มือเท้าชา อันตรายหรือไม่ ?

โดยทั่วไป มือเท้าชาเป็นอาการที่ไม่น่ากังวลนัก เพราะอาจเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับจากการนั่งหรือการนอนในท่าเดิมเป็นเวลานาน แต่อาการชาที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังหรือมีอาการรุนแรงขึ้น อาจมีสาเหตุมาจากโรคต่าง ๆ การติดเชื้อ การได้รับสารพิษ หรือการบาดเจ็บที่ส่งผลให้ระบบประสาทเกิดความเสียหาย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างอื่นตามมาได้

1549 มือเท้าชา Resized

มือเท้าชาเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

การนั่งหรือการนอนในท่าเดิมนาน ๆ อาจทำให้เส้นประสาทบริเวณมือและเท้าถูกกดทับจนเลือดไหลเวียนไม่สะดวกและส่งผลให้เกิดอาการชาตามมา ส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตรายและจะค่อย ๆ หายไปเองเมื่อเปลี่ยนท่าทาง

อย่างไรก็ตาม หากอาการชาตามมือหรือเท้าเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง รู้สึกชารุนแรงขึ้น หรือมือเท้าชาร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ปวด คัน หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความผิดปกติของระบบประสาทที่เรียกว่าภาวะปลายประสาทอักเสบได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • โรคเบาหวาน จัดเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะปลายประสาทอักเสบ ในระยะแรกผู้ป่วยมักรู้สึกชาบริเวณเท้าทั้ง 2 ข้างแล้วลามขึ้นไปยังขา ตามมาด้วยอาการชาบริเวณมือทั้ง 2 ข้างแล้วลามไปที่แขน
  • กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาท ประกอบด้วยอาการผิดปกติที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ เช่น โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ โรคอัมพาตเส้นประสาทพิโรเนียล โรคอัมพาตเส้นประสาทอัลนาร์ โรคอัมพาตเส้นประสาทเรเดียล เป็นต้น
  • ภาวะขาดวิตามิน วิตามินอี บี 1 บี 3 บี 6 และบี 12 ช่วยให้ระบบประสาททำงานได้เป็นปกติ โดยเฉพาะการได้รับวิตามินบี 12 ไม่เพียงพออาจส่งผลให้เกิดโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรง (Pernicious Anemia) อันเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะปลายประสาทอักเสบที่ทำให้เกิดอาการชาตามมือและเท้าได้ ในทางกลับกัน การได้รับวิตามินบี 6 มากเกินไปก็อาจส่งผลให้เกิดอาการมือเท้าชาได้เช่นกัน
  • โรคพิษสุราเรื้อรัง นอกจากการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากอย่างต่อเนื่องอาจนำไปสู่ภาวะปลายประสาทอักเสบได้แล้ว ผู้ป่วยโรคนี้มักรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ จึงอาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดวิตามินอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะปลายประสาทอักเสบได้ด้วยเช่นกัน
  • โรคติดเชื้อ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ เช่น งูสวัด เริม เอดส์ โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส โรคติดเชื้อเอ็บสไตบาร์ไวรัส เป็นต้น
  • การบาดเจ็บ เส้นประสาทอาจเกิดความเสียหายจากอาการบาดเจ็บต่าง ๆ เช่น กระดูกทับเส้น หมอนรองกระดูกเคลื่อน เป็นต้น
  • การได้รับสารพิษ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับโลหะหนักจำพวกแทลเลียม ตะกั่ว ปรอท สารหนู หรือสารเคมีชนิดต่าง ๆ ทั้งจากสิ่งแวดล้อมและโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการได้รับยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดสำหรับรักษามะเร็งปอด ยาต้านเชื้ือไวรัส ยาต้านเชื้อแบคทีเรียบางอย่าง เป็นต้น
  • โรคที่ส่งผลทั่วร่างกาย เป็นโรคหรือความผิดปกติที่ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งร่างกาย เช่น โรคไต โรคตับ โรคเลือด โรคหลอดเลือด ความผิดปกติอะไมลอยด์โดซิส (Amyloidosis) การอักเสบเรื้อรัง ภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล มะเร็ง รวมถึงเนื้องอกที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท เป็นต้น
  • โรคทางพันธุกรรม โดยเฉพาะโรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ซึ่งทำให้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวผิดปกติ เช่น โรคชาร์คอตมารีธูท (Charcot Marie Tooth Disease) เป็นต้น แต่โรคนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก
  • ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรังหรือ CIDP กลุ่มอาการกิแลงบาเร่ โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อาการชาตามมือและเท้าจากปลายประสาทอักเสบอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดได้เช่นกัน แต่หากอาการชาตามมือและเท้าส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด เพราะการปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวมือหรือเท้า และอาจร้ายแรงถึงขั้นพิการได้

มือเท้าชา รักษาอย่างไร ?

วิธีการรักษาอาการชาตามมือหรือเท้าขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการชาเป็นหลัก และความรู้สึกชาอาจค่อย ๆ หายไปเองเมื่อรักษาโรคหรือความผิดปกติดังกล่าวให้หายดี โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยมือเท้าชาปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อลดอาการชาหรือประคับประคองอาการไม่ให้รุนแรงขึ้น

  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด
  • รับประทานวิตามินเสริมเพื่อรักษาภาวะขาดวิตามิน
  • รับประทานยาสำหรับรักษาโรคลมชักหรือโรคซึมเศร้า เนื่องจากยาเหล่านี้มีสรรพคุณรักษาอาการชาได้
  • ทายาแคปไซซินซึ่งมีฤทธิ์บรรเทาอาการชาบริเวณมือหรือเท้า
  • ติดพลาสเตอร์ยาลิโดเคน ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาชาเฉพาะที่บริเวณมือหรือเท้าที่รู้สึกชาในกรณีที่มีอาการปวดร่วมด้วย

สิ่งที่ควรระวังเมื่อมีอาการมือเท้าชา

อาการชาตามมือหรือเท้าอาจทำให้ความสามารถในการรับความรู้สึกของร่างกายในบริเวณดังกล่าวลดลง จึงอาจไม่รู้ตัวเมื่อสัมผัสของร้อนหรือเกิดแผลตามแขนขา ดังนั้น ผู้ที่มีอาการมือเท้าชาควรสวมถุงมือหรือถุงเท้ากันความร้อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดแผลพุพองจากการสัมผัสของร้อน และตรวจดูแผลหรือรอยขีดข่วนที่อาจเกิดขึ้นตามร่างกายอยู่เสมอ