รู้ไว้ก่อนไปอัลตราซาวด์ (Ultrasound)

อัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงจับภาพอวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย และแม้หลายคนจะคุ้นเคยว่าการอัลตราซาวด์เป็นการตรวจดูทารกในครรภ์ แต่แท้จริงแล้วยังสามารถใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคหรือเป็นเครื่องมือช่วยให้ศัลยแพทย์เห็นภาพร่างกายขณะผ่าตัดได้

โดยในบทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับการอัลตราซาวด์ให้มากขึ้น เช่น วัตถุประสงค์ในการใช้ ขั้นตอนการอัลตราซาวด์ การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการอัลตราซาวด์ รวมทั้งความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการอัลตราซาวด์

รู้ไว้ก่อนไปอัลตราซาวด์ (Ultrasound)

ทำไมจึงเลือกใช้การอัลตราซาวด์

ข้อดีของการอัลตราซาวด์คือมักไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดขณะใช้ และไม่จำเป็นต้องใช้การฉีดยาหรือการผ่าตัดร่วม เครื่องอัลตราซาวด์ยังสามารถจับภาพเนื้อเยื่ออ่อนได้ชัดเจนกว่การเอกซเรย์ ใช้ตรวจอวัยวะต่าง ๆ ได้กว้างและยังเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจน้อยกว่าวิธีอื่น ๆ นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการอัลตราซาวด์ไม่ต้องเผชิญกับรังสี จึงมีความปลอดภัยมากกว่าการตรวจที่ใช้รังสี เช่น การตรวจเอกซเรย์และซีที สแกน (CT Scan)

ทั้งนี้ การอัลตราซาวด์อาจมีข้อจำกัดในด้านของคุณภาพของภาพที่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยคลื่นเสียงจะไม่สามารถทะลุผ่านร่างกายได้ลึกนัก การถ่ายภาพในคนไข้ที่มีภาวะอ้วนหรือการถ่ายภาพกระดูกที่มีความหนาแน่นสูงจึงอาจทำได้ยาก 

นอกจากนี้ร่างกายหรืออวัยวะส่วนที่มีแก๊สมาบดบังก็อาจมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ความแม่นยำของการตรวจอัลตราซาวด์ยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ทำอัลตราซาวด์เป็นสำคัญ จึงควรต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญในการใช้เครื่องอัลตราซาวด์

วัตถุประสงค์ของการอัลตราซาวด์

การอัลตราซาวด์มักถูกนำมาใช้ในกรณีต่อไปนี้

การตรวจครรภ์

การอัลตราซาวด์มีประโยชน์ต่อการตรวจครรภ์หลายอย่าง ในระยะแรกอาจใช้เพื่อคำนวณวันคลอด ดูว่าเป็นลูกแฝดหรือไม่ รวมถึงการตรวจดูการตั้งครรภ์นอกมดลูก ช่วยตรวจปัญหาขณะตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ความพิการแต่กำเนิดของทารก ความผิดปกติของรก ทารกไม่กลับหัว 

นอกจากนี้ พ่อแม่หลายคนที่ต้องการรู้ว่าเพศของลูกเป็นหญิงหรือชาย การตรวจอัลตราซาวด์สามารถช่วยบอกได้ ส่วนในภาวะคลอดก่อนกำหนด แพทย์ยังอาจใช้เครื่องมือนี้ช่วยประเมินน้ำหนักตัวของทารกได้ด้วย

การตรวจวินิจฉัยโรค 

การวินิจฉัยภาวะผิดปกติที่กระทบต่ออวัยวะและเนื้อเยื่ออ่อนภายในร่างกายจำนวนมากสามารถทำได้ด้วยการอัลตราซาวด์ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ หลอดเหลือด ตับ ถุงน้ำดี ม้าม ตับอ่อน ไต กระเพาะปัสสาวะ มดลูก รังไข่ ดวงตา ต่อมไทรอยด์ หรือลูกอัณฑะ แต่ก็มีข้อจำกัดต่อการวินิจฉัยบริเวณกระดูกที่มีความหนาแน่นหรือส่วนของร่างกายที่อาจประกอบด้วยอากาศหรือแก๊ส ซึ่งอาจทำได้ไม่ดีนัก เช่น สมอง กระดูกสันหลัง ลำไส้

การใช้ในกระบวนการทางการแพทย์ 

กระบวนการต่าง ๆ เช่น การตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจ อาจต้องใช้เครื่องอัลตราซาวด์เข้าช่วย เนื่องจากในกระบวนการนี้เป็นการตัดเนื้อเยื่อจากพื้นที่ที่ต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ การอัลตราซาวด์จะช่วยให้แพทย์เห็นภาพอวัยวะบริเวณนั้น ๆ และดำเนินการได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

การบำบัดรักษาโรค 

บางครั้งเครื่องอัลตราซาวด์อาจใช้ตรวจและรักษาเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียหายได้

กระบวนการอัลตราซาวด์

กระบวนการในการอัลตราซาวด์มีขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การเตรียมตัว ขั้นตอนในช่วงการอัลตราซาวด์ ไปจนถึงภายหลังการตรวจ ดังต่อไปนี้

การเตรียมตัวก่อนตรวจอัลตราซาวด์

การเตรียมตัวก่อนอัลตราซาวด์ขึ้นอยู่กับว่าเป็นการอัลตราซาวด์ที่อวัยวะหรือบริเวณใดในร่างกาย ซึ่งแพทย์อาจแนะนำข้อปฏิบัติก่อนการอัลตราซาวด์ที่จะช่วยให้มองเห็นภาพอัลตราซาวด์ส่วนนั้น ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

บางกรณีคนไข้อาจต้องอดอาหารเป็นเวลา 6–8 ชั่วโมงก่อนการตรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการตรวจช่องท้อง เนื่องจากอาหารที่ยังย่อยไม่หมดอาจกีดขวางคลื่นเสียง ทำให้ไม่สามารถได้ภาพที่ชัดเจน

ส่วนการตรวจถุงน้ำดี ตับ ตับอ่อน หรือม้าม แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารปลอดไขมันในมื้อเย็นของวันก่อนเข้ารับการตรวจและอดอาหารจนถึงการตรวจ ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำและรับประทานยาได้ตามปกติ ส่วนการตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจครรภ์หรือตรวจเชิงกราน อาจแนะนำให้ดื่มน้ำอย่างน้อย 4-6 แก้วในช่วง 1-2 ชั่วโมงก่อนการตรวจ และห้ามปัสสาวะจนกว่าการจะอัลตราซาวด์เสร็จเรียบร้อย

การตรวจอัลตราซาวด์

การตรวจบางส่วนของร่างกายอาจจำเป็นต้องถอดเสื้อผ้าแล้วใส่เสื้อคลุมของทางโรงพยาบาลแทน ในกรณีของผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาระงับความรู้สึกช่วยให้ผ่อนคลายจะให้ผ่านทางสายน้ำเกลือที่บริเวณหลังมือหรือแขน รวมทั้งอาจได้รับการฉีดสารทึบรังสีก่อนการตรวจเพื่อให้ภาพอัลตราซาวด์ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย

การอัลตราซาวด์ส่วนใหญ่ใช้เวลา 15–45 นาที ซึ่งมักจะทำโดยแผนกรังสีวิทยาโดยนักรังสีเทคนิค แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เช่น พยาบาลผดุงครรภ์หรือนักกายภาพบำบัดที่ได้รับการฝึกให้สามารถใช้เครื่องอัลตราซาวด์ได้ ซึ่งการสแกนอัลตราซาวด์ในแต่ละส่วนของร่างกายอาจมีวิธีแตกต่างกันไป ดังนี้

การตรวจอัลตราซาวด์ภายนอก 

มักใช้บ่อยในการตรวจหัวใจหรือทารกที่อยู่ในครรภ์ นอกจากนี้ยังอาจใช้ตรวจตับ ไต และอวัยวะอื่น ๆ ในช่องท้องและเชิงกราน รวมถึงอวัยวะหรือเนื้อเยื่อใด ๆ ก็ตามที่สามารถประเมินความผิดปกติผ่านผิวหนัง เช่น กล้ามเนื้อ ข้อต่อ 

การตรวจอัลตราซาวด์ภายนอกเริ่มด้วยการทาเจลหล่อลื่นลงบนผิวหนังเพื่อให้หัวตรวจเคลื่อนตัวได้อย่างลื่นไหล เจลนี้ยังช่วยให้แน่ใจได้ว่าหัวตรวจสัมผัสกับผิวหนังอย่างต่อเนื่อง จากนั้นจึงวางหัวตรวจลงบนผิวหนังแล้วเลื่อนไปรอบ ๆ บริเวณที่ต้องการตรวจ

ผู้ที่เข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์จะไม่รู้สึกอะไรนอกจากการสัมผัสได้ถึงตัวเซนเซอร์ของอุปกรณ์และเจลบนผิวหนังที่มักให้ความรู้สึกเย็น หากเป็นการตรวจครรภ์หรือตรวจเชิงกราน แพทย์มักให้ดื่มน้ำจนเต็มกระเพาะซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวขณะตรวจ และจะสามารถปัสสาวะได้เมื่อการตรวจเสร็จสิ้นแล้ว

การตรวจภายในด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ 

เป็นวิธีการตรวจที่จะช่วยให้แพทย์มองเห็นอวัยวะภายใน เช่น ต่อมลูกหมาก รังไข่ หรือครรภ์ในระยะใกล้ยิ่งขึ้น โดยการสอดอุปกรณ์อัลตราซาวด์เข้าไปทางช่องคลอดหรือทวารหนัก

ระหว่างการตรวจชนิดนี้ คนไข้อาจนอนหงายหรือนอนตะแคงเข่าชันเข้าชิดหน้าอก หรือนอนบนขาหยั่ง จากนั้นแพทย์จะนำเครื่องอัลตราซาวด์ขนาดเล็กที่ถูกทำให้ปลอดเชื้อแล้วใส่เข้าไปในช่องคลอดหรือทวารหนักเบา ๆ เครื่องมือดังกล่าวจะถ่ายทอดภาพไปยังจอมอนิเตอร์ แม้ว่าการตรวจชนิดนี้อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว แต่ก็ไม่ได้ทำให้เจ็บปวดหรือใช้เวลานานแต่อย่างใด

การตรวจส่องกล้องติดอัลตราซาวด์ 

หัวตรวจของการอัลตราซาวด์ชนิดนี้จะถูกติดไว้กับท่อบาง ๆ ที่มีความยืดหยุ่นและส่งเข้าไปภายในร่างกาย โดยปกติมักใส่ทางปาก เพื่อตรวจดูร่างกายบริเวณต่าง ๆ เช่น ท้อง หลอดอาหาร

แพทย์มักให้นอนตะแคงขณะใส่กล้องลงไปยังท้อง โดยกล้องนี้ประกอบด้วยแสงไฟและอุปกรณ์อัลตราซาวด์ที่ส่วนปลาย และสร้างภาพขึ้นด้วยวิธีเดียวกับการตรวจอัลตราซาวด์ภายนอก

ก่อนสอดกล้อง ผู้ป่วยมักจะได้รับยาระงับความรู้สึกเพื่อให้อยู่ในความสงบและฉีดสเปรย์ยาชาเฉพาะส่วนที่ลำคอ เนื่องจากการตรวจวิธีนี้อาจทำให้ไม่สบายตัวหรือเกิดความรู้สึกระคายเคืองในทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังอาจจำเป็นต้องใส่ฟันยางเพื่อให้อ้าปากค้างไว้ได้ และป้องกันฟันไม่ให้ไปกัดโดนอุปกรณ์ส่องกล้อง

หลังการตรวจอัลตราซาวด์

การอัลตราซาวด์มักไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ และสามารถกลับบ้านได้ทันที กรณีที่ไม่มีการใช้ยาระงับความรู้สึก ผู้ป่วยจะสามารถขับรถ ดื่มน้ำ รับประทานอาหาร และทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามปกติได้ 

แต่หากได้รับยาระงับความรู้สึกระหว่างการตรวจนี้ แพทย์มักแนะนำให้พักฟื้นที่โรงพยาบาลสัก 2–3 ชั่วโมงจนกว่าฤทธิ์ยาจะบรรเทาลง โดยควรให้ญาติมารับและคอยเฝ้าไข้ในระยะ 24 ชั่วโมงหลังจากนั้น อีกทั้งไม่ควรขับรถ ดื่มแอลกอฮฮล์ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรในระหว่างนี้

ผลการตรวจอัลตราซาวด์ส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่นานหลังจากการตรวจเสร็จสิ้น ส่วนมากจะมีการวิเคราะห์ภาพที่ได้จากการอัลตราซาวด์และส่งรายงานไปยังแพทย์ที่สั่งตรวจ โดยแพทย์อาจอธิบายหรือพูดคุยเกี่ยวกับผลลัพธ์การตรวจในอีกไม่กี่วันถัดมาหรือในการนัดหมายครั้งต่อไป

ผลข้างเคียงจากการตรวจอัลตราซาวด์

คลื่นเสียงที่ใช้ในการอัลตราซาวด์นั้นไม่พบว่ามีอันตรายใด ๆ ต่างจากการตรวจซีที สแกนที่ผู้ป่วยต้องเผชิญกับรังสีเอกซเรย์ ทั้งนี้การอัลตราซาวด์ภายนอกและตรวจภายในด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ยังไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือความเจ็บปวด แม้จะรู้สึกไม่สบายตัวเมื่อเครื่องมือแนบลงบนผิวหนังหรือถูกสอดเข้าสู่ร่างกายทางช่องคลอดหรือทวารหนัก

สำหรับการตรวจอัลตราซาวด์ภายใน หากผู้ป่วยเคยมีอาการแพ้น้ำยางที่ใช้เคลือบหัวตรวจควรแจ้งให้แพทย์หรือผู้ที่ทำการตรวจทราบก่อน โดยจะสามารถเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ที่ไม่เคลือบด้วยน้ำยางชนิดนี้ได้

ส่วนการอัลตราซาวด์แบบส่องกล้องอาจทำให้ไม่สบายเนื้อสบายตัวหรือเกิดผลข้างเคียงชั่วคราวตามมา เช่น อาการเจ็บคอหรือท้องอืด และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างการมีเลือดออกภายใน แต่เป็นกรณีที่พบได้ไม่บ่อย