นมผึ้ง เป็นผลผลิตที่หลั่งออกมาจากต่อมไฮโปฟาริงจ์ (Hypopharyngeal Gland) ของผึ้งงาน นมผึ้งมีลักษณะเป็นของเหลวสีขาวคล้ายน้ำนม รสหวาน มีกลิ่นเปรี้ยวเล็กน้อย เป็นอาหารหลักของผึ้งนางพญาและตัวอ่อนผึ้งเพื่อช่วยกระตุ้นในการเจริญเติบโต หลายประเทศใช้นมผึ้งในฐานะยารักษาโรค อาหารเสริม หรือแม้กระทั่งเป็นส่วนผสมของครีมบำรุงและเครื่องสำอาง
นมผึ้งมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักประมาณ 60-70% และอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น โปรตีน น้ำตาล วิตามิน เกลือแร่ และกรดอะมิโน นอกจากนี้ ยังพบสารอื่นในนมผึ้ง ได้แก่ กรดไขมันเอชดีเอ (10-Hydroxy-Trans-2-Decenoic Acid) ซึ่งเป็นสารที่มีบทบาทในการเจริญเติบโตของผึ้ง สารแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้สึกและกลไกการทำงานของร่างกาย รวมถึงฮอร์โมนเพศ เช่น เทสโทสเตอโรน โปรเจสเตอโรน เป็นต้น ทั้งนี้สถานที่ ภูมิศาสตร์ และสภาพอากาศเป็นตัวแปรที่ทำให้ส่วนประกอบของนมผึ้งแตกต่างกันออกไป หลายคนเชื่อว่าการรับประทานนมผึ้งอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการวัยทอง กระตุ้นระบบภูมิต้านทานร่างกาย รักษาเบาหวาน รวมถึงแผลเบาหวาน เป็นต้น อีกทั้งยังเชื่อกันอีกว่าหากนำนมผึ้งทาที่หนังศีรษะอาจช่วยกระตุ้นการเจริญเติบของเส้นผมอีกด้วย ซึ่งคำกล่าวอ้างเหล่านี้จะเป็นจริงหรือไม่ และมีหลักฐานทางการแพทย์มาดน้อยเพียงใดที่จะช่วยยืนยันสรรพคุณ ประโยชน์ และความปลอดภัยของนมผึ้งที่มีบทบาทหรือส่วนช่วยในการรักษาโรคเหล่านี้
ประโยชน์ของนมผึ้งที่อาจมีต่อสุขภาพ
- บรรเทาอาการวัยทอง อาการวัยทองเป็นปัญหาทางสุขภาพที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยกลางคน ส่งผลให้เกิดอาการหลายอย่าง เช่น ช่องคลอดแห้ง แสบร้อนหรือคันในช่องคลอด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น อาการดังกล่าวสามารถบรรเทาลงได้ด้วยการใช้สารหล่อลื่น แต่สารหล่อลื่นส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์ได้เพียงชั่วคราว ซึ่งนมผึ้งมีคุณสมบัติต้านจุลชีพ (Antimicrobial Activity) และมีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน จากการศึกษาโดยให้ผู้หญิงวัยทองที่แต่งงานแล้วอายุ 50-65 ปี จำนวน 90 คน กลุ่มหนึ่งใช้ครีมที่มีส่วนผสมของนมผึ้ง 15% กลุ่มหนึ่งใช้ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนชนิดครีมยี่ห้อหนึ่ง และอีกกลุ่มใช้สารหล่อลื่นทาบริเวณช่องคลอดเป็นเวลา 3 เดือน พบว่าครีมที่มีส่วนผสมของนมผึ้งมีประสิทธิภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงวัยทองได้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนชนิดครีมและสารหล่อลื่น ซึ่งจากผลการทดลองอาจกล่าวได้ว่าการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของนมผึ้งอาจมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและบรรเทาอาการวัยทองที่เกี่ยวข้องกับช่องคลอดของผู้หญิงวัยทอง และทางผู้วิจัยยังได้ระบุอีกว่าหากเพิ่มความเข้มข้นของนมผึ้งก็อาจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นได้
- ลดระดับไขมันในเลือด นมผึ้งมีส่วนประกอบของสารอาหารหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือกรดไขมันสายกลาง (Medium Chain Fatty Acid) และสารประกอบที่มีคุณสมบัติช่วยลดไขมันในเลือด ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาที่ให้ผู้หญิงวัยทองสุขภาพดีจำนวน 36 คนรับประทานนมผึ้งขนาด 150 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 เดือน โดยตรวจปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ รวมถึงระดับไขมันในเลือดทั้งก่อนและหลังการทดลอง พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในเลือดอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) ลดลง 4.1% ระดับคอเลสเตอรอลรวม (TC) ลดลง 3.09% และระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี (HDL) เพิ่มขึ้น 7.7% จากผลการทดลองอาจกล่าวได้ว่าการรับประทานนมผึ้งอาจมีส่วนช่วยลดระดับไขมันในเลือดและอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการควบคุมอาการวัยทองที่เกี่ยวข้องกับภาวะไขมันในเลือดสูง
- นอกจากนี้ ยังมีอีกการศึกษาหนึ่งที่ให้อาสาสมัครซึ่งมีภาวะไขมันในเลือดสูงชนิดไม่รุนแรงจำนวน 40 คน รับประทานนมผึ้งขนาด 350 มิลลิกรัมวันละ 9 แคปซูล เป็นเวลา 3 เดือนก็แสดงให้เห็นถึงระดับไขมันในเลือดที่ลดลงเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นฮอร์โมนเพศ (Dehydroepiandrosterone Sulphate: DHEA-S) และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้อีกด้วย
- บรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือน อาการก่อนมีประจำเดือนมักส่งผลในทางลบกับสุขภาพของผู้หญิง บางครั้งการรักษาโดยไม่ใช้ยาก็อาจช่วยบรรเทาให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้นได้ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ให้นักศึกษาแพทย์จำนวน 110 คน รับประทานนมผึ้งขนาด 1,000 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง โดยเริ่มในวันแรกที่มีประจำเดือน และรับประทานต่อเนื่องจนหมดประจำเดือนในรอบถัดไป พบว่าอาการก่อนมีประจำเดือนลดลง จากผลการทดลองอาจกล่าวได้ว่าการรับประทานนมผึ้งติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน อาจช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนได้
- รักษาแผลเบาหวาน แผลเบาหวานเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมอาการได้ไม่ดี ส่วนใหญ่จะพบแผลเบาหวานที่บริเวณเท้า โดยเฉพาะนิ้วโป้งเท้าและปลายฝ่าเท้า ซึ่งนมผึ้งประกอบไปด้วยสารประกอบฟีนอลิคทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระ โปรตีนที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย และกรดไขมันเอชดีเอ ที่ช่วยต้านเชื้อจุลินทรีย์ จึงคาดว่าอาจจะช่วยรักษาแผลเบาหวานได้ จากการศึกษาชิ้นหนึ่งให้ผู้ป่วยที่มีแผลเบาหวานที่ได้รับการรักษาหลักตามปกติ ทายาที่มีความเข้มข้นของนมผึ้ง 5% ในบริเวณที่เป็นแผลและปิดแผลด้วยแผ่นปิดแผลชนิดปลอดเชื้อเป็นเวลา 3 เดือนหรือจนกว่าแผลจะหาย และมีการประเมินผลสัปดาห์ละ 3 ครั้ง พบว่าใช้เวลาเฉลี่ย 41 วันจึงทำให้แผลหายดี และค่าเฉลี่ยของความยาว ความกว้าง และความลึกของแผลลดลงวันละ 0.35 มิลลิเมตร 0.28 มิลลิเมตร และ 0.11 มิลลิเมตรตามลำดับ จากผลการศึกษาอาจกล่าวได้ว่านมผึ้งอาจมีประสิทธิภาพเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาแผลเบาหวานควบคุ่ไปกับการรักษาหลัก อย่างไรก็ตามผลการศึกษาข้างต้นมีผู้เข้าร่วมการทดลองเพียง 8 คนซึ่งอาจจะเล็กเกินไปที่จะสรุปประสิทธิภาพของนมผึ้งในการรักษาแผลเบาหวาน
แต่การศึกษาชิ้นหนึ่งได้แสดงให้เห็นผลลัพธ์ของนมผึ้งที่ต่างกันออกไป โดยให้ผู้ที่มีแผลเบาหวานทายาซึ่งมีความเข้มข้นของนมผึ้ง 5% ในบริเวณที่เป็นแผลเป็นเวลา 3 เดือนหรือจะกว่าแผลจะหายเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่านมผึ้งมีประสิทธิภาพในการรักษาแผลเบาหวานได้มากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาหลอก
เนื่องจากการศึกษาทั้ง 2 ชิ้นข้างต้นแสดงให้เห็นผลลัพธ์ของนมผึ้งที่ตรงข้ามกัน จึงอาจยังไม่สามารถสรุปประสิทธิภาพของนมผึ้งในการรักษาแผลเบาหวานได้อย่างชัดเจน จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม
บรรเทาอาการอ่อนแรงจากโรคมะเร็ง
อาการอ่อนแรงที่มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็งเป็นผลมาจากการรักษาทั้งการฉายรังสีหรือการทำเคมีบำบัด มักส่งผลต่ออารมณ์ จิตใจ ร่างกาย และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งการรับประทานยา การบำบัด หรือการออกกำลังกายอาจช่วยบรรเทาอาการลงได้ รวมถึงการรับประทานอาหารเสริม เช่น นมผึ้งก็อาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการเช่นเดียวกัน จึงสอดคล้องกับการศึกษาหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 52 คน พบว่ากลุ่มที่รับประทานน้ำผึ้งแปรรูปและนมผึ้งขนาด 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ มีอาการอ่อนแรงจากโรคมะเร็งดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่ัรับประทานน้ำผึ้งบริสุทธิ์ อย่างไรก็ตามยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงบทบาทที่แท้จริงของนมผึ้งในการบรรเทาอาการอ่อนแรงจากโรคมะเร็ง
รักษาไข้ละอองฟาง
โรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองอย่างรุนแรงกับละอองเกสรดอกไม้หรือสารอื่น ๆทำให้ผู้ป่วยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล คันตา หูอื้อ เป็นต้น ซึ่งจากการศึกษาทดลองโดยให้เด็กอายุ 5-16 ปี ที่เป็นไข้ละอองฟาง จำนวน 80 คน กลุ่มหนึ่งรักษาด้วยการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมผึ้งและอีกกลุ่มรับประทานยาหลอกเป็นเวลา 3-6 เดือน และจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูของเกสรดอกไม้ พบว่าทั้ง 2 กลุ่มยังคงพบอาการของไข้ละอองฟาง และมีระดับความรุนแรงของอาการที่ไม่ต่างกันมากนัก จากผลการศึกษาอาจกล่าวได้ว่านมผึ้งอาจไม่มีประสิทธิภาพต่อการรักษาไข้ละอองฟางและไม่สามารถบรรเทาอาการต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้ จึงยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของนมผึ้งในการรักษาไข้ละอองฟางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ความปลอดภัยในการรับประทานนมผึ้ง
การรับประทานนมผึ้งค่อนข้างปลอดภัยหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น เลือดออกในลำไส้ ปวดท้อง หรือถ่ายเป็นเลือด เป็นต้น บางรายหากมีอาการแพ้อย่างรุนแรงอาจทำให้มีอาการหอบหืด คอบวม หรือถึงขั้นเสียชีวิต อีกทั้งการใช้นมผึ้งทาที่บริเวณผิวหนังค่อนข้างปลอดภัย แต่ไม่ควรทาบริเวณหนังศีรษะเพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ ผื่นคัน หรือมีอาการอักเสบ
ข้อควรระวังในการรับประทานนมผึ้งโดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มดังต่อไปนี้
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยของนมผึ้ง ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานนมผึ้งหากกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร
- ผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือผู้ที่มีอาการแพ้ผลิตภัณฑ์ที่มีนมผึ้งเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบ การรับประทานหรือทานมผึ้งอาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น
- ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ การรับประทานนมผึ้งอาจทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำลงมากเกินไป
- ผู้ที่อยู่ในช่วงรับประทานยารักษาโรค เช่น ยาวาร์ฟาริน เพราะการรับประทานนมผึ้งอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลฟกช้ำได้ง่าย