ทำแท้งปลอดภัย ทางออกที่ไม่เสี่ยงอันตราย

การทำแท้งยังคงเป็นปัญหาที่โต้แย้งกันในสังคมไทย แม้ปัจจุบันมีกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้แล้วภายใต้อายุครรภ์หรือเกณฑ์ที่กำหนดและต้องทำโดยแพทย์ แต่ก็ยังมีบริการทำแท้งเถื่อนที่ไม่ปลอดภัยเปิดให้เห็นอยู่ไม่น้อยเลย กฏหมายนี้อาจไม่ได้ทำให้คนทำแท้งมากขึ้น แต่ช่วยให้คนที่ท้องไม่พร้อมได้มีทางเลือกที่ปลอดภัยและเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น 

การทำแท้งในประเทศไทยเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากมีปัจจัยด้านสิทธิของผู้หญิงและทารกในครรภ์ ความเชื่อทางศาสนา ขนบธรรมเนียม และศีลธรรมของคนในสังคมรวมอยู่ด้วย การจะลดปัญหาท้องไม่พร้อมและการทำแท้งได้นั้น ความรู้เรื่องเพศศึกษาและการวางแผนครอบครัวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก และหากมีการสนับสนุนบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมายอาจช่วยให้คนท้องไม่พร้อมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ทำแท้ง

ทำแท้งถูกกฎหมาย ทางเลือกที่ปลอดภัย 

จากการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ทำให้หญิงตั้งครรภ์สามารถทำแท้งอย่างถูกกฎหมายได้ โดยหญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์และยืนยันจะทำแท้งสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ โดยต้องให้แพทย์ในสถานพยาบาลที่ถูกกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการให้เท่านั้น 

หากมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ต้องผ่านการตรวจและได้รับคำปรึกษาทางเลือกจากทีมแพทย์อย่างละเอียดก่อนทำแท้ง เช่นเดียวกันกับผู้ตั้งครรภ์ที่มีปัญหาสุขภาพทางกายและทางจิต ทารกในครรภ์อาจมีภาวะทุพพลภาพ ผู้ตั้งครรภ์จากการถูกถูกข่มขืนหรือมีเพศสัมพันธ์ในเชื้อสายเดียวกันก็ต้องตรวจและประเมินเพิ่มเติมโดยแพทย์ผู้ยุติการตั้งครรภ์และแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง

หญิงที่เข้ารับการทำแท้งในโรงพยาบาลที่ถูกกฎหมายจะได้รับการดูแลและรักษาก่อนและหลังทำแท้ง โดยมีการตรวจร่างกาย ตรวจทางห้องปฏิบัติการ และให้ความรู้เกี่ยวกับการยุติครรภ์ วิธีการดูแลตัวเอง ไปจนถึงวิธีติดตามสังเกตอาการของตนเองเพื่อกลับมาพบแพทย์อีกครั้ง

วิธีการทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยมี 2 วิธีหลักด้วยกัน คือ

ทำแท้งด้วยการใช้ยา

การใช้ยาช่วยให้แท้งจะทำได้เมื่อผู้เป็นแม่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์ โดยยาที่ใช้จะช่วยให้ปากมดลูกนิ่มและเปิดออก กระตุ้นการหดตัวของมดลูก ซึ่งเป็นยาควบคุมพิเศษ สั่งจ่ายได้เฉพาะในโรงพยาบาลโดยแพทย์เท่านั้น

ทำแท้งโดยมีหัตถการทางแพทย์ร่วมด้วย

แพทย์อาจดูดมดลูกด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ หรือใช้วิธีขยายและขูดมดลูก ซึ่งวิธีการในแต่ละอายุครรภ์ก็แตกต่างกันไปดังนี้

  • ไตรมาสที่ 1 (5–12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์) โดยใช้เครื่องมือสุญญากาศดูดเนื้อเยื่อในมดลูกออกมาผ่านท่อเล็ก ๆ (Manual or Machine Vacuum Aspiration) ซึ่งอาจถือเครื่องมือด้วยมือแพทย์หรือใช้เครื่องมืออัตโนมัติก็ได้
  • ไตรมาสที่ 2 (สัปดาห์ที่ 12–24 ของการตั้งครรภ์) ใช้วิธีการขยายปากมดลูกและขูดมดลูก และมักใช้เครื่องดูดสุญญากาศร่วมด้วย การใช้วิธีนี้กับครรภ์ในไตรมาสที่ 2 จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้น้อยกว่าการใช้ยาที่กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยแพทย์จะเลือกใช้ยาก็ต่อเมื่อตัวอ่อนในครรภ์มีความผิดปกติหรือเกิดปัญหาร้ายแรงเท่านั้น

หลังการทำแท้ง ผู้ทำแท้งอาจมีอาการปวดหรือมีเลือดออกทางช่องคลอดประมาณ 1–2 สัปดาห์ หากมีอาการปวดก็สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ เช่น ยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน หากเลือดยังไม่หยุดไหลควรสวมผ้าอนามัยแบบแผ่นหรือสอด ในกรณีที่ร่างกายฟื้นตัวแล้วสามารถทำกิจวัตรประจำวันอย่างอาบน้ำ ออกกำลังกาย หรือยกของหนักได้ตามปกติ

การทำแท้งที่กล่าวไปข้างต้นไม่มีผลใด ๆ ต่อการตั้งครรภ์ใหม่ในอนาคต แต่มีข้อควรระวังคือ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าร่างกายจะฟื้นตัวเต็มที่ โดยอาจใช้เวลาอย่างต่ำ 1–3 สัปดาห์ หากไม่ต้องการตั้งครรภ์ซ้ำควรมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยหรือควรคุมกำเนิด

การทำแท้งตามเงื่อนไขที่กฎหมายรับรองนั้นทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะมีขั้นตอนกระบวนการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีโอกาสเพียงน้อยกว่า 1 ใน 100 ที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือปัญหาร้ายแรงหลังการทำแท้ง หากสังเกตได้ถึงอาการผิดปกติหลังการทำแท้งควรรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น

  • ภาวะเลือดออกรุนแรง มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่กว่าลูกกอล์ฟขับออกมานานกว่า 2 ชั่วโมง มีเลือดออกเต็มแผ่นผ้าอนามัยที่รองไว้ภายในชั่วโมงเดียวถึง 2 แผ่น ต่อเนื่องนาน 2 ชั่วโมง หรือมีเลือดออกมากติดต่อกันใน 12 ชั่วโมง
  • มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น ไข้สูง ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
  • ปวดบริเวณท้องอย่างรุนแรงจนไม่อาจบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด การพัก หรือประคบอุ่น
  • อ่อนเพลียมาก คลื่นไส้ วิงเวียน

อันตรายจากการทำแท้งเถื่อน 

สิ่งที่การทำแท้งเถื่อนไม่อาจรับประกันได้เลยก็คือความปลอดภัยต่อผู้ตั้งครรภ์ การทำแท้งที่ไม่ได้กระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและให้บริการหัตถการทางการแพทย์ที่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลกระทบต่อสุขภาพได้ดังนี้

  • ทำแท้งไม่สำเร็จ นำเนื้อเยื่อของครรภ์ออกมาจากมดลูกได้ไม่หมด
  • อาการตกเลือด หรือเลือดออกมาก
  • ภาวะช็อกจากการเสียเลือดมากหรือการติดเชื้อ
  • ภาวะติดเชื้ออย่าง ติดเชื้อในกระแสเลือด
  • มดลูกทะลุจากการอุปกรณ์ที่มีคม
  • เยื่อบุผนังช่องท้องหรืออุ้งเชิงกรานอักเสบ 

วิธีป้องกันและควบคุมการทำแท้ง

ปัญหาท้องไม่พร้อมหรือท้องก่อนวัยอันควรอาจนำไปสู่การทำแท้งตามสถานบริการเถื่อนหรือการสั่งซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ปลอดภัย และไม่ควรเสี่ยงชีวิตเป็นอย่างยิ่ง คุณแม่ที่ท้องไม่พร้อมจึงควรให้เวลากับตัวเอง ปรึกษาคนรอบข้าง ตั้งสติและคิดทบทวนถึงผลลัพธ์ให้ดีก่อนตัดสินใจ  

ทางออกของปัญหานี้ไม่ได้มีแค่การทำแท้งวิธีเดียว ทางเลือกหนึ่งที่แนะนำคือ การขอความช่วยเหลือจากองค์กรและโครงการต่าง ๆ ที่คอยช่วยเหลือและให้คำปรึกษาปัญหาการท้องไม่พร้อม เช่น สายด่วน 1663 ปรึกษาปัญหาเอดส์และท้องไม่พร้อม

ปัญหาการทำแท้งสามารถป้องกันได้ หากมีการศึกษาในเรื่องเพศที่ดีมากขึ้นในสังคม โดยเริ่มต้นตั้งแต่การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เช่น การใช้ยาคุมกำเนิด การใช้ยาคุมฉุกเฉิน การใช้ถุงยางอนามัย หรือการทำหมันไม่ว่าจะฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง