ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids)

ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids)

Opioids หรือยาในกลุ่มโอปิออยด์ เป็นกลุ่มยาที่ใช้ระงับอาการปวดระดับปานกลางไปถึงรุนแรง ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง เช่น อาการปวดจากการผ่าตัดหรือจากโรคมะเร็ง ระงับอาการไอ แก้ท้องเสีย และยาบางตัวยังช่วยแก้อาการติดยากลุ่มโอปิออยด์ด้วยกันเองได้ด้วย โดยจะมีฤทธิ์ช่วยลดสัญญาณความเจ็บปวดที่ส่งมาจากระบบประสาทและปฏิกิริยาของสมองต่อความเจ็บปวด ทำให้อาการปวดทุเลาลง อีกยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม มีอาการเมา และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสพติดการใช้ยาได้ 

ยา Opioids มีหลายรูปแบบ มีทั้งแบบยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำ ยาฉีด หรือแผ่นแปะที่ผิวหนัง ซึ่งอาจใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาในกลุ่มอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยตัวอย่างยา Opioids เช่น ยาโคเดอีน (Codeine) ยาเฟนทานิล (Fentanyl) ยามอร์ฟีน (Morfine) ยาเมทาโดน (Methadone) ยาเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) ยาออกซิโคโดน (Ocycodone) ยาทรามาดอล (Tramadol) เป็นต้น  

ทั้งนี้ยาในกลุ่มโอปิออยด์บางชนิดถูกจัดเป็นยาเสพติดที่ให้โทษแก่ร่างกาย ประชาชนทั่วไปจึงไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา จัดจำหน่าย ผลิต นำเข้า ส่งออก และครอบครองยาได้ โดยจะมีบทลงโทษต้องเสียค่าปรับหรือระวางโทษจำคุก ดังนั้นการใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น

ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids)

คำเตือนในการใช้ยา Opioids

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางสุขภาพ ประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาในกลุ่มนี้ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะอาจทำปฏิกิริยากับยาในกลุ่มนี้ ทำให้ตัวยามีประสิทธิภาพลดลงหรือเสี่ยงต่อการผลข้างเคียงมากขึ้น
  • ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับสารหรือตัวยาอื่นที่ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานพร้อมกับยา Opioids ยกตัวอย่างเช่น ยาต้านฮิสตามีน ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยานอนหลับ ที่อาจไปเพิ่มความเสี่ยงของการหายใจช้าลงจนเป็นอันตรายต่อร่างกายได้  
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา Opioids หากผู้ป่วยมีประวัติทางสุขภาพบางประการที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือลดปริมาณการใช้ยาให้น้อยลง เช่น ต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง หอบหืดเฉียบพลัน โรคลมชัก โรคในระบบทางเดินน้ำดี ภาวะความดันโลหิตต่ำ ภาวะขาดไทรอยด์ ระบบทางเดินหายใจทำงานบกพร่อง โรคลำไส้อักเสบหรือลำไส้อุดตัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ต่อมลูกหมากโต ท่อปัสสาวะตีบแคบ ภาวะช็อก เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยาในกลุ่ม Opioids หากป่วยมีปัญหาการกดหายใจ (Acute Respiratory Depression) ภาวะโคม่า ได้รับอุบัติเหตุทางศีรษะหรือภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง และเสี่ยงต่อลำไส้อุดตัน 
  • เด็กอายุ 12-18 ปี ที่มีโรคอ้วน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือโรคปอดที่รุนแรงไม่ควรใช้ยา Opioids
  • เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ควรใช้ยาทรามาดอลและยาโคเดอีน
  • ผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีความไวต่อการติดยาแตกต่างกันไป โดยอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น สารเคมีในสมอง อายุ พฤติกรรมของตนเอง สภาพสังคมและครอบครัว เป็นต้น
  • ยาในกลุ่มนี้บางชนิดอาจมีส่วนผสมของยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) ที่ก่อให้เกิดพิษต่อตับหากรับประทานยาในปริมาณมาก     

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Opioids

ยา Opioids อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ต่างแตกกันในผู้ป่วยแต่ละคน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ปากแห้ง เสพติดการใช้ยา ปัสสาวะได้ลำบาก ง่วงซึม การตอบสนองลดลง รู้สึกสับสน การตัดสินใจแย่ลง ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่าทาง รูม่านตาหดเล็กลง ใจสั่น หัวใจเต้นช้า ปวดศีรษะ ผื่นคัน อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป เวียนศีรษะ บ้านหมุน ปวดเสียดท้อง หายใจลำบากหรือกดการหายใจ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยาในกลุ่มนี้เป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้ร่างกายชินต่อยา จึงต้องเพิ่มปริมาณยาให้สูงขึ้นเพื่อรักษาอาการปวดที่เป็นอยู่ และหากหยุดใช้ยาอย่างฉับพลันก็อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการถอนยา เช่น กระสับกระส่าย วิตกกังวล ปวดกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ น้ำมูกไหล เหงื่อออก หาว ปวดเกร็งหน้าท้อง ท้องเสีย รูม่านตาขยาย ขนลุก คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้น อาการทวีความรุนแรง หรือพบผลข้างเคียงอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที