ภาวะช็อกจากการขาดน้ำหรือเสียเลือด (Hypovolemic Shock)

ความหมาย ภาวะช็อกจากการขาดน้ำหรือเสียเลือด (Hypovolemic Shock)

Hypovolemic Shock (ภาวะช็อกจากการขาดน้ำหรือเสียเลือด) เป็นภาวะช็อกรูปแบบหนึ่งที่เกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียเลือดหรือของเหลวในปริมาณมากอย่างฉับพลัน เช่น ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ มีเลือดออกภายในร่างกาย มีภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง หรือมีปัญหาสุขภาพบางอย่างจนส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ไม่เพียงพอ

Hypovolemic Shock เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ควรได้รับการรักษาทันที เนื่องจากการที่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมีปริมาณเลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้อวัยวะของผู้ป่วยหยุดทำงานจนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ภาวะช็อกจากการขาดน้ำหรือเสียเลือด (Hypovolemic Shock)

อาการของ Hypovolemic Shock

อาการของ Hypovolemic Shock จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น สาเหตุที่ส่งผลให้เกิดภาวะนี้ อายุ สุขภาพโดยรวม รวมถึงปริมาณและความเร็วในการสูญเสียเลือดหรือของเหลวในร่างกาย โดยอาการ Hypovolemic Shock ที่อาจพบได้ เช่น

  • กระหายน้ำ
  • ปวดตะคริวกล้ามเนื้อ
  • รู้สึกกระวนกระวาย
  • ผิวหนังซีดและเย็นผิดปกติ
  • มีเหงื่อออกมาก
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ชีพจรเต้นเบา
  • หายใจหอบถี่
  • ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลย
  • อ่อนเพลีย
  • ริมฝีปากและเล็บเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ
  • หน้ามืด หมดสติ

ในกรณีที่มีการสูญเสียเลือดจากการบาดเจ็บภายในร่างกาย ผู้ที่มีภาวะ Hypovolemic Shock อาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เสียเลือด เช่น อาการบวมบริเวณท้อง ปวดท้อง เจ็บหน้าอก อุจจาระมีสีดำหรือปนเลือด ปัสสาวะปนเลือด หรืออาเจียนปนเลือด 

เนื่องจาก Hypovolemic Shock เป็นภาวะที่มีความรุนแรง ผู้ที่มีอาการในข้างต้น สูญเสียเลือดในปริมาณมาก หรือคนใกล้ตัวมีโอกาสเป็นภาวะ Hypovolemic Shock ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและความเสียหายของอวัยวะภายในร่างกาย

สาเหตุของ Hypovolemic Shock

Hypovolemic Shock จะเกิดขึ้นเมื่อปริมาณเลือดในร่างกายลดลงอย่างมาก หรือมากกว่าประมาณ 15% โดยมีสาเหตุมาจากการสูญเสียเลือดหรือของเหลวอย่างรุนแรงและฉับพลัน โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น การได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุอย่างรุนแรง การเกิดแผลไหม้ เลือดออกภายในร่างกาย การใช้ยาขับปัสสาวะ 

รวมไปถึงภาวะผิดปกติต่าง ๆ เช่น การอาเจียนเป็นปริมาณมาก ท้องเสียอย่างรุนแรง ไข้สูง มีเหงื่อออกมากผิดปกติ ลำไส้อุดตัน ภาวะขาดน้ำขั้นรุนแรง ภาวะท้องนอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) โรคไต

การวินิจฉัย Hypovolemic Shock

ในเบื้องต้นแพทย์จะตรวจวัดความดันโลหิต อุณหภูมิของร่างกาย ชีพจร อัตราการหายใจ และอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อหาสัญญาณของ Hypovolemic Shock หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวอยู่ อาจมีการสอบถามประวัติทางด้านสุขภาพบางอย่างร่วมด้วย จากนั้นแพทย์จะทำการรักษาผู้ป่วยให้ปลอดภัยก่อน

หลังจากการรักษาเบื้องต้นแล้ว แพทย์จะต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยมีภาวะ Hypovolemic Shock และค้นหาสาเหตุก่อนจะวางแผนการรักษาในขั้นต่อไป โดยวิธีการตรวจจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน และดุลยพินิจของแพทย์ เช่น

  • การตรวจเลือด
  • การตรวจปัสสาวะ
  • การตรวจการตั้งครรภ์ 
  • การอัลตราซาวด์และการทำเอ็กโคหัวใจ (Echocardiogram) เพื่อตรวจโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)
  • การเอกซเรย์ (X-Ray) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการอัลตราซาวด์ ตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อตรวจดูความผิดปกติของอวัยวะในร่างกายผู้ป่วย

การรักษา Hypovolemic Shock

Hypovolemic Shock เป็นภาวะที่ควรได้รับการรักษาทันที ผู้ที่พบเห็นคนใกล้ตัวมีสัญญาณของภาวะนี้ ให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลหรือติดต่อหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที โดยระหว่างที่กำลังไปพบแพทย์หรือรอทีมแพทย์ ห้ามให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ และให้ปฐมพยาบาลผู้ป่วยในเบื้องต้น

การปฐมพยาบาลในเบื้องต้นขณะรอทีมแพทย์ฉุกเฉิน

ในขั้นตอนแรกให้ตรวจชีพจรของผู้ป่วยก่อนเพื่อประเมินความรุนแรงของอาการ หากผู้ป่วยมีชีพจร ให้จัดท่าผู้ป่วยให้นอนราบกับพื้น และยกส่วนขาให้เหนือจากพื้นประมาณ 1 ฟุต เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ให้หลีกเลี่ยงการขยับตัวผู้ป่วยหากเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ คอ หลัง และขา

แต่หากผู้ป่วยไม่มีชีพจร ให้เริ่มปั๊มหัวใจ โดยเริ่มจากจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย วางสันมือทาบไว้ตรงกึ่งกลางหน้าอกหรือระหว่างราวนม จากนั้นวางมืออีกข้างทับไว้ด้านบน เหยียดแขนทั้งสองข้างให้ตรง จัดไหล่ให้ตั้งฉากกับหน้าอกของผู้ป่วย และเริ่มกดหน้าอกผู้ป่วยให้ได้ความลึกประมาณ 5 เซนติเมตร ด้วยความเร็วประมาณ 100–120 ครั้งต่อนาที โดยระหว่างกดให้ใช้น้ำหนักจากไหล่เป็นหลัก

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีแผลเลือดออก ให้นำเศษต่าง ๆ ที่ติดอยู่บริเวณแผลออก แต่ให้หลีกเลี่ยงการดึงเศษที่ทิ่มเข้าไปในเนื้อออก และห้ามเลือดให้ผู้ป่วย โดยการนำผ้าสะอาดมาพันรอบแผลและกดเอาไว้ หากเป็นไปได้ ให้นำผู้ป่วยไปอยู่ในพื้นที่ที่อบอุ่นเพื่อป้องกันผู้ป่วยเกิดภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia

การรักษาโดยแพทย์หลังจากนำส่งโรงพยาบาล

เมื่อผู้ป่วยถึงโรงพยาบาล หรือทีมแพทย์ฉุกเฉินมาถึง แพทย์จะประเมินอาการในเบื้องต้นเพื่อตรวจดูว่าผู้ป่วยเข้าข่ายภาวะ Hypovolemic Shock หรือไม่ เช่น วัดความดันโลหิต อุณหภูมิของร่างกาย ชีพจร อัตราการหายใจ และอัตราการเต้นของหัวใจผู้ป่วย

หากผู้ป่วยมีแผลเลือดออก แพทย์จะทำแผลและห้ามเลือด จากนั้นจะให้ออกซิเจนเพื่อเพิ่มระดับออกซิเจนในร่างกาย และให้สารน้ำทางน้ำเกลือหรือให้เลือดในรายที่เสียเลือดมาก เพื่อช่วยทดแทนของเหลวหรือเลือดที่สูญเสียไป และช่วยให้หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาอื่นร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของภาวะช็อคในผู้ป่วยแต่ละคน โดยการประเมินติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นระยะ เช่น

  • การผ่าตัดเพื่อแก้ไขสาเหตุและห้ามเลือด ร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเกิดภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ (Septic Shock)
  • การใช้ยาบางชนิดที่ออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มความดันโลหิตในร่างกาย และช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้มากขึ้น เช่น ยาโดปามีน (Dopamine) ยาโดบูทามีน (Dobutamine) ยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) และยานอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของ Hypovolemic Shock

Hypovolemic Shock อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีปัญหาทางสุขภาพบางอย่างร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต มีประวัติป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือโรคปอด และผู้ที่กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่ อย่างยาวาฟาริน (Warfarin) หรือยาแอสไพริน (Aspirin) เป็นต้น

ความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนจะขึ้นอยู่กับความเร็วและปริมาณในการสูญเสียเลือดและของเหลวในร่างกายของผู้ป่วย โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบ เช่น

  • ภาวะขาดน้ำ
  • การติดเชื้อในผู้ป่วยที่เกิดบาดแผล
  • ไต สมอง และอวัยวะอื่น ๆ ภายในร่างกายเกิดความเสียหาย
  • แขนหรือขาเกิดภาวะเนื้อตายเน่า (Gangrene) ซึ่งแพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อกำจัดออก
  • ภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ (Metabolic Acidosis)  
  • ภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน (Hypoxia)
  • ภาวะหัวใจขาดเลือด (Heart Attack)
  • เสียชีวิต

การป้องกัน Hypovolemic Shock

การลดความเสี่ยงการเกิดภาวะ Hypovolemic Shock อาจทำได้โดยการรีบปฐมพยาบาลและรีบห้ามเลือดทันทีที่พบว่าร่างกายสูญเสียเลือด เพื่อป้องกันร่างกายสูญเสียเลือดหรือเกิดความเสียหายมากขึ้น รวมถึงควรให้ผู้ที่เสียเลือดอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกเสมอ และที่สำคัญควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด