4 วิธีรักษาปลายประสาทอักเสบ รับมือกับอาการชาแบบง่าย ๆ ก่อนสายเกินแก้

หากมีอาการชามือหรือชาเท้าอย่าเมินเฉย ควรรีบหาวิธีรักษาปลายประสาทอักเสบ เพราะอาการชาตามปลายมือหรือปลายเท้าที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณของโรคปลายประสาทอักเสบ ซึ่งหากไม่ได้รักษาอย่างเหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวได้ อย่างไรก็ตาม โรคปลายประสาทอักเสบมีวิธีการรักษาง่าย ๆ ที่คุณสามารถทำได้เองที่บ้านหลายวิธีเลยทีเดียว

โรคปลายประสาทอักเสบเกิดจากความเสียหายของระบบประสาทส่วนปลาย ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการชาหรือเสียวแปลบบริเวณมือหรือเท้า และอาจส่งผลต่อการทำงานของร่างกายในด้านอื่น ๆ ด้วย โรคปลายประสาทอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งโรคปลายประสาทอักเสบอาจพบในผู้ป่วยเบาหวานได้มากกว่า 50% เลยทีเดียว

4 วิธีรักษาปลายประสาทอักเสบ รับมือกับอาการชาแบบง่าย ๆ ก่อนสายเกินแก้

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือผู้ที่ทำงานในท่าเดิมซ้ำ ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคปลายประสาทอักเสบเช่นเดียวกัน

อาการหรือสัญญาณที่ควรรีบรักษาปลายประสาทอักเสบ

โรคปลายประสาทอักเสบหากไม่ทำการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เส้นประสาทส่วนปลายเกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น และสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การนอนหลับ และยังอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจอีกด้วย เช่น การเกิดภาวะซึมเศร้าจากอาการของโรคปลายประสาทอักเสบที่ไม่ยอมหายไป

ผู้ป่วยโรคปลายประสาทอักเสบส่วนใหญ่มักมีอาการของโรคที่สามารถสังเกตได้ ดังต่อไปนี้

  • เกิดอาการชาหรือเสียวแปลบคล้ายโดนเข็มทิ่มบริเวณปลายมือหรือปลายเท้า
  • อาการชา เสียวแปลบ หรือปวดแสบปวดร้อนอาจลามขึ้นมาบริเวณแขนหรือขา
  • เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะบริเวณเท้า
  • สูญเสียความสมดุลของร่างกาย หรือเสียการทรงตัว
  • เกิดความเจ็บปวดเมื่อทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ปวดเท้าเมื่อลงน้ำหนัก ปวดข้อมือเมื่อใช้คอมพิวเตอร์หรือมือถือติดต่อกันเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคปลายประสาทอักเสบบางรายอาจไม่แสดงอาการในเบื้องต้น จึงควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นจะได้รับมืออย่างทันท่วงที 

วิธีดูแลรักษาปลายประสาทอักเสบแบบง่าย ๆ ที่ทำได้ที่บ้าน

ผู้ป่วยโรคปลายประสาทอักเสบที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถใช้วิธีการเหล่านี้ในการดูแลตัวเองเบื้องต้น เพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคปลายประสาทอักเสบที่เกิดขึ้นได้

1. รับประทานวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 ร่วมกัน

โรคปลายประสาทอักเสบอาจเกิดจากการได้รับวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 จากอาหารไม่เพียงพอ การรักษาจึงจำเป็นต้องใช้วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 เสริมในปริมาณที่สูง โดยขนาดการรักษาใน 1 วันที่ผู้ป่วยควรได้รับคือ วิตามินบี 1 ประมาณ 100–300 มิลลิกรัม วิตามินบี 6 ประมาณ 100–600 มิลลิกรัม และวิตามินบี 12 ประมาณ 400–2,000 ไมโครกรัม

วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 มีคุณสมบัติในการช่วยบำรุงเส้นประสาท โดยจะทำงานเสริมกันในการช่วยฟื้นฟูและซ่อมแซมเซลล์ประสาท ทำให้ระบบประสาททำงานได้เป็นปกติ จึงใช้รักษาอาการจากโรคปลายประสาทอักเสบได้ ซึ่งคุณสมบัติหรือหน้าที่ของวิตามินแต่ละชนิดมีดังนี้

  • วิตามินบี 1 ช่วยทำให้เกิดพลังงานภายในเส้นประสาท ช่วยกระตุ้นให้เกิดการทำงานของระบบประสาท
  • วิตามินบี 6 ช่วยสร้างสารสื่อประสาทในระบบประสาท ช่วยให้สามารถควบคุมการทำงานของระบบประสาทได้ดีขึ้น
  • วิตามินบี 12 ช่วยสร้างเสริมการทำงานของปลอกหุ้มประสาท ช่วยให้เซลล์ประสาทที่ถูกทำลายสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ

2. ดูแลสุขภาพเท้า

ผู้ป่วยโรคปลายประสาทอักเสบซึ่งเป็นผลมาจากโรคเบาหวานควรใส่ใจสุขภาพเท้ามากเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย การดูแลสุขภาพเท้าสามารถทำได้โดยสวมถุงเท้าผ้าฝ้ายเนื้อนุ่มอยู่เสมอเพื่อปกป้องเท้า ทาครีมบำรุงผิวที่เท้าเพื่อป้องกันไม่ให้เท้าแห้งแตก รวมถึงอาจประคบเย็นบริเวณเท้าครั้งละ 10 นาที วันละ 2 ครั้ง ทั้งตอนเช้าและตอนเย็นด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรหมั่นสังเกตรอยแผลพุพอง หรือผิวหนังที่มีลักษณะหนาและด้านซึ่งเกิดขึ้นบริเวณเท้าอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่มักส่งผลให้เกิดอาการของโรคปลายประสาทอักเสบได้ เช่น

  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือด ปัญหาเกี่ยวกับเท้า และภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับระบบประสาทอื่น ๆ 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เพราะจะส่งผลให้เกิดการขาดวิตามินบี 
  • หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง รวมทั้งการพิงหรือเท้าข้อศอก 
  • ติดตามและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองอยู่เสมอ 
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วนและหลากหลายตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ

4. ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายจะช่วยลดอาการปวดเส้นประสาทและช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยการออกกำลังกายที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคปลายประสาทอักเสบ เช่น การเดินเร็วสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที การเล่นโยคะ การรำไท้เก๊ก หรือการว่ายน้ำ

อย่างไรก็ตาม โรคปลายประสาทอักเสบในบางกรณีอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การรักษาด้วยยา การผ่าตัด การทำกายภาพบำบัด การฝังเข็ม รวมถึงการกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง ดังนั้น หากมีอาการชาผิดปกติบริเวณมือหรือเท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง เสียการทรงตัว หรือมีแผลพุพองเกิดขึ้นบริเวณเท้าและรักษาไม่หาย ควรไปพบแพทย์   

เมื่อได้ทราบวิธีดูแลรักษาปลายประสาทอักเสบง่าย ๆ ด้วยตัวเองแล้ว คุณก็จะสามารถรับมือกับอาการชามือหรือชาเท้าที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ หากต้องการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 ควรศึกษาฉลากบรรจุภัณฑ์อย่างถี่ถ้วน และเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือผลิตภัณฑ์ที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด 28 กันยายน 2566
ตรวจสอบความถูกต้องโดย กองบรรณาธิการทางการแพทย์ POBPAD

เอกสารอ้างอิง 

  • Bodman, M.A. & Varacallo, M. NCBI Bookshelf (2023). Peripheral Diabetic Neuropathy.
  • Hakim, et al., (2018). Management of peripheral neuropathy symptoms with a fixed dose combination of high-dose vitamin B1, B6 and B12: A 12-week prospective non-interventional study in Indonesia. Asian Journal of Medical Sciences, 9, pp. 32-40.
  • Rizvi A., Ahmad A. & Rizvi, Z. Efficacy of combination of vitamin B1, B6 and B12 in management of diabetic peripheral neuropathy. PJMHS 2007, 7 (3), pp. 801-804.
  • National Health Service UK (2022). Peripheral neuropathy.
  • เนติ สุขสมบูรณ์. มหาวิทยาลัยมหิดล (2022). คณะเภสัชศาสตร์. การดูแลรักษาโรคปลายประสาทอักเสบจากโรคเบาหวาน.
  • Cleveland Clinic (2022). Peripheral Neuropathy.
  • Mayo Clinic (2023). Peripheral neuropathy.
  • Carey, E. Healthline (2023). Peripheral Neuropathy.
  • Cronkleton, E. Healthline (2021). 6 Best Supplements for Neuropathy.
  • Anthony, K. Healthline (2018). Exercises for Peripheral Neuropathy.