ขูดมดลูก เรื่องที่ผู้หญิงควรรู้

ขูดมดลูก คือการนำเนื้อเยื่อภายในมดลูกออกเพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยหรือรักษาความผิดปกติที่เกิดจากมดลูก เช่น การมีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ เป็นต้น ทั้งยังอาจใช้สำหรับผู้ที่มีภาวะแท้งบุตร โดยบางครั้งต้องนำชิ้นส่วนรกที่ตกค้างภายในมดลูกออก เพื่อทำความสะอาด และป้องกันการมีเลือดออกที่อาจเกิดขึ้น แพทย์จะใช้เครื่องมือหรือยาเหน็บเพื่อช่วยในการเปิดปากมดลูก และขูดเนื้อเยื่อในมดลูกออกด้วยเครื่องมือขูดเนื้อเยื่อ

ขูดมดลูก

ข้อบ่งชี้สำหรับการขูดมดลูก

การขูดมดลูกเพื่อการวินิจฉัย ใช้สำหรับเก็บตัวอย่างเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrium) เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น

  • มีภาวะเลือดออกจากโพรงมดลูกผิดปกติหรือหลังจากหมดประจำเดือน
  • สงสัยว่ามีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ

ปกติแล้ว แพทย์มักใช้การตรวจชิ้นเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Biopsy) กรณีที่ต้องการเก็บเนื้อเยื่อเพียงบางส่วนเพื่อตรวจวิเคราะห์ แต่อาจจำเป็นต้องขูดมดลูกในกรณีที่ปริมาณเนื้อเยื่อจากการเก็บตัวอย่างไม่เพียงพอ นอกจากนี้ อาจมีการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกร่วมกับการขูดมดลูกด้วย โดยการสอดเครื่องมือเข้าสู่มดลูกเพื่อบันทึกภาพถ่ายภายใน จึงช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นติ่งเนื้อเล็ก ๆ และเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อที่มีความผิดปกติเพื่อนำไปตรวจวินิจฉัยได้

นักพยาธิวิทยาจะนำตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจวิเคราะห์โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งสามารถตรวจหาอาการต่าง ๆ ต่อไปนี้

  • มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Cancer)
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวผิดปกติ (Endometrial Hyperplasia)
  • ติ่งเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Polyp)

การขูดมดลูกเพื่อการรักษา (Therapeutic D and C) คือการขูดเนื้อเยื่อภายในมดลูก ซึ่งใช้กับกรณีต่อไปนี้

  • การมีเลือดออกจากอวัยวะเพศมากหรือนานเกินไป อาจใช้การขูดมดลูกกรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยการใช้ยาได้
  • การรักษาภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy) ภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกคือการเกิดเนื้องอกที่รกในครรภ์ ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการขูดมดลูก
  • การแท้งบุตร หากเนื้อเยื่อจากครรภ์สามารถหลุดออกมาได้เองทั้งหมด ก็ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาเพิ่มเติม แต่ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องเข้ารับการขูดมดลูก เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีเนื้อเยื่อใด ๆ ตกค้างอยู่
  • การทำแท้ง ในกรณีที่กฎหมายอนุญาต และได้รับการพิจารณาว่ามีข้อบ่งชี้ในการทำแท้ง ผู้ทำแท้งอาจต้องเข้ารับการขูดมดลูกเพื่อนำเนื้อเยื่อภายในมดลูกออก
  • การตกเลือดหลังคลอด (Postpartum Hemorrhage) การขูดมดลูกใช้รักษาอาการเลือดออกในปริมาณที่มากเกินไปหลังการคลอดบุตรได้

ข้อจำกัดในการขูดมดลูก

การขูดมดลูกมีข้อจำกัดในกรณีต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าอาจตั้งครรภ์ไม่ควรเข้ารับการรักษาด้วยการขูดมดลูก
  • เนื่องจากการขูดมดลูกต้องทำขณะแยกขา 2 ข้างออกจากกันและใส่เครื่องมือถ่างช่องคลอดแบบปากเป็ด (Speculum) ในช่องคลอด หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง หรือมีข้อจำกัดในการแยกขาออก เช่น ข้อสะโพกอักเสบรุนแรง อาจไม่สามารถทำการขูดมดลูกได้

การเตรียมตัวก่อนการขูดมดลูก

การเตรียมตัวในการเข้ารับการขูดมดลูกมีดังต่อไปนี้

  • ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบหากผู้ป่วยสงสัยว่าอาจตั้งครรภ์ กำลังรับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด มีความผิดปกติเกี่ยวกับเลือด หรือมีประวัติการแพ้ต่าง ๆ
  • ผู้ป่วยบางรายอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดก่อนขูดมดลูก เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด หรือตรวจการแข็งตัวของเลือด
  • อาจต้องงดดื่มน้ำและรับประทานอาหารเป็นเวลา 1 คืนก่อนเข้ารับหัตถการ
  • แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเหน็บยาขยายปากมดลูกก่อนเข้ารับการรักษา 1 วัน เพื่อให้ปากมดลูกกว้างขึ้นและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
  • ผู้ป่วยควรพาผู้ที่ไว้ใจได้มาด้วยเพื่อดูแลหลังทำการขูดมดลูก เนื่องจากฤทธิ์ของยาชา หรือยาสลบอาจทำให้ไม่สามารถกลับบ้านหลังทำการขูดมดลูกได้เพียงลำพัง

ขั้นตอนการรักษา

ผู้ป่วยจะนอนหงาย โดยวางขาทั้ง 2 ข้างแยกออกจากกันบนเตียงตรวจภายในหรือขาหยั่ง ซึ่งมีลักษณะเดียวกับที่ใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear) และอาจต้องใช้ยาสลบ ยาชาเฉพาะจุด หรือยาระงับความรู้สึกผ่านหลอดเลือดดำ โดยขึ้นอยู่กับความแตกต่างของกระบวนการรักษาในผู้ป่วยแต่ละราย จะมีการเฝ้าดูสัญญาณชีพของผู้ป่วยตลอดการรักษา ซึ่งโดยทั่วไปมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. แพทย์จะทำความสะอาดปากมดลูกด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และอาจใช้การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy) เพื่อตรวจดูเนื้อเยื่อก่อนเริ่มต้นกระบวนการ
  2. แพทย์จะสอดเครื่องมือถ่างช่องคลอดแบบปากเป็ด เพื่อเปิดผนังช่องคลอดและเข้าถึงปากมดลูก
  3. หลังจากถ่างปากมดลูกแล้ว แพทย์จะสอดเครื่องมือขูดเนื้อเยื่อ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับช้อน และทำการขูดเนื้อเยื่อรอบ ๆ ผนังมดลูกออก
  4. กรณีที่เครื่องมือขูดเนื้อเยื่อไม่สามารถเก็บเนื้อเยื่อออกได้ทั้งหมด แพทย์อาจใช้เครื่องมือสำหรับดูด เพื่อเก็บเนื้อเยื่อที่ตกค้างอยู่
  5. แพทย์จะนำเครื่องมือต่าง ๆ ออกจากร่างกายเมื่อปริมาณตัวอย่างเนื้อเยื่อเพียงพอ หรือเมื่อไม่มีเนื้อเยื่อตกค้างภายในมดลูก และส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวิเคราะห์ต่อไป

ขั้นตอนหลังการขูดมดลูก

โดยทั่วไปผู้ป่วยจะพักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมงหลังสิ้นสุดกระบวนการ เพื่อเฝ้าดูอาการที่อาจเกิดขึ้น เช่น การมีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณมาก ทั้งยังให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวจากฤทธิ์ของยาสลบ หรือยาชา ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนได้

ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติหลังการรักษา 1-2 วัน แต่ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอด สวนล้างอวัยวะเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์หากแพทย์ไม่อนุญาต การขูดมดลูกอาจทำให้รอบประจำเดือนเปลี่ยนแปลง หรือเกิดปวดบิดที่ท้องน้อยได้เล็กน้อย ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยยาลดการอักเสบ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟ่น ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการหรือเข้ารับการรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป

ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ หากมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีไข้
  • มีการเจ็บปวดที่ท้องน้อยเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องเกิน 48 ชั่วโมง
  • มีเลือดไหลมากจนอาจต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง
  • มีของเหลวกลิ่นเหม็นไหลออกจากช่องคลอด

ผลการตรวจเนื้อเยื่อ

ผู้ป่วยสามารถสอบถามแพทย์เกี่ยวกับระยะเวลาโดยประมาณในการตรวจวิเคราะห์เนื้อเยื่อได้ โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยที่เข้ารับการขูดมดลูกต้องเข้าพบแพทย์อีกครั้งหนึ่งเพื่อติดตามผล โดยแพทย์จะแจ้งผลการตรวจให้ทราบอีกครั้งว่า ผลเนื้อเยื่อเป็นเซลล์ธรรมดาหรือเซลล์มะเร็งที่จำเป็นต้องรับการรักษาเพิ่มเติม

ความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

โดยทั่วไปการขูดมดลูกมักไม่เป็นอันตราย แต่ในบางกรณีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ดังนี้

 

  • การติดเชื้อหรือมีเลือดออกจากช่องคลอด บางกรณี การขูดมดลูกอาจยังมีเนื้อเยื่อบางส่วนตกค้างอยู่ ซึ่งร่างกายสามารถขับออกมาเองได้โดยไม่เป็นอันตรายใด ๆ แต่หากเกิดการติดเชื้อหรือมีเลือดออกจากช่องคลอดมากขึ้น ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการขูดมดลูกซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
  • ปากมดลูกเสียหาย หากปากมดลูกขาดหรือเสียหายระหว่างการขูดมดลูก แพทย์จะกดปากแผล หรือเย็บปิดบาดแผลเพื่อห้ามเลือด
  • ภาวะพังผืดในโพรงมดลูก (Asherman’s Syndrome) มักเกิดขึ้นจากการขูดมดลูกหลังคลอดบุตรหรือแท้งบุตร ซึ่งอาจส่งผลให้ประจำเดือนขาด หรือมีอาการเจ็บปวดมากขณะมีประจำเดือน เกิดภาวะมีบุตรยาก หรืออาจเกิดการแท้งบุตรขึ้นในอนาคต
  • มดลูกทะลุ (Uterus Perforation) อาจเกิดจากเครื่องมือระหว่างทำการขูดมดลูก ซึ่งมักเกิดในผู้ที่เพิ่งตั้งครรภ์และหมดประจำเดือน