ประจำเดือนไม่มา (Missed period)

ความหมาย ประจำเดือนไม่มา (Missed period)

ประจำเดือนไม่มา (Missed Period) หรือภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea) สามารถเกิดขึ้นได้ 2 กรณีคือการที่รอบเดือนครั้งแรกไม่มาเมื่อถึงวัยเจริญพันธ์ ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 10-15  ปี หรือการที่เคยมีรอบเดือนแต่รอบเดือนไม่มาตามปกติ ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากความผิดปกติของระบบการทำงานของร่างกาย ระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุล หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

เพศหญิงส่วนใหญ่จะมีประจำเดือนประมาณ 11–13 ครั้งต่อปี โดยรอบเดือนปกติจะมีระยะเวลาประมาณ 28 วัน แต่ในช่วง 2–3 ปีแรกของการมีประจำเดือน ประจำเดือนอาจมาไม่สม่ำเสมอเพราะร่างกายต้องใช้เวลาในการปรับระดับฮอร์โมนที่ควบคุมการมีประจำเดือนให้สมดุล

ประจำเดือนไม่มา

ทั้งนี้ การขาดประจำเดือนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นประจำเดือนก็กลับมาเป็นปกติ ถือเป็นเรื่องทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้ในเพศหญิงหลายคน แต่ผู้ที่ประจำเดือนไม่มาตามกำหนดบ่อยครั้ง หรือมีรอบเดือนนานเกิน 35 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

สาเหตุของอาการประจำเดือนไม่มา

อาการประจำเดือนไม่มาเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจเกิดจากความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย กิจวัตรในชีวิตประจำวัน ระดับฮอร์โมนในร่างกาย หรือการใช้ยาบางอย่าง สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มาแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ สาเหตุที่พบได้ทั่วไปและสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย มีรายละเอียดดังนี้

สาเหตุที่พบได้ทั่วไปของอาการประจำเดือนไม่มา ได้แก่

  • การตั้งครรภ์
  • การเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง 
  • การมีระดับฮอร์โมนไม่สมดุล
  • การมีน้ำหนักเพิ่มหรือลดมากเกินไป
  • การออกกำลังกายมากเกินไป
  • ความเครียด
  • การรับประทานยาคุมกำเนิด
  • โรคไทรอยด์
  • การมีกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS)

สาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยของอาการประจำเดือนไม่มา ได้แก่

  • ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด หรือภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนกำหนด (Premature Ovarian Failure)
  • การท้องนอกมดลูก
  • ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น วัณโรค โรคลำไส้แปรปรวน โรคตับ โรคเบาหวาน เนื้องอก การติดเชื้อที่มดลูก รวมถึงภาวะพังผืดในโพรงมดลูก (Asherman Syndrome) ซึ่งเกิดจากการขูดมดลูก
  • โรคทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome)

อาการประจำเดือนไม่มา

ลักษณะของอาการประจำเดือนไม่มาจะมี  2 กรณี ได้แก่ ภาวะขาดประจำเดือนปฐมภูมิ และภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • ภาวะขาดประจำเดือนปฐมภูมิ (Primary Amenorrhea) คือภาวะที่ไม่เคยมีประจำเดือนเมื่ออายุถึง 15 ปี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเพศหญิงจะเริ่มมีรอบเดือนเมื่ออายุประมาณ 12 ปี
  • ภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิ (Secondary Amenorrhea) คือภาวะที่ประจำเดือนขาดไปอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิถือเป็นภาวที่พบได้บ่อย

อย่างไรก็ตาม ภาวะขาดประจำเดือนปฐมภูมิและภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิ สามารถรักษาให้หายและสามารถกลับมามีประจำเดือนได้ตามปกติ

อาการประจำเดือนไม่มาที่ควรไปพบแพทย์

ผู้ที่มีอาการประจำเดือนไม่มาโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์ทันที รวมถึงผู้ที่มีเงื่อนไขสุขภาพดังต่อไปนี้ด้วย

  • ผู้ที่มีอาการปวดท้องน้อย และคาดว่าอาจตั้งครรภ์
  • ผู้ที่ใช้ที่ตรวจการตั้งครรภ์และพบว่าตนเองท้อง หรือผู้ที่คาดว่าอาจตั้งครรภ์แม้ที่ตรวจครรภ์จะแสดงผลว่าไม่ได้ท้อง
  • ผู้ที่ประจำเดือนไม่มาเป็นเวลา 2 เดือนโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ผู้ที่ประจำเดือนไม่มาเป็นเวลา 2 เดือน ระหว่างรับประทานยาคุมกำเนิด แม้ว่าจะรับประทานยาคุมกำเนิดครบทุกเม็ด
  • วัยรุ่นอายุ 16 ปี ที่ประจำเดือนครั้งแรกยังไม่มา
  • วัยรุ่นอายุ 14 ปี ที่ไม่ปรากฏสัญญาณของการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เช่น มีหน้าอก มีขนขึ้นบริเวณรักแร้และอวัยวะเพศ
  • ผู้ที่ประจำเดือนขาดก่อนอายุครบ 45 ปี
  • ผู้ที่ยังมีประจำเดือนอยู่เมื่ออายุ 55 ปี

การวินิจฉัยอาการประจำเดือนไม่มา

แพทย์จะตรวจร่างกายและถามคำถามเพื่อวินิจฉัยสาเหตุ เช่น ความปกติของรอบเดือน ประวัติการรักษาทั่วไป ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน และอาการที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ แพทย์อาจตรวจการตั้งครรภ์สำหรับผู้ที่ประจำเดือนไม่มาเป็นเวลา 3 เดือนด้วย

โดยการวินิจฉัยอาการประจำเดือนไม่มา มีดังนี้

  • การตรวจเลือด เพื่อดูระดับฮอร์โมนในร่างกายของผู้ป่วย โดยจะดูฮอร์โมนโพรแลกติน (Prolactin) ลูทิไนซิงฮอร์โมน (Luteinizing Hormone) และฟอลลิเคิลสติมิวเลติงฮอร์โมน (Follicle Stimulating Hormone: FSH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับรอบเดือนผู้หญิง
  • การตรวจอัลตราซาวด์บริเวณรังไข่และมดลูก เพื่อหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในอวัยวะดังกล่าว
  • การทำซีทีสแกน เพื่อตรวจหาเนื้องอกที่อาจเกิดขึ้นภายในต่อมหรืออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย

การรักษาอาการประจำเดือนไม่มา

วิธีรักษาอาการประจำเดือนไม่มาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะขาดประจำเดือน ผู้ที่ประจำเดือนไม่มาโดยมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ จะได้รับการรักษาที่แตกต่างกันไป ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • ผู้ที่ประจำเดือนไม่มาจากปัญหาฮอร์โมนไม่สมดุล จะได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนเสริมหรือฮอร์โมนสังเคราะห์ เพื่อช่วยปรับระดับฮอร์โมนให้เป็นปกติ
  • ผู้ที่ประจำเดือนไม่มาจากภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ จะได้รับการรักษาด้วยยาคุมกำเนิดแบบเม็ดหรือยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อช่วยรักษาอาการ
  • ผู้ที่ประจำเดือนไม่มาจากภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด จะได้รับการรักษาด้วยยาคุมกำเนิดแบบเม็ดหรือกลุ่มยาฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy: HRT)
  • ผู้ที่ประจำเดือนไม่มาจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป จะได้รับยาที่ช่วยหยุดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ของต่อมไทรอยด์เพื่อรักษาอาการของโรค

ภาวะแทรกซ้อนของอาการประจำเดือนไม่มา

ในบางกรณี อาการประจำเดือนไม่มาสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้ เช่น โรคกระดูกพรุนหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมีสาเหตุมาจากขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน อาการปวดกระดูกเชิงกราน ซึ่งมีสาเหตุมาจากโครงสร้างอวัยวะภายในที่ส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา นอกจากนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะมีบุตรยากหรือปัญหาในการตั้งครรภ์อื่น ๆ ด้วย

การป้องกันอาการประจำเดือนไม่มา

ผู้ที่ประจำเดือนไม่มาโดยมีสาเหตุมาจากการใช้ชีวิตประจำวันหรือความเครียด อาจป้องกันหรือแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้ชีวิตเพื่อให้ร่างกายและอารมณ์กลับมาเป็นปกติ รวมถึงพักผ่อนให้เพียงพอและจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม 

ส่วนผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักตัว ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการเพื่อช่วยแนะนำหลักการควบคุมน้ำหนักที่ถูกต้อง โดยรับประทานอาหารให้ครบถ้วนและสมดุล และรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ทั้งนี้ หากผู้ที่ประจำเดือนไม่มาและสงสัยว่าอาจเกิดจากการตั้งครรภ์ สามารถทดสอบได้ด้วยตนเองหรือไปพบแพทย์ และหากตั้งครรภ์ควรดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และอาหารเสริมที่มีกรดโฟลิค รวมถึงควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพครรภ์ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และการใช้สารเสพติดด้วย