เคล็ดลับกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่นแน่นแฟ้น

ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงคนในครอบครัวให้ใช้ชีวิตร่วมกันได้ โดยสัมพันธภาพอันดีจะสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและปลอดภัย ทำให้คนในครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข หลายคนอาจเข้าใจว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวเกิดขึ้นได้เอง แต่ความจริงแล้วความผูกพันในครอบครัวต้องใช้เวลาและความเข้าใจซึ่งกันและกันของทุกคนในครอบครัว

ทุกครอบครัวย่อมมีปัญหาและความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการเงิน ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก การทำงาน หรือสุขภาพ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวห่างเหินและเกิดรอยแยกที่ประสานได้ยาก การสร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวจึงต้องอาศัยการสื่อสารด้วยเหตุผล ความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้ครอบครัวมีความอบอุ่นและแน่นแฟ้น

เคล็ดลับกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่นแน่นแฟ้น

ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีควรเป็นอย่างไร

ลักษณะของความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวควรเป็นที่พึ่งและแรงสนับสนุนให้แก่กัน โดยมอบความรัก ความเอาใจใส่ และให้คำแนะนำที่ดีต่อกัน ซึ่งจะช่วยให้ก้าวข้ามอุปสรรคและปัญหาครอบครัว และยังช่วยให้คนในครอบครัวมีความมั่นใจในตัวเองและมีทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตในระยะยาว

ครอบครัวที่มีสัมพันธภาพอันดีต่อกันควรมีลักษณะดังนี้

  • สมาชิกแต่ละคนรู้สึกสบายใจและปลอดภัยเมื่ออยู่ร่วมกัน และมั่นใจว่าคนในครอบครัวจะไม่ใช้คำพูดและพฤติกรรมที่ทำให้สมาชิกคนอื่นรู้สึกแย่หรือถูกทำร้าย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
  • มีกฎระเบียบที่ยึดถือร่วมกัน แต่กฎเหล่านั้นอาจมีข้อยกเว้นบ้างในบางกรณี ซึ่งความยืดหยุ่นนี้เองที่จะทำให้บรรยากาศในครอบครัวไม่ตึงเครียดจนเกินไป
  • พูดคุยและปรึกษากันได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องที่เป็นปัญหา
  • รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และเสนอวิธีการแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจ โดยไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินปัญหา
  • เป็นที่พึ่งซึ่งกันและกัน แต่ในขณะเดียวกันควรเคารพความเป็นส่วนตัวของคนในบ้าน โดยไม่ก้าวก่ายการใช้เวลาส่วนตัวและการทำสิ่งที่แต่ละคนชอบ

ในทางกลับกัน ครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกันมักทำให้สมาชิกในครอบครัวรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจ โดยสังเกตได้จากการที่คนใดคนหนึ่งในครอบครัวพยายามบังคับ ควบคุม หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของคนอื่น ๆ ไม่มีความรักและความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน หรือใช้ความรุนแรงกับคนในครอบครัวด้วยคำพูดและการกระทำ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและกระทบต่อการใช้ชีวิตตามมา

เทคนิคสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้น

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวประกอบด้วยเทคนิคง่าย ๆ 4 ข้อ 

  1. มีเวลาให้กัน

การใช้เวลาร่วมกันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนในครอบครัวได้แลกเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกในเรื่องต่าง ๆ ที่พบเจอในแต่ละวัน เช่น พูดคุยกันขณะรับประทานอาหารเย็นโดยไม่ใช้โทรศัพท์หรือดูโทรทัศน์ที่อาจเบี่ยงเบนความสนใจจากบทสนทนา หรือทำกิจกรรมครอบครัวในช่วงสุดสัปดาห์ อย่างการทำสวน การเล่นเกมฝึกทักษะ และการไปเยี่ยมเยียนญาติที่อยู่ไกลกัน

นอกจากนี้ คู่รักควรใช้เวลาเพื่อพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันบ้าง เพราะความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวไม่ได้ประกอบด้วยการใช้เวลาร่วมกันของทุกคนในครอบครัวเพียงอย่างเดียว พ่อแม่ควรสอนและปฎิบัติเป็นตัวอย่างให้ลูกเข้าใจว่าการใช้เวลาส่วนตัวของพ่อและแม่ด้วยกัน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวอบอุ่นขึ้น

  1. สื่อสารด้วยความเข้าใจ

การสื่อสารที่ดีเป็นสิ่งสำคัญของทุกความสัมพันธ์ เพราะจะช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างกัน และช่วยให้จัดการปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น สมาชิกในครอบครัวควรพร้อมรับฟังและพูดคุยได้ทุกเรื่อง เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ความรู้สึก และความต้องการของตัวเอง โดยไม่ทำให้เกิดความรู้สึกกลัวการถูกต่อว่า เยาะเย้ย หรือไม่ได้รับความสนใจ 

ทั้งนี้ การสื่อสารที่ดีไม่ได้หมายถึงการใช้คำพูดเท่านั้น แต่การมอบรอยยิ้ม สายตา และท่าทางที่แสดงออกถึงความรักและเอาใจใส่ให้แก่กัน จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในครอบครัวและกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นขึ้น

  1. กำหนดกฎเกณฑ์โดยเคารพซึ่งกันและกัน

ครอบครัวควรตั้งกฎกติกาในการอยู่ร่วมกันที่ชัดเจน เพื่อให้คนในบ้านเข้าใจและปฏิบัติตามร่วมกัน แต่ก็ควรคำนึงถึงการเคารพและให้เกียรติคนในบ้าน โดยให้อิสระในการใช้เวลาส่วนตัว อย่างการทำงานอดิเรกและออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน รวมทั้งไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของสมาชิกในครอบครัว อย่างการเข้าไปในห้องนอนของคนในบ้าน และตรวจเช็กโทรศัพท์หรือแกะพัสดุของคนในบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต

  1. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง

ปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในครอบครัว ซึ่งอาจนำไปสู่ความเครียดและทำให้บรรยากาศในครอบครัวแย่ลงได้ การดูแลสุขภาพจึงเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ และช่วยให้คนในบ้านมีพลังกายและใจในการรับมือกับปัญหาและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยพ่อแม่อาจเป็นแบบอย่างในการดูแลสุขภาพให้ลูก เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ และจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม

การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีเป็นสิ่งสำคัญ เพราะครอบครัวที่ขาดความเอาใจใส่ มีแต่ความขัดแย้งอาจทำให้คนในครอบครัวรู้สึกโดดเดี่ยว ขาดที่พึ่ง ส่งผลให้ขาดความมั่นใจและไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ หากมีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองและเกิดความเครียด ควรปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการแก้ปัญหา