รับมืออย่างไรเมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง

การได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งอาจก่อให้เกิดหลายความรู้สึก ทั้งความเครียด ความทุกข์ใจ ความหวาดกลัวและวิตกกังวลถึงการรักษาและการดูแลตนเองในอนาคต รวมทั้งอาจเกิดการตอบสนองทางกายต่อข่าวร้าย เช่น ไม่ได้ยินสิ่งที่แพทย์อธิบายหลังแจ้งผลวินิจฉัย รู้สึกหัวหมุนหรือหายใจลำบากได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนไม่น้อยไม่ทันได้ตั้งรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นจนอาจปล่อยให้สุขภาพตัวเองทรุดโทรม ทำให้อาจเสียโอกาสในการรักษามะเร็งอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น การเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อไปนี้ อาจช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับโรคมะเร็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

รับมืออย่างไรเมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง

ศึกษาข้อมูลของโรคมะเร็งที่กำลังเป็นอยู่

การทราบข้อมูลของโรคจะช่วยให้ดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม โดยผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์ถึงชนิดของมะเร็ง ระดับความรุนแรงของมะเร็ง ขนาดของก้อนเนื้องอก การกระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ วิธีการรักษาหรือบำบัด และโอกาสในรักษามะเร็งให้หายขาด  

แต่หากผู้ป่วยเกิดความไม่สบายใจ อาจแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับขอบเขตของข้อมูลที่ต้องการทราบในแต่ละครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดจนเกินไปในการพูดคุยกับแพทย์

รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

ผู้ป่วยมะเร็งควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณเหมาะสม เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ข้าวไม่ขัดสี ถั่ว ปลา เนื้อสัตว์ไร้มันหรือโปรตีนจากพืช 

รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานอาการกึ่งสุกกึ่งดิบหรืออาหารที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเลิกสูบบุหรี่เพราะการสูบบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในอวัยวะส่วนอื่น ๆ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อต่อส่วนต่าง ๆ ช่วยลดความเครียด นอนหลับได้ดี อยากอาหารมากขึ้น และช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษาได้

โดยอาจเริ่มจากการออกกำลังกายแบบเบา ๆ อย่างน้อย 10 นาทีต่อวัน แล้วค่อย ๆ เพิ่มเป็นอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน รวม 150–300 นาทีต่อสัปดาห์ตามกำลัง สำหรับการออกกำลังกายระดับปานกลางหรือระดับหนักจะอยู่ที่สัปดาห์ละ 75–150 นาที โดยให้ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ถึงความเหมาะสม 

ไม่มองข้ามการดูแลจิตใจ

การทราบว่าตนเองป่วยด้วยมะเร็งอาจทำให้รู้วิตกกังวล โดดเดี่ยว หวาดกลัว เครียด ซึมเศร้า โกรธ หรือรู้สึกผิด ซึ่งบางอารมณ์อาจไม่เคยเกิดขึ้นอย่างรุนแรงมาก่อน ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้วิธีการรับมือกับอารมณ์และความรู้สึกเหล่านี้

ผู้ป่วยสามารถรับมือกับความรู้สึกหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยการทำในสิ่งที่ตนเองรู้สึกสนุก มีความสุข ควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราควบคุมได้แทน หรือทำกิจกรรมที่ช่วยให้จิตใจสงบและไม่จดจ่อกับอาการป่วย

สิ่งสำคัญคือ ควรมีความหวังอยู่เสมอและไม่โทษตัวเองเรื่องที่เป็นมะเร็ง หากไม่สามารถรับมือกับอารมณ์เหล่านี้ได้ ก็สามารถพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม และอาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาที่ช่วยบรรเทาความเครียดได้

เตรียมความพร้อมก่อนรับการรักษา

การรักษามะเร็งทำได้หลายวิธี แตกต่างกันไปตามอาการและชนิดของมะเร็ง ก่อนจะตัดสินใจรับการรักษาใด ๆ ผู้ป่วยควรสอบถามข้อมูลการรักษาให้รอบด้าน เช่น ทางเลือกในการรักษา ผลข้างเคียงของการรักษาแต่ละชนิด หรือประสิทธิภาพในการกำจัดเซลล์มะเร็ง เพื่อเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจก่อนรับการรักษา

นอกจากเตรียมตัวเองให้พร้อมแล้ว การมีส่วนร่วมของครอบครัวหรือคนใกล้ชิดผู้ป่วยเองก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน หากทราบว่าคนใกล้ชิดเป็นมะเร็งควรให้ความช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ เช่น ช่วยเรื่องเดินทาง ซื้อของใช้จำเป็น ดูแลความเรียบร้อยของบ้าน เป็นที่พักพิงทางใจให้กับผู้ป่วย รวมถึงไปพบแพทย์พร้อมกับผู้ป่วย เนื่องจากตัวผู้ป่วยเองอาจเกิดความเครียดจนได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนได้