เพศศึกษา เรื่องใกล้ตัวที่คุณพ่อคุณแม่ควรคุยกับลูก

แม้สังคมในปัจจุบันจะเปิดกว้างและมีการพูดถึงเรื่องเพศศึกษากันมากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กหลายคนอาจยังไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ดีพอจนเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาเรื่องเพศอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม การเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไปจนถึงการข่มขืน

การที่เด็กมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเพศศึกษาจะมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดปัญหาในข้างต้นได้ นอกจากการศึกษาจากโรงเรียนแล้ว สถาบันครอบครัวก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องเพศศึกษาเช่นกัน หากคุณพ่อคุณแม่ยังไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นพูดคุยเรื่องเพศกับลูกอย่างไร หรือควรให้คำแนะนำลูกแบบไหน บทความนี้มีคำแนะนำ 

เพศศึกษา เรื่องใกล้ตัวที่คุณพ่อคุณแม่ควรคุยกับลูก

เริ่มคุยเรื่องเพศศึกษากับลูกอย่างไรดี

การพูดคุยเรื่องเพศศึกษากับลูกไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเสมอไป คุณพ่อคุณแม่อาจใช้ช่วงเวลาขณะดูโทรทัศน์ เดินทางด้วยกัน หรือช่วงเวลาที่ผ่อนคลายในการเริ่มต้นบทสนทนา รวมถึงควรพูดคุยให้เป็นเรื่องปกติ เพื่อช่วยให้เด็กรู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยด้วย

ในกรณีที่ลูกไม่กล้าเริ่มพูดคุยเรื่องเพศศึกษา คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นฝ่ายเริ่มต้นบทสนทนากับลูกก่อน เพื่อให้ลูกเห็นว่าผู้ปกครองเปิดใจและพร้อมที่จะให้คำปรึกษาเรื่องนี้ โดยระหว่างการพูดคุยกับลูกควรคำนึงถึงเรื่องสำคัญต่อไปนี้

  • พูดความจริง เมื่อลูกถามคำถามที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบหรือไม่แน่ใจในคำตอบ สิ่งที่ดีที่สุดคือการไม่โกหกและตอบตรง ๆ ว่าไม่รู้ อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรจบบทสนทนาเพียงเท่านั้น แต่ให้ชวนลูกหาข้อมูลไปด้วยกัน เพื่อให้ลูกรู้สึกถึงความใส่ใจและกล้าที่จะถามคำถามอีกในครั้งถัด ๆ ไป
  • ตรงไปตรงมา แม้จะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรพูดเรื่องเพศศึกษากับลูกอย่างตรงไปตรงมาและชัดเจนที่สุด เนื่องจากการพูดอ้อมค้อมเกินไปอาจส่งผลให้เด็กเกิดความเข้าใจผิด หรือมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเพศที่ไม่ถูกต้องได้
  • ตระหนักถึงมุมมองของเด็ก เรื่องเพศศึกษาเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับวัยรุ่น คุณพ่อคุณแม่ควรนึกถึงมุมมองของลูก คอยรับฟังและทำความเข้าใจ และควรให้กำลังใจลูกเสมอ เพื่อให้ลูกมีความกล้าที่จะขอคำปรึกษาในครั้งต่อ ๆ ไป
  • ให้ความรู้ที่มากกว่าในตำราเรียน เนื่องจากเด็กมักจะได้รับการสอนเรื่องเพศศึกษาขั้นพื้นฐานมาจากในตำราเรียนแล้ว การให้ข้อมูลจากคุณพ่อคุณแม่ควรเป็นข้อมูลที่สอดแทรกความรู้สึก ทัศนคติ และค่านิยมเข้าไปด้วย เพื่อช่วยให้ลูกเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ มากขึ้น
  • เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น นอกจากการเป็นฝ่ายให้คำแนะนำ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกได้ถามคำถามและแสดงความคิดเห็นของตัวเองด้วย เพื่อช่วยให้ลูกรู้สึกวางใจและสบายใจที่จะคุยเรื่องเพศ และที่สำคัญควรทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ยินดีและพร้อมจะให้คำปรึกษาเสมอเมื่อลูกต้องการ

นอกจากนี้ หากลูกมีแฟนหรือคนรัก ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำเกี่ยวกับการระมัดระวังตัว และการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ลูกถูกล่อลวงไปสู่ปัญหาอื่น เช่น การใช้ยาเสพติด หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่พร้อม 

คำถามเรื่องเพศศึกษา ควรตอบลูกในลักษณะไหน

นอกจากความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาที่วัยรุ่นมักถาม อย่างเรื่องความรู้สึก ความสัมพันธ์ หรือการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแล้ว อาจมีบางคำถามที่ผู้ปกครองควรเตรียมรับมือ เพราะหากให้คำตอบอย่างผิด ๆ หรือไม่ชัดเจนเท่าที่ควร อาจนำมาสู่ปัญหาในภายหลังได้ โดยตัวอย่างคำถามที่อาจพบได้มีดังนี้

คำถามที่ 1 รู้ได้อย่างไรว่าตนเองพร้อมจะมีเพศสัมพันธ์

คำตอบที่ให้กับลูกนั้นอาจส่งผลต่อความเข้าใจเรื่องเพศสัมพันธ์ของลูกได้ไม่น้อย แทนที่จะห้ามลูกคิดถึงเรื่องนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร อย่างการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม รวมถึงแนะนำว่าไม่ควรรีบร้อนกับเรื่องเหล่านี้ และอธิบายว่ายังมีวิธีอีกมากมายที่สามารถแสดงความรู้สึก ไม่ได้มีแค่เพียงเรื่องเพศสัมพันธ์เท่านั้น

คำถามที่ 2 หากคนรักอยากมีเพศสัมพันธ์ด้วย แต่ลูกรู้สึกไม่พร้อมควรทำอย่างไร

คำถามนี้อาจเกิดขึ้นได้หากลูกอยู่ในช่วงกำลังมีแฟน คุณพ่อคุณแม่ควรแนะนำว่าเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่ความหวาดกลัวหรือผูกมัด และการใช้กำลังทุกประเภทนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากความรัก แต่เป็นการข่มขืน 

อีกทั้งควรแนะนำให้ลูกหลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติด หรือเครื่องดื่มมึนเมา เพราะนอกจากจะส่งผลให้ขาดสติแล้ว ยังทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจและอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม หรือการถูกข่มขืนได้

คำถามที่ 3 มีความรู้สึกว่าตนเองอาจเป็นเพศที่สาม ควรทำอย่างไร

มีวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าตนเองอาจเป็นเพศที่สาม และเกิดความสับสน อาย ไม่กล้าผู้ความจริงกับคุณพ่อคุณแม่ 

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรชี้นำว่าลูกเป็นเพศใด แต่ควรให้ลูกสำรวจตนเองว่า สนใจในเพศไหน และที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงออกว่ายังคงรักและสนับสนุนลูกในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าลูกจะมีความสนใจทางเพศเป็นอย่างไร เพื่อให้ลูกรู้สึกสบายใจมากขึ้น กล้าเปิดเผยมากขึ้น และไม่กลัวว่าตนเองจะกลายเป็นปัญหาของครอบครัว

สุดท้ายนี้จะเห็นได้ว่าการพูดคุยเรื่องเพศศึกษากับลูกไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด แต่ก็ควรเริ่มต้นในวาระและโอกาสที่ถูกต้อง และค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ลูกได้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีทัศนคติต่อเรื่องเพศอย่างถูกต้องเหมาะสม