Codeine (โคเดอีน)

Codeine (โคเดอีน)

Codeine (โคเดอีน) คือ ยาที่ใช้ระงับอาการไอและบรรเทาอาการปวดเรื้อรังระดับปานกลางขึ้นไป ในกรณีที่ยาแก้ปวดทั่วไป เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ไม่สามารถบรรเทาอาการได้ Codeine จัดอยู่ในกลุ่มยาโอปิออยด์ (Opioids/Narcotics) ทำหน้าที่ลดอาการปวด โดยจับกับตัวรับโอปิออยด์ (Opioid Receptors) ในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งคือสมองและไขสันหลัง และมักใช้ร่วมกับพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดอื่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวด ผู้ป่วยอาจมีอาการง่วงซึม หรือหายใจช้าลงเนื่องจากฤทธิ์ของยาได้หากได้รับยามากเกินไป

540Codeine

เกี่ยวกับยา Codeine

กลุ่มยา ยาระงับอาการไอและบรรเทาอาการปวดเรื้อรังระดับปานกลางขึ้นไป
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ระงับอาการไอ และบรรเทาอาการปวดตั้งแต่ระยะเริ่มต้น รุนแรงหรือเรื้อรัง
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
รูปแบบของยา ยารับประทาน และสารละลาย

คำเตือนในการใช้ยา Codeine

  • ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติการแพ้ยา และการใช้ยาหรืออาหารเสริมต่าง ๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะหากใช้ยาโอปิออยด์ (Opioid/Narcotic) ยาแก้ไอ ยาคลายเครียด ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยารักษาอาการทางจิตเวช (Antipsychotic) หรือยากล่อมประสาท (Sedative) เช่น Diazepam, Alprazolam หรือ Lorazepam เป็นต้น เนื่องจากการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับ Codeine อาจส่งผลข้างเคียงรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากผู้ป่วยกำลังเข้ารับการรักษาโรคพาร์กินสัน โรคไมเกรน ภาวะซึมเศร้า อาการผิดปกติทางจิต หรือการติดเชื้อรุนแรง เพราะอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin Syndrome)
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากเป็นโรคตับ โรคไต โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) การหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) โรคหอบหืด หรือความผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจ มีเนื้องอกในสมองหรือการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ กระดูกสันหลังคดและส่งผลต่อการหายใจ ความดันโลหิตต่ำหรือภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ โรคลมชัก ลำไส้อักเสบ กระเพาะอาหารหรือลำไส้อุดตัน ความผิดปกติที่ถุงน้ำดีหรือตับอ่อน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis) ภาวะไทรอยด์ต่ำ (Underactive Thyroid) โรคแอดดิสัน (Addison's Disease) หรือความผิดปกติที่ต่อมหมวกไต (Adrenal Gland) ภาวะต่อมลูกหมากโตหรือปัญหาเกี่ยวกับระบบปัสสาวะ อาการผิดปกติทางจิต หรือประวัติการติดยาหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ห้ามใช้ Codeine ในผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ และไม่ควรใช้ในผู้มีภาวะลำไส้ไม่ทำงาน (Paralytic Ileus) หรือความผิดปกติเกี่ยวกับการระบบหายใจ เช่น โรคหอบหืด (Asthma) หรือภาวะหายใจเร็ว (Hyperventilation) เป็นต้น
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในเด็กที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) และควรรีบติดต่อแพทย์ทันที หากพบเห็นบุตรหลานมีอาการหายใจผิดปกติ ริมฝีปากคล้ำ หรือหลับลึกจนไม่สามารถปลุกให้ตื่นได้
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เนื่องจากยานี้อาจกระทบต่อทารกในครรภ์ และควรงดให้นมบุตรขณะใช้ยานี้ เพราะ Codeine สามารถซึมผ่านน้ำนมมารดาไปยังทารก และอาจส่งผลรุนแรงจนเสียชีวิตได้
  • การใช้ยาเกินขนาด หรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อาจทำให้เกิดการติดยา หรือเสียชีวิต เนื่องจาก Codeine อาจชะลออัตราการหายใจ หรือส่งผลให้ผู้ป่วยหยุดหายใจได้

ปริมาณการใช้ยา Codeine

รักษาอาการไอ

เด็กอายุ 2-5 ปี ปริมาณ 3 มิลลิกรัม รับประทาน 3-4 ครั้งต่อวัน

เด็กอายุ 6-12 ปี ปริมาณ 7.5-15 มิลลิกรัม รับประทาน 3-4 ครั้งต่อวัน

ผู้ใหญ่ ปริมาณ 15-30 มิลลิกรัม รับประทาน 3-4 ครั้งต่อวัน

บรรเทาอาการปวดระดับปานกลาง

เด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี ปริมาณ 0.5-1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม รับประทานทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 240

มิลลิกรัมต่อวัน

ผู้ใหญ่ ปริมาณ 15-60 มิลลิกรัม รับประทานทุก ๆ 4 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 360 มิลลิกรัมต่อวัน

การใช้ยา Codeine

  • ควรใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาในปริมาณมากหรือเป็นเวลานาน เพราะอาจส่งผลให้เกิดภาวะดื้อยา และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการปวดไม่ดีขึ้น หรือมีความจำเป็นต้องหยุดยาหรือใช้ยาระบาย
  • ควรดื่มน้ำสะอาด 6-8 แก้วต่อวันเพื่อป้องกันอาการท้องผูก ซึ่งเป็นผลจากการใช้ยา
  • ควรใช้ช้อนหรือถ้วยตวงที่ใช้สำหรับตวงยาเท่านั้น เพื่อปริมาณยาที่ถูกต้อง
  • ผู้ป่วยอาจมีอาการง่วงซึมรุนแรงจากฤทธิ์ของยา ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ กระทบต่อการตัดสินใจหรือปฏิกิริยาต่าง ๆ จึงควรระมัดระวังหากต้องใช้เครื่องจักรหรือขับขี่ยานพาหนะ และห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาร่วมกับยาจนทำให้เสียชีวิตได้
  • การใช้ยาเกินขนาดอาจส่งผลให้อัตราการหายใจและการเต้นของหัวใจช้าลง ม่านตาเล็กลง ง่วงซึมมาก ผิวแตกลอก กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นลม หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้โดยเฉพาะในเด็ก
  • กรณีลืมรับประทานยา ผู้ป่วยสามารถรอรับประทานยาได้ในรอบถัดไป โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยา และห้ามแบ่งหรือใช้ยานี้ร่วมกับผู้อื่น
  • ควรเก็บยานี้ไว้ในภาชนะปิดที่อุณหภูมิห้องห่างจากความร้อน ความชื้น และแสงสว่าง โดยเก็บให้พ้นมือเด็กและทิ้งยาที่ไม่ใช้ เพื่อป้องกันการยาใช้เกินขนาดทั้งจากตนเองและผู้อื่น

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Codeine

ยานี้อาจแสดงผลข้างเคียงในผู้ป่วยสูงอายุมากกว่าผู้ป่วยในวัยอื่น แต่หากพบเห็นบุตรหลานหายใจดัง จังหวะช้าลงหรือเว้นช่วงหายใจนาน ริมฝีปากคล้ำ หรือมีภาวะหลับลึก และไม่สามารถปลุกให้ตื่นได้ ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

ผลข้างเคียงทั่วไปของ Codeine ได้แก่

  • ปวดท้อง หรือท้องผูก
  • มึนงง หรือง่วงซึมเล็กน้อย
  • มีผื่นขึ้นตามผิวหนังได้เล็กน้อย
  • เหงื่อออกมาก
  • คลื่นไส้ หรืออาเจียน

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ และผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์หรือแจ้งให้แพทย์ทราบ คือ

  • หน้ามืด อ่อนเพลีย เหนื่อยมาก คลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากอาหาร หรือมึนงง
  • หายใจตื้น หัวใจเต้นช้าและชีพจรอ่อนลง
  • มีอาการชัก หรือเป็นลม
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ
  • ประจำเดือนขาด หรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • สับสน กระสับกระส่าย คิดหรือแสดงพฤติกรรมต่างไปจากปกติ หรือเห็นภาพหลอน

ผลข้างเคียงรุนแรง และผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์ทันที

  • มีอาการแพ้ยา เช่น มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้นหรือลำคอ ลมพิษขึ้นตามผิวหนัง หายใจติดขัด
  • มีกลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin Syndrome) เช่น เห็นภาพหลอน กระสับกระส่าย มีไข้ หนาวสั่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก กล้ามเนื้อตึง คลื่นไส้ อาเจียนหรือท้องเสีย เป็นต้น