รู้จักยาโฟลิค ประโยชน์และข้อควรระวังในการใช้

ยาโฟลิคหรือกรดโฟลิค เป็นวิตามินบี 9 ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง และช่วยบำรุงสมอง ซึ่งร่ายกายของคนเราไม่สามารถสังเคราะห์กรดโฟลิคได้ จึงต้องรับประทานจากอาหารบางชนิด เช่น ผักใบเขียว ตับ ไข่ หรือนม แต่ในผู้ได้รับกรดโฟลิคจากอาหารไม่เพียงพออาจจำเป็นต้องรับประทานกรดโฟลิคเสริมในรูปแบบของยาโฟลิคชนิดเม็ดแทน

ยาโฟลิคมักเป็นวิตามินบำรุงที่แพทย์สั่งจ่ายให้แก่ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์เพื่อรับประทานเสริม เพราะในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ร่างกายจะต้องการกรดโฟลิคเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งกรดโฟลิคยังมีคุณสมบัติในการช่วยพัฒนาระบบประสาทส่วนกลางของเด็กทารก และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะพิการแต่กำเนิดของทารกแรกคลอดได้ด้วย

ยาโฟลิค

รู้จัก 4 ประโยชน์ต่อสุขภาพของยาโฟลิค

ยาโฟลิคหรือกรดโฟลิค มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ดังนี้

1. ช่วยป้องกันภาวะพิการแต่กำเนิดในเด็กทารก

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับกรดโฟลิคในปริมาณที่เพียงพอจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาสมอง กระโหลกศีรษะ และไขสันหลังของทารกในครรภ์ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะพิการแต่กำเนิดที่เกี่ยวกับสมองและไขสันหลังของเด็กทารก เช่น โรคสไปนา ไบฟิดา (Spina Bifida) และภาวะกะโหลกศีรษะไม่ปิด (Anencephaly) รวมถึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษด้วย

2. ช่วยรักษาหรือป้องกันภาวะขาดโฟเลต 

ยาโฟลิคมีประโยชน์ในการใช้รักษาหรือป้องกันภาวะขาดโฟเลต รวมถึงโรคโลหิตจางจากการขาดโฟเลตด้วย ซึ่งผู้ที่มีภาวะขาดโฟเลตมักเกิดจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคลำไส้อักเสบ หรือความผิดปกติเกี่ยวกับไต ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมกรดโฟลิคจากอาหารได้ตามปกติ และจำเป็นต้องรับประทานยาโฟลิคชนิดเม็ดทดแทน

3. ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

กรดโฟลิคหรือวิตามินบี 9 จะทำงานร่วมกับวิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 ในการควบคุมระดับของสารโฮโมซิสเทอีน (Homocysteine) ในเลือดไม่ให้สูงเกินไป เพราะหากระดับของสารโฮโมซิสเทอีนในเลือดสูงเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease) รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) จนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 

4. ช่วยรักษาปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต

กรดโฟลิคอาจมีคุณสมบัติในการช่วยรักษาปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว รวมถึงโรคจิตเภทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแพทย์จะสั่งจ่ายยาโฟลิคร่วมกับยาต้านเศร้าชนิดอื่น ๆ ให้แก่ผู้ป่วย เพื่อให้ตัวยาช่วยปรับสารเคมีในสมองให้อยู่ในระดับปกติ และสามารถบรรเทาอาการทางจิตที่เกิดขึ้นได้

ข้อควรระวังในการรับประทานยาโฟลิค

ผู้ที่รับประทานยาโฟลิค ควรศึกษาข้อควรระวังในการรับประทานอย่างถี่ถ้วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพที่ร้ายแรงตามมา ข้อควรระวังในการรับประทานยาโฟลิคมีดังนี้

  • ปริมาณของกรดโฟลิคที่ร่างกายควรได้รับต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 400 ไมโครกรัม ส่วนในกรณีของผู้ที่วางแผนที่จะตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ ควรได้รับประมาณวันละ 400–1,000 ไมโครกรัม
  • ควรรับประทานยาโฟลิคตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่รับประทานยามากกว่าหรือน้อยกว่าที่แพทย์กำหนด เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
  • การรับประทานยาโฟลิคอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น รู้สึกไม่สบาย เมื่อยล้า เบื่ออาหาร ท้องอืด หรือคลื่นไส้ แต่หากมีผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือมีอาการแพ้ยาเกิดขึ้นควรไปพบแพทย์
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยโรคโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ไม่ได้มีภาวะขาดโฟเลตร่วมด้วย หรือผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต อาจไม่สามารถรับประทานยาโฟลิคได้
  • หากมีอาการแพ้ยาใด ๆ ก็ตาม หรือกำลังใช้ยาชนิดอื่นอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาโฟลิค
  • ยาบางชนิดไม่สามารถรับประทานร่วมกับยาโฟลิคได้ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) ยาคอเลสไทรามีน (Cholestyramine) ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) หรือยาต้านอาการชักบางชนิด
  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างการรับประทานยาโฟลิค เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาโฟลิคลดลงได้

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงมากที่สุดในการใช้ยาโฟลิคก็คือประโยชน์ต่อสุขภาพจากการใช้ยาและความปลอดภัยต่อร่างกาย ดังนั้น ผู้ที่ใช้ยาโฟลิคจึงควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพสูงสุด และลดความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบต่อร่างกายตามมา