ผิวหนังอักเสบ

ความหมาย ผิวหนังอักเสบ

ผิวหนังอักเสบ (Dermatitis) เป็นภาวะอักเสบของผิวหนังที่เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุและหลายรูปแบบ ส่วนมากมักมีผื่นคัน บวม หรือแดงตามผิวหนัง นอกจากนี้ บางชนิดอาจเกิดเป็นแผลพุพอง มีน้ำหนอง หรือตกสะเก็ดร่วมด้วย โดยภาวะผิวหนังอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคเซบเดิร์ม และผื่นระคายสัมผัส อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้จะไม่ติดต่อสู่ผู้อื่น แต่อาจทำให้รู้สึกคันหรือระคายเคือง และเสียความมั่นใจเพราะลักษณะผิวหนังที่ผิดปกติได้

ผิวหนังอักเสบ

อาการของผิวหนังอักเสบ

ภาวะผิวหนังอักเสบแต่ละชนิดเกิดขึ้นตามบริเวณร่างกายที่แตกต่างกันไป อาจทำให้มีอาการและลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย โรคผิวหนังอักเสบบางชนิดพบได้ทั่วไป โดยสังเกตอาการ ดังนี้

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) มักเริ่มเป็นตั้งแต่อยู่ในวัยทารก ก่อให้เกิดผื่นคันและแดงตามผิวหนัง และมักจะขึ้นบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา และลำคอด้านหน้า เมื่อเกามาก ๆ อาจมีหนองไหลหรือเกิดเป็นสะเก็ดหนองตามมา ซึ่งผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้อาจมีอาการดีขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ก็อาจกลับไปเป็นอีกได้เรื่อย ๆ

ผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis) เป็นผื่นที่เกิดขึ้นตามผิวหนังบริเวณที่สัมผัสโดนสารก่อความระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้ เช่น สารเคมีในชีวิตประจำวัน ได้แก่ สบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาซักล้างต่าง ๆ เป็นเวลานานและบ่อยครั้ง บางคนอาจเกิดจากการสัมผัสดอกไม้ พืชผักบางชนิด หรือสาเหตุอื่น ๆ เช่น ยางสังเคราะห์ โลหะ สีย้อมผม สารแต่งกลิ่นต่าง ๆ เป็นต้น โดยผื่นแดงที่เกิดขึ้นอาจทำให้รู้สึกแสบร้อน ปวดแสบ คัน หรือเกิดแผลพุพองได้

โรคเซบเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) เป็นโรคที่ทำให้ผิวหนังเป็นแผ่นตกสะเก็ดและมีอาการแดง หากเป็นที่ศีรษะจะเกิดเป็นรังแคเรื้อรัง โดยมักเป็นตามผิวหนังที่มีความมัน เช่น ใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณเปลือกตาและจมูก หน้าอกส่วนบน และหลัง ส่วนในทารกมักพบมีสะเก็ดหรือแผ่นหนา ๆ บนหนังศีรษะ รวมทั้งอาจพบได้ที่เปลือกตา ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ เป็นเวลานาน

ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส (Dyshidrotic Eczema) เป็นอีกโรคผิวหนังอักเสบที่พบได้บ่อย แต่เป็นโรคที่คนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจทางการแพทย์อยู่น้อยมาก โดยทั่วไปมักส่งผลต่อบริเวณมือ บางครั้งเกิดขึ้นที่เท้า ทำให้มีผื่นคันร่วมกับตุ่มใสพุพองเม็ดเล็ก ๆ ตามง่ามนิ้วมือ นิ้วเท้า ฝ่ามือ หรือฝ่าเท้า

ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า (Stasis Dermatitis) มักทำให้เกิดอาการบวม ผิวหนังตกสะเก็ดบริเวณขาส่วนล่าง บางครั้งมีแผลเปื่อยหรือแผลเปิดด้านในของขาส่วนล่างและรอบ ๆ ข้อเท้า พบในผู้ป่วยที่มีการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดดำในขาไม่ดี

ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง (Lichen Simplex Chronicus) เป็นภาวะที่ส่งผลให้ผิวหนังหนาขึ้น มักพบบริเวณคางและคอ

โรคผื่นผิวหนังรูปเหรียญบาท (Nummular Eczema) มักพบในผู้ที่มีผิวแห้งหรืออาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศแห้ง มักปรากฏเป็นแผ่นผิวหนังที่มีความหนาและแดง ลักษณะกลม ๆ คล้ายเหรียญบาท ร่วมกับอาการคัน ผิวเป็นขุยหรือมีสะเก็ดหนอง ซึ่งจะพบได้บ่อยตามขาส่วนล่าง รวมถึงตามแขน มือ ลำตัว

โรคผื่นผิวแห้ง (Xerotic Eczema) เป็นโรคที่จะส่งผลให้ผิวแตกแห้งและมีน้ำหนองไหลออกมาเมื่อผิวแห้งมากจนเกินไป

ทั้งนี้ ผู้ที่มีสัญญาณหรืออาการของผิวหนังอักเสบในลักษณะต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา

  • รู้สึกเจ็บที่ผิวหนัง หรือมีอาการคันรบกวนจนทำให้นอนไม่หลับหรือเกิดปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน
  • เมื่อลองรักษาด้วยยาที่หาซื้อได้เอง เช่น ครีมไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) แล้วยังไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งอาจบ่งบอกว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยยาที่รุนแรงกว่านี้
  • เกิดตุ่มหนองบนแผ่นผิวหนังที่มีอาการอักเสบ อาจแสดงถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย และควรต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
  • บริเวณที่เกิดการอักเสบของผิวหนังมีตุ่มน้ำเล็ก ๆ ทำให้รู้สึกเจ็บอยู่จำนวนมาก โดยอาจเป็นการติดเชื้อเริมที่เกิดในผู้ป่วยโรคผิวหนัง ซึ่งแม้จะพบได้ไม่บ่อย แต่ก็สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้จากการติดเชื้อไวรัสโรคเริมนี้
  • ระหว่างที่เกิดภาวะผิวหนังอักเสบมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคผิวหนังติดเชื้อจากไวรัส เช่น เริมที่ปาก หรือเริมที่อวัยวะเพศ เนื่องจากการมีภาวะผิวหนังอักเสบอยู่แล้วจะยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคเริม

สาเหตุของผิวหนังอักเสบ

ผิวหนังอักเสบแต่ละชนิดอาจมีสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เป็นภาวะผิวหนังอักเสบที่คาดว่ามีปัจจัยการเกิดหลายชนิดร่วมกัน เช่น ผิวแห้ง พันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน แบคทีเรียบนผิวหนัง และสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย

ผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis) มีสาเหตุมาจากการที่ผิวหนังสัมผัสกับสารก่อความระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้ชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น โลหะบางชนิด ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด น้ำหอม ยาย้อมผม เครื่องสำอาง หรือครีมบำรุงผิวต่าง ๆ

โรคเซบเดิร์ม เป็นภาวะผิวหนังอักเสบที่อาจเกิดจากการติดเชื้อราซึ่งอาศัยอยู่ในน้ำมันตามผิวหนัง โดยเฉพาะบนหนังศีรษะและใบหน้า ผู้ป่วยอาจเป็นเฉพาะบางช่วงฤดูเท่านั้น และอาจกลับไปเป็นอีกได้เมื่อฤดูนั้นมาถึง

ภาวะผิวหนังอักเสบบางชนิดยังอาจมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดเพิ่มขึ้นจากปัจจัยบางประการต่อไปนี้

  • อายุ ผู้ป่วยทุกเพศทุกวัยมีโอกาสเกิดภาวะผิวหนังอักเสบ แต่ภาวะผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยอย่างโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้น มักเริ่มพบได้ในเด็กทารกมากกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่
  • การป่วยเป็นโรคภูมิแพ้หรือโรคหืด หากตนเองหรือบุคคลในครอบครัวเคยมีภาวะผิวหนังอักเสบ โรคภูมิแพ้ ไข้ละอองฟาง หรือโรคหืดก็อาจยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิวหนังอักเสบ
  • บางอาชีพที่ต้องสัมผัสกับโลหะ สารละลาย ผงซักฟอก สารทำความสะอาดต่าง ๆ รวมทั้งแพทย์และพยาบาลที่อาจเกิดโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสน้ำยาล้างมือบ่อย ๆ
  • สุขภาพโดยรวม นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ โดยผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน โรคติดเชื้อเอชไอวี หรือมีภาวะหัวใจวาย อาจเสี่ยงต่อการเป็นผิวหนังอักเสบชนิดเซบเดิร์ม

การวินิจฉัยภาวะผิวหนังอักเสบ

แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะผิวหนังอักเสบได้โดยใช้เพียงตาเปล่าตรวจดู ประกอบกับการสอบถามอาการของผู้ป่วย แต่บางครั้งอาจเก็บตัวอย่างผิวหนังส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือใช้การทดสอบอื่น ๆ เพื่อแยกสาเหตุจากโรคผิวหนังชนิดอื่นออกไป

นอกจากนี้ เนื่องจากผู้ป่วยภาวะนี้ส่วนใหญ่จะมีอาการของโรคภูมิแพ้ร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจได้รับการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เพื่อดูว่าอาการแพ้นั้นเกิดจากสารก่อความระคายเคืองหรือสารกระตุ้นชนิดใด ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นเด็กส่วนใหญ่อาจมีแนวโน้มต้องรับการทดสอบภูมิแพ้

การรักษาผิวหนังอักเสบ

การรักษาด้วยตนเอง

การรักษาภาวะนี้จะมุ่งเน้นที่การป้องกันและบรรเทาอาการคันให้ทุเลาลง เนื่องจากภาวะผิวหนังอักเสบนั้นส่งผลให้ผิวแห้งและคัน เมื่อเกามาก ๆ จึงอาจเกิดเป็นแผลและนำไปสู่การติดเชื้อที่ผิวหนัง เบื้องต้นสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นและบรรเทาอาการอักเสบของผิวหนังด้วยตนเอง ดังนี้

  • ใช้แผ่นประคบเย็นชนิดเปียก เพื่อช่วยให้ความรู้สึกเจ็บหรือระคายเคืองที่ผิวหนังลดน้อยลง
  • หลีกเลี่ยงการถูหรือครูดเกาบริเวณที่มีอาการคัน ผู้ป่วยควรสวมเสื้อผ้าที่สามารถปกปิดบริเวณที่คัน เพื่อป้องกันการเกิดรอยถลอกจากการเกาอย่างแรง ทั้งยังควรตัดเล็บและสวมถุงมือขณะนอน
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย เพราะพื้นผิวที่เรียบนุ่มของผ้าฝ้ายจะช่วยป้องกันการระคายเคืองของผิวหนังบริเวณที่อักเสบ
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่อ่อนโยนและไม่มีกลิ่น ป้องกันการระคายเคืองของผิวเมื่อสัมผัสกับผ้าที่มีสารเคมีเข้มข้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงสบู่และน้ำยาซักล้างใด ๆ ที่อาจก่อความระคายเคืองต่อผิวหนัง
  • เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวเป็นประจำด้วยมอยซ์เจอร์ไรเซอร์ที่เป็นครีมหรือขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพื่อสร้างชั้นปกป้องการสูญเสียความชุ่มชื้น ลดความรุนแรงของอาการผื่นแพ้ ทั้งนี้สำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงยังอาจใช้การทามอยซ์เจอร์ไรเซอร์เป็นการรักษาหลัก
  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคผื่นแพ้สัมผัสที่ควรปกป้องผิวหนังของตนเองจากการสัมผัสสารที่จะก่อให้เกิดผื่นระคายเคืองเป็นพิเศษ
  • อาบน้ำคลอรีน โดยใช้ผงคลอรีลีน ½ ถ้วย (ประมาณ 120 มิลลิลิตร) ผสมกับน้ำอุ่น 150 ลิตรในอ่างอาบน้ำ วิธีนี้อาจช่วยลดแบคทีเรียบนผิวหนังของผู้ป่วยภาวะผิวอักเสบรุนแรงจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้
  • รู้จักจัดการกับความเครียด เช่น หากิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย หรือออกกำลังกาย เพราะความเครียดอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยของการเกิดผิวหนังอักเสบบางชนิด

การใช้ยารักษา

นอกจากการดูแลรักษาด้วยตนเอง แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาใด ๆ ต่อไปนี้ร่วมด้วย

  • ยาไฮโดรคอร์ติโซน เป็นยาชนิดครีมหรือขี้ผึ้งที่อาจช่วยรักษาภาวะผิวหนังอักเสบชนิดไม่รุนแรง แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจต้องใช้ยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น
  • ใช้ยาต้านอักเสบหรือผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการคันตามร้านขายยา เช่น ครีมไฮโดรคอร์ติโซน ที่อาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบและคันของผิวหนังได้ชั่วคราว
  • ยาแก้แพ้ เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการแพ้และอาการคันรุนแรง มีขายตามร้านขายยาทั่วไป แต่ควรเลือกใช้อย่างระมัดระวัง เพราะยาแก้แพ้บางชนิดอาจทำให้มีอาการง่วงซึมได้
  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) มีทั้งชนิดครีมและขี้ผึ้ง หรือชนิดรับประทาน เพื่อบรรเทาอาการบวมและคัน โดยแพทย์อาจสั่งจ่ายยาชนิดนี้ในกรณีที่วิธีการรักษาอื่น ๆ ใช้ไม่ได้ผล
  • การรักษาด้วยแสง เป็นการใช้รังสีอัลตราไวโอเลตช่วยรักษาผื่นผิวหนัง มักนำมารักษาผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับผิวหนังที่มีความรุนแรง
  • ยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีทั้งยารับประทาน และครีมสำหรับทา โดยเป็นยาช่วยรับมือกับการอักเสบของผิวหนังและลดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอาการคันและแดงบนผิวหนัง ใช้เมื่อการรักษาชนิดอื่นไม่ได้ผล แต่ควรใช้เพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น และไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาอาการติดเชื้อที่ผิวหนังจากการเกาจนเกิดแผลติดเชื้อ
  • มอยซ์เจอร์ไรเซอร์ชนิดเข้มข้น แพทย์อาจสั่งจ่ายมอยซ์เจอร์ไรเซอร์ชนิดพิเศษ เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและบำรุงสุขภาพผิวหนัง
  • บางครั้งแพทย์ยังอาจแนะนำให้ใช้แผ่นประคบเย็นวางไว้บนผิวก่อนทาครีมคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อให้ยาสามารถซึมผ่านผิวหนังได้ง่ายขึ้นด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะผิวหนังอักเสบ

อาการคันอย่างรุนแรงจากภาวะผิวหนังอักเสบอาจรบกวนการนอนหลับ ทำให้พักผ่อนได้ไม่เพียงพอ จนส่งผลให้รู้สึกง่วงหรืออ่อนเพลียในระหว่างวัน นอกจากนี้การอักเสบของผิวหนังยังอาจทำให้เกิดแผลเปิด ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคมีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราตามมา

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังซึ่งเป็นภาวะผิวหนังอักเสบชนิดที่พบบ่อยที่สุด เป็นกลุ่มที่มักพบว่ามีแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส (Staphylococcus) และแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส (Streptococcus) ซึ่งก็มีหลายรายที่เกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรียเหล่านี้จนทำให้อาการของโรคแย่ลงกว่าเดิม รวมทั้งการติดเชื้อไวรัสโรคเริมที่สามารถแทรกตัวผ่านผิวหนังที่เกิดการเสียหาย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดแผลพุพองและกลายเป็นแผลตามมาด้วยการติดเชื้อ ร่วมกับมีไข้ อ่อนเพลีย และรู้สึกไม่สบายได้

ในด้านสังคม ภาวะผิวหนังอักเสบอาจทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นเกิดความไม่มั่นใจในตนเอง เด็กที่มีผื่นอักเสบบนผิวหนังอย่างเห็นได้ชัดอาจถูกเพื่อนล้อหรือรังเกียจ พลอยทำให้เกิดผลกระทบด้านจิตใจ เช่น กลายเป็นเด็กเงียบขรึมและแยกตัวออกจากเพื่อนฝูง เป็นต้น

การป้องกันภาวะผิวหนังอักเสบ

การบำรุงและดูแลผิวไม่ให้แห้งจนเกินไปอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยป้องกันภาวะผิวหนังอักเสบได้ โดยการลดความแห้งของผิวควรทำหลังจากการอาบน้ำในขณะที่ผิวยังคงมีความชุ่มชื้นอยู่ มีวิธีดังนี้

  • ลดเวลาที่ใช้ในการอาบน้ำให้สั้นลง เพียงครั้งละ 5-10 นาที และควรอาบด้วยน้ำธรรมดา หรือจะใช้น้ำมันผสมลงในอ่างอาบน้ำก็อาจช่วยได้
  • ใช้สบู่หรือครีมอาบน้ำที่อ่อนโยนต่อผิว เลือกใช้สบู่เด็กหรือสบู่ที่ไม่มีกลิ่น เพราะสบู่ที่มีสารเคมีอาจส่งผลให้ผิวยิ่งแห้ง  
  • เช็ดตัวให้แห้งอย่างเบามือหลังจากอาบน้ำเสร็จ อาจเช็ดด้วยผ้าเช็ดตัวที่นุ่มและอ่อนโยนต่อผิว
  • ทาครีมหรือน้ำมันเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวหลังจากการอาบน้ำ โดยทดลองใช้หลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ เพื่อหาชนิดที่เหมาะกับผิวของตัวเองมากที่สุด เลือกที่มีความปลอดภัยและคิดว่าได้ผล ไม่มีกลิ่น และมีราคาอยู่ในระดับที่สามารถจับจ่ายได้