ทินเนอร์ สารเคมีอันตรายที่ควรระวัง

ทินเนอร์เป็นสารที่มักถูกนำมาใช้ในงานช่างต่าง ๆ อย่างช่างไม้ ช่างเหล็ก งานประดิษฐ์ หรือแม้แต่ใช้เป็นเครื่องประทินโฉมในรูปแบบสีทาเล็บหรือน้ำยาล้างเล็บ แต่รู้หรือไม่ว่า การใช้ทินเนอร์แม้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ก็อาจทำให้คุณได้รับอันตรายจากการสัมผัสหรือสูดดมอย่างไม่ตั้งใจได้

ในขณะที่การใช้ทินเนอร์ในระยะยาวนั้นสามารถส่งผลเสียได้มากกว่าที่คุณคิด ซึ่งอันตรายจากสารชนิดนี้มีอะไรบ้าง และควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีทินเนอร์เป็นส่วนผสมอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ ศึกษาได้จากบทความนี้

2105 ทินเนอร์ rs

ทินเนอร์ คือ อะไร ?

ทินเนอร์เป็นสารระเหยควบคุมตามกฎหมาย มีลักษณะเป็นของเหลวใส มีกลิ่นฉุน ภายในทินเนอร์มีสารเคมีอันตรายที่ชื่อโทลูอีนเป็นส่วนประกอบ ซึ่งสารนี้สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังและระเหยปนเปื้อนในอากาศได้

โดยทินเนอร์นั้นถูกใช้อย่างแพร่หลายในหลายอุตสาหกรรม และยังใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น น้ำยาล้างเล็บ สีทาเล็บ สีทาบ้าน กาว และสารเคลือบเงาอย่างวานิชหรือแลคเกอร์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างทั่วไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทินเนอร์และโทลูอีนในทินเนอร์จะเป็นสารเคมีอันตราย แต่ก็อาจมีคนบางกลุ่มนำทินเนอร์ไปใช้แบบผิดวิธีในรูปแบบสารเสพติดผ่านการสูดดม ซึ่งทินเนอร์เป็นสารที่สามารถเสพติดได้ง่าย และถูกจัดเป็นสารระเหยที่อันตรายที่สุดเมื่อเทียบกับสารระเหยประเภทสารอินทรีย์ทุกชนิดในกลุ่มเบนซิน

ทินเนอร์เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร ?

ทินเนอร์เป็นสารเคมีอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายคุณโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสารนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้หลายทาง ดังนี้

  • การสัมผัสทางร่างกาย เมื่อผิวหนังสัมผัสกับทินเนอร์ จะส่งผลให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีอาการแห้ง แดง ระคายเคือง รวมทั้งอาจเกิดอาการผิวหนังอักเสบได้หากผิวสัมผัสกับทินเนอร์บ่อยครั้ง นอกจากนี้ หากทินเนอร์กระเด็นหรือสัมผัสกับดวงตาจะทำให้เกิดอาการปวด แสบร้อน และมีน้ำตาไหล
  • การสูดดม จะส่งผลเสียต่อระบบประสาทและร่างกาย โดยทำให้มีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น เจ็บคอ แสบจมูก ไอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ วิงเวียน หมดสติ หรือเกิดภาวะเคลิ้มสุขที่นำไปสู่การเสพติดตามมา เป็นต้น
  • การรับประทาน ผลกระทบต่อร่างกายจากการรับประทานทินเนอร์นั้นอาจคล้ายกับการสูดดม แต่ก็อาจมีอาการเฉพาะเกิดขึ้น เช่น ปวดท้อง แสบร้อน คลื่นไส้ และอาเจียน เป็นต้น

อันตรายจากทินเนอร์

หลังจากทินเนอร์เข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้ระบบประสาทส่วนกลางเสื่อม ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาการเสื่อมนี้อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ทินเนอร์อาจทำให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ ตามมาได้ ดังนี้

ผลกระทบเฉียบพลัน

อาการที่พบอาจขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษที่ร่างกายได้รับ หากได้รับสารโทลูอีนในระดับต่ำถึงระดับกลางอาจส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และคลื่นไส้ แต่หากได้รับโทลูอีนในปริมาณมาก

สารนี้จะออกฤทธิ์กดประสาทซึ่งอาจทำให้หายใจช้าลง หัวใจเต้นช้าลง หัวใจเต้นผิดจังหวะ สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง อ่อนแรง และเสียชีวิตได้ ส่วนการรับประทานทินเนอร์อาจทำให้เกิดการอาการแน่นหน้าอก มีเลือดคั่งภายในปอด ส่งผลกดประสาทอย่างรุนแรง และทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน

นอกจากนี้ จากการทดลองกับสัตว์ยังพบว่า โทลูอีนอาจส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจของสัตว์ติดเชื้อได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ผลกระทบเรื้อรัง

เกิดจากการสัมผัสและสูดดมทินเนอร์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้สารพิษสะสมภายในร่างกายและทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายลดลงจนอาจเกิดโรคหรือความผิดปกติ ดังนี้

  • อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะเรื้อรัง
  • ระบบทางเดินหายใจส่วนบนและตาอักเสบ
  • เดินเซ สูญเสียความสามารถในการทรงตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • พูดติดขัด พูดไม่รู้เรื่อง
  • การมองเห็นและการได้ยินบกพร่อง
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย กระวนกระวาย สับสน ไม่สามารถควบคุมตนเองได้
  • สมองฝ่อ ความจำเสื่อม

ส่วนการทดลองด้านผลกระทบจากทินเนอร์ในระยะยาวที่ค้นคว้าในหนูทดลองพบว่า การสูดดมทินเนอร์ในปริมาณมากเป็นระยะเวลานานอาจเสี่ยงทำให้เยื่อหุ้มโพรงจมูก ปอด และระบบทางเดินหายใจเสื่อมและเกิดการอักเสบด้วย

ทำอย่างไรเมื่อร่างกายสัมผัสกับทินเนอร์ ?

หากได้รับทินเนอร์เข้าสู่ร่างกายหรือสัมผัสสารอันตรายนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ อาจรับมือได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

สัมผัสผิวหนัง

ถอดหรือเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนทินเนอร์ออก และล้างผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับสารนี้ด้วยน้ำเปล่าปริมาณมากหรืออาบน้ำชำระล้างร่างกาย หากมีอาการที่รุนแรงควรรีบไปพบแพทย์

เข้าสู่ดวงตา

ล้างตาด้วยน้ำสะอาดจนกระทั่งอาการปวดแสบดีขึ้น ในบางกรณีอาจต้องใช้นิ้วเปิดเปลือกตาบนและล่างให้ห่างจากกัน เพื่อชะล้างสารเคมีภายในดวงตาและใต้เปลือกตาออกไป จากนั้นให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน

สูดดม

ออกมาจากบริเวณที่มีทินเนอร์ปนเปื้อนในอากาศ จากนั้นให้หายใจเพื่อนำเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไปภายในร่างกาย หากพบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรไปพบแพทย์ทันที

รับประทาน

ให้โทรเรียกหน่วยพยาบาลหรือไปห้องฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด เนื่องจากทินเนอร์เป็นสารที่ร่างกายดูดซึมได้ดี จึงอาจทำให้เกิดอันตรายได้อย่างรวดเร็ว โดยขณะรอรถพยาบาลไม่ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียน หากผู้ป่วยมีสติให้บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดและดื่มน้ำเปล่าเป็นจำนวนมาก แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติห้ามให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารใด ๆ เด็ดขาด เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยสำลักหรืออาเจียนได้

วิธีหลีกเลี่ยงการรับสารพิษจากทินเนอร์

หากจำเป็นต้องใช้ทินเนอร์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของทินเนอร์ ควรใช้งานสารเคมีชนิดนี้อย่างระมัดระวัง และปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัย ดังนี้

  • อ่านฉลากและคู่มือการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดก่อนใช้
  • สวมเสื้อผ้าที่มิดชิดและเหมาะสมกับงาน เพื่อป้องกันร่างกายสัมผัสกับสารเคมี
  • สวมถุงมือที่ทนทานต่อทินเนอร์ขณะใช้ผลิตภัณฑ์
  • สวมแว่นตาป้องกันทุกครั้งที่ต้องใช้ทินเนอร์ เพื่อป้องกันการระเหยหรือการกระเด็นใส่ดวงตา
  • สวมหน้ากากป้องกันที่มีคุณภาพทุกครั้งเมื่อต้องทำงานที่มีการใช้ทินเนอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดมสารพิษที่อาจสะสมในร่างกายและระบบทางเดินหายใจ
  • ห้ามสูบบุหรี่ เนื่องจากสารเคมีที่ปนเปื้อนในอากาศสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยการหายใจและการสูบบุหรี่
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากงานที่ทำต้องมีการสัมผัสกับทินเนอร์เป็นประจำไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม
  • เก็บทินเนอร์ไว้ในที่ที่เหมาะสม โดยเก็บให้ห่างจากเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ระมัดระวังการทำงานที่อาจก่อให้เกิดประกายหรือเปลวไฟ เนื่องจากทินเนอร์เป็นสารเคมีที่สามารถติดไฟได้
  • แบ่งเวลาพักหายใจในบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์เป็นระยะ หากต้องทำงานในพื้นที่ที่มีการใช้สารระเหย