อาการภูมิแพ้ กับสัญญาณอันตรายที่ควรระวัง

อาการภูมิแพ้ เป็นอาการที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่ออาหารหรือสารบางอย่าง ซึ่งอาการภูมิแพ้ถือเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยอาการภูมิแพ้จะมีความแตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับบุคคล สารก่อภูมิแพ้ และชนิดของปฏิกิริยาภูมิแพ้ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการที่ไม่รุนแรง หรืออาจเป็นอาการที่รุนแรงมากจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการภูมิแพ้และวิธีรับมือกับอาการที่อาจเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก

อาการภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้คืออะไร ?

โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมหรือสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว สารดังกล่าวจะไม่ทำปฏิกิริยาหรือเป็นอันตรายต่อร่างกายของคนส่วนใหญ่ แต่ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ เมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกายจะทำให้มีอาการแพ้ที่แตกต่างกันไป โดยสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย เช่น ละอองเกสร ขนหรือสะเก็ดผิวหนังของสัตว์ ไรฝุ่น เชื้อรา แมลงสัตว์กัดต่อย อาหารหรือยาบางชนิด ยาง และสารชนิดอื่น ๆ เป็นต้น

อาการภูมิแพ้เป็นอย่างไร ?

อาการภูมิแพ้อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคนขึ้นอยู่กับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งอาการภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • เกิดลมพิษ มีผื่นแดงคันขึ้นทั่วตัว
  • มีอาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เช่น จาม คัน น้ำมูกไหล และคัดจมูก เป็นต้น
  • มีอาการของภาวะเยื่อบุตาอักเสบ เช่น คันหรือระคายเคืองบริเวณดวงตา ตาแดง และมีน้ำตาไหล เป็นต้น
  • มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และตา
  • หายใจมีเสียงหวีด แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม และไอ
  • รู้สึกไม่สบายตัว
  • ปวดท้อง ท้องเสีย และอาเจียน
  • ผิวแห้ง แดง และแตก

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการภูมิแพ้อย่างรุนแรงจนเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงหรือแอแนฟิแล็กซิส ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะช็อกและมีอันตรายถึงชีวิตได้ โดยอาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกของปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง มีดังนี้

  • มีอาการบวมบริเวณคอและปาก
  • หายใจลำบาก หรือหายใจไม่อิ่มอย่างรุนแรง
  • วิงเวียนศีรษะ
  • รู้สึกสับสน และวิตกกังวล
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชีพจรเต้นเร็วหรืออ่อนลง
  • ผิวหนังหรือริมฝีปากเขียวคล้ำ
  • ความดันโลหิตลดต่ำลง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • หมดสติ และสูญเสียการรับรู้

ควรไปพบแพทย์เมื่อใด

หากคุณมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจเกิดจากภูมิแพ้ และอาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากรับประทานยา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำทันที แต่หากคุณมีอาการที่เป็นสัญญาณของปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง คุณจำเป็นต้องฉีดยาเอพิเนฟรินด้วยตนเองเพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้น และควรรีบโทรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างทันท่วงที

วิธีรับมือกับอาการภูมิแพ้

เนื่องจากอาการภูมิแพ้เป็นอาการเป็นอาการที่พบได้บ่อย และอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ควรเรียนรู้วิธีรับมือกับอาการภูมิแพ้ที่เหมาะสมเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

หลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้

วิธีรับมือกับอาการภูมิแพ้ที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ เช่น ผู้ที่แพ้อาหารบางชนิดควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ผู้ที่แพ้สัตว์เลี้ยงไม่ควรเลี้ยงสัตว์หรือหากจำเป็นต้องเลี้ยงควรให้สัตว์อยู่นอกตัวบ้านและหมั่นอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงเป็นประจำ ผู้ที่แพ้เชื้อราควรทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอและจัดบ้านให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อป้องกันกลิ่นอับชื้นและการเกิดเชื้อรา ผู้ที่แพ้ไรฝุ่นควรใช้ผ้านวมหรือหมอนที่ได้รับการรับรองว่าไม่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้และควรเลือกใช้พื้นไม้แทนพรม และผู้ที่มีอาการไข้ละอองฟางก็ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีละอองเกสรมากเป็นพิเศษ เป็นต้น ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ที่ลูกมีอาการภูมิแพ้ควรอธิบายและคอยเตือนลูกให้ระมัดระวังสารที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้อยู่เสมอเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการภูมิแพ้ที่รุนแรง

ใช้ยารักษาอาการภูมิแพ้

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการภูมิแพ้ที่ไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยอาจใช้ยาบางชนิดเพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้น เช่น ยาต้านฮิสตามีน ยาแก้คัดจมูก ยาสเตียรอยด์ รวมถึงโลชั่นและครีมบางชนิด เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา เนื่องจากยาแต่ละชนิดมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการที่แตกต่างกัน

เข้ารับการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด

ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้โดยฉีดสารก่อภูมิแพ้ปริมาณเล็กน้อยเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้ร่างกายคุ้นเคยกับสารและทำให้อาการภูมิแพ้ทุเลาลงจนหายขาด มักใช้ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ ได้ โดยผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการฉีดสารเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้อาจก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงและอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้หากร่างกายผู้ป่วยเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่รุนแรงหลังจากฉีดยา ดังนั้น การรักษาด้วยวิธีนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้อย่างใกล้ชิด

ใช้ยาเอพิเนฟริน

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการภูมิแพ้อย่างรุนแรงหรือเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องฉีดยาเอพิเนฟรินเพื่อบรรเทาอาการโดยด่วน ซึ่งผู้ป่วยควรมีการเตรียมการในภาวะฉุกเฉินโดยพกยาฉีดเอพิเนฟรินเพื่อใช้ในกรณีที่อาการกำเริบ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรเรียนรู้วิธีการฉีดยาที่ถูกต้องจากแพทย์ก่อนฉีดยาด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการภูมิแพ้ของตนเอง และควรเรียนรู้วิธีรับมือกับอาการภูมิแพ้ที่ถูกต้องตามลักษณะของอาการของแต่ละคน ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการภูมิแพ้ที่รุนแรงควรไปพบแพทย์ทันที