้ง คลอดบุตร หรือระหว่างที่ให้นมบุตร สามารถฝังยาคุมกำเนิดได้ทันทีและไม่เป็นอันตราย
  • ยาฝังคุมกำเนิดไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการมีเพศสัมพันธ์
  • หากต้องการมีบุตรหรือต้องการหยุดใช้ สามารถนำออกได้อย่างง่ายดาย และสามารถมีบุตรได้เร็วกว่าการฉีดยาคุม เพราะฮอร์โมนกระจายออกในปริมาณน้อยและไม่มีการสะสมในร่างกาย
  • ไม่ต้องรับประทานยาคุมกำเนิดแบบเม็ดทุกวัน ซึ่งช่วยลดโอกาสในการลืมรับประทานยาได้
  • ในช่วงปีแรกที่ใช้ยาฝังคุมกำเนิด มีส่วนช่วยลดอาการปวดประจำเดือนและช่วยให้ผู้ที่ประจำเดือนมามากมีประจำเดือนลดลง
  • ใช้ได้กับผู้ที่ไม่สามารถใช้ยาคุมกำเนิดแบบเม็ดซึ่งมีเอสโตรเจน (Estrogen) เป็นส่วนประกอบ
  • มีส่วนช่วยยับยั้งการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เพราะยาฝังคุมกำเนิดทำให้เมือกที่คอมดลูก (Cervix) ข้นขึ้น ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเข้าไปสู่มดลูกได้

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการฝังยาคุมกำเนิด มีดังต่อไปนี้

  • ในขั้นตอนฝังยาหรือนำยาออกจะต้องฉีดยาชาเฉพาะที่
  • เมื่อฝังยาฝังคุมกำเนิดอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ซึ่งเป็นอาการปกติของปีแรกที่ฝังยา
  • บางคนอาจมีประจำเดือนที่มากขึ้นหรือมาถี่ขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปีแรกที่เริ่มฝังยา
  • บางคนอาจมีประจำเดือนมาไม่ตรงเวลาหรือมาน้อย ซึ่งพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ที่ฝังยาคุมกำเนิดจะไม่มีเลือดออกมาเมื่อมีประจำเดือน
  • สำหรับผู้ที่ใช้ยาฝังคุมกำเนิด หากพบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดที่ผิดปกติหรือมีเลือดออกหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ ควรไปพบแพทย์ เพราะบางครั้งอาจเกิดจากการติดเชื้อซึ่งต้องได้รับการรักษา
  • ในบางกรณียาคุมกำเนิดที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนังอาจเกิดการเคลื่อนที่ แต่สามารถเกิดขึ้นได้น้อยมาก

นอกจากนั้น ยาฝังคุมกำเนิดไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Infection: STI) ได้ ดังนั้น เมื่อเพศสัมพันธ์จึงควรต้องมีการป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ใส่ถุงยางอนามัย 

วิธีการและข้อจำกัดในการฝังยาคุมกำเนิด

ผู้หญิงเกือบทุกคนสามารถใช้ยาคุมกำเนิดได้ แต่จะมีบางกรณีต่อไปนี้ที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้ยาฝังคุมกำเนิด ได้แก่

  • ผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจกำลังตั้งครรภ์
  • ผู้ที่ต้องการมีรอบเดือนเป็นปกติ เพราะเมื่อใช้ยาฝังคุมกำเนิดแล้วอาจทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ
  • ผู้ที่พบว่าตนเองมีเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือนหรือหลังจากการมีเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่เป็นไมเกรน
  • ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด (Thrombosis)
  • ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดง (Arterial Disease) มีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง
  • ผู้ที่เป็นโรคตับ ตับแข็ง หรือมีเนื้องอกในตับ
  • ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม หรือเคยเป็นในอดีต
  • ผู้ที่เป็นเบาหวานและมีภาวะแทรกซ้อน
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคกระดูกพรุน
  • ผู้ที่แพ้ส่วนประกอบใด ๆ ก็ตามที่ในยาคุมกำเนิด

ผู้ที่จะฝังยาคุมกำเนิดควรรับการฝังยาในช่วง 5 วันแรกของรอบเดือน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้กำลังตั้งครรภ์และยาที่ฝังจะมีผลในทันที ซึ่งเมื่อตัดสินใจจะฝังยาคุมกำเนิดแล้ว สามารถติดต่อขอรับบริการกับทางโรงพยาบาลที่สะดวกได้ทันที โดยขั้นตอนในการฝังยาจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

ขั้นแรกแพทย์จะทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อแล้วฉีดยาชาเฉพาะที่ไปที่บริเวณใต้ท้องแขนที่จะฝังยาคุม จากนั้นจะใช้เข็มเปิดแผลและสอดใส่แท่งที่มีหลอดยาบรรจุอยู่เข้าไปในเข็ม เมื่อหลอดยาเข้าไปใต้ผิวหนังเรียบร้อยแล้วก็จะนำเข็มและแท่งนำหลอดยาออกมา แล้วทำการปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ตามด้วยผ้าพันแผลพันอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นแพทย์จะให้ยาแก้ปวดกลับไปรับประทานหากมีอาการปวดแผล

เมื่อผ่านไป 24 ชั่วโมง ผู้ที่เข้ารับการฝังยาคุมกำเนิดสามารถนำผ้าพันแผลออกได้ แต่ยังคงเหลือพลาสเตอร์ปิดแผลเอาไว้และควรดูแลพลาสเตอร์ให้สะอาด เป็นเวลา 3–5 วัน แล้วจึงนำออกได้

ทั้งนี้ แพทย์อาจลองจับบริเวณที่ฝังยาเพื่อตรวจสอบตำแหน่งของยาที่ฝังเข้าไป หรือหากมีความจำเป็นอาจต้องทำอัลตราซาวด์หรือเอกซเรย์เพื่อยืนยันว่ายาฝังคุมกำเนิดได้ถูกฝังเอาไว้อย่างถูกต้อง 

ผลข้างเคียงของการใช้ยาฝังคุมกำเนิด

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีเลือดออกทางช่องคลอดเมื่อใด โดยบางคนเมื่อเวลาผ่านไปอาการดังกล่าวจะหายไปเอง ส่วนบางคนจะพบว่ามีอาการปวดท้องประจำเดือนน้อยลง หรือบางคนจะพบว่าทำให้ประจำเดือนขาดได้

ผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น

  • อารมณ์แปรปรวน
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดท้อง
  • คลื่นไส้
  • สิวขึ้น
  • มีอาการกดเจ็บที่เต้านม
  • บวมน้ำ
  • บางคนจะพบว่ามีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเพราะยาฝังคุมกำเนิดหรือไม่
  • ยาฝังคุมกำเนิดอาจมีปฏิกิริยาต่อยาชนิดอื่น ๆ

ผลข้างเคียงเหล่านี้มักจะหยุดไปเองหลังผ่านช่วงเดือนแรก ๆ ที่ฝังยาไป แต่หากพบว่ามีอาการต่อไป หรือมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง รวมไปถึงหากพบว่ามีผลข้างเคียงอื่น ๆ เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์

นอกจากนี้ การฝังยาคุมกำเนิดมีความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในขั้นตอนการฝังยาหรือการนำยาออก แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากและสามารถรักษาได้ด้วยการทำความสะอาดบริเวณที่ฝังยาคุมกำเนิดและรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ส่วนอีกกรณีที่พบได้ยากคือผู้ที่ตั้งครรภ์ขณะที่ใช้ยาฝังคุมกำเนิดอยู่ โดยจะเพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อยให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้

ยาที่อาจมีผลกระทบหรือรบกวนการใช้ยาฝังคุมกำเนิด

ยาบางชนิดสามารถทำให้ยาฝังคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพลดลง ได้แก่

  • ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาไรฟาบิวติน (Rifabutin) หรือยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
  • ยารักษาโรคเอดส์หรือเอชไอวี (HIV)
  • ยารักษาโรคลมชัก (Epilepsy)

หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้ช่วงระยะสั้น ควรใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากยาฝังคุมกำเนิด เช่น ถุงยางอนามัยหรือฉีดยาคุมกำเนิดในระหว่างหรือหลังจาก 28 วันที่ใช้ยาข้างต้น แต่หากต้องใช้ยาเหล่านี้ในระยะยาว อาจต้องพิจารณาใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากยาเหล่านี้

ดังนั้น ก่อนใช้ยาข้างต้นหรือต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเสมอว่ากำลังใช้ยาฝังคุมกำเนิด และควรหมั่นสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับแพทย์เพื่อความปลอดภัยในการใช้

การใช้ยาฝังคุมกำเนิดหลังจากที่คลอดบุตร

โดยส่วนใหญ่แพทย์แนะนำให้ผู้ที่คลอดบุตรใช้ยาฝังคุมกำเนิดหลังคลอด 3 สัปดาห์ และหากฝังยาคุมกำเนิดในวันที่ 21 หลังจากคลอด จะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ในทันที แต่หากฝังยาคุมกำเนิดหลังจากวันที่ 21 หลังจากที่คลอดบุตร อาจจำเป็นต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมเป็นเวลา 7 วัน เช่น การใช้ถุงยางอนามัย หรือการฉีดยาคุมกำเนิด 

นอกจากนี้ คุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรยังสามารถใช้ยาฝังคุมกำเนิดได้อย่างปลอดภัย ส่วนผู้ที่แท้งบุตรหรือมีการทำแท้งก็สามารถใช้ยาฝังคุมกำเนิดได้ตามปกติ ซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันที

การนำยาฝังคุมกำเนิดออกจากร่างกาย

ยาฝังคุมกำเนิดจะมีอายุการใช้งาน 3 ปี ซึ่งเมื่อครบกำหนดก็ควรนำออกแล้วทำการฝังเข้าไปใหม่เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ หรือสำหรับผู้ที่ฝังยาแล้วหากมีอาการปวดไมเกรน อาการของโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดในสมอง ความดันโลหิตสูง ดีซ่าน หรือเกิดภาวะซึมเศร้า แพทย์อาจแนะนำให้นำยาฝังคุมกำเนิดออก

ผู้ที่ต้องการนำออกก็สามารถติดต่อโรงพยาบาลได้ทันที ขั้นตอนการนำออกใช้เวลาไม่นานเช่นกัน โดยแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณที่ฝังยา จากนั้นจะกรีดแผลขนาดเล็กแล้วดันหลอดยาหรือใช้อุปกรณ์ช่วยคีบหลอดยาออกมาจากรอยแผลที่กรีดเอาไว้ เมื่อนำออกมาได้เรียบร้อยแล้วแพทย์ก็จะทำแผล เป็นอันเสร็จขั้นตอน