รู้จักวิธีห้ามเลือดและอาการที่ควรไปพบแพทย์

วิธีห้ามเลือดเป็นวิธีปฐมพยาบาลที่ควรทราบ โดยเลือดที่ไหลออกมาอาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น เลือดกำเดาไหล รอยบาดหรือแผลจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งอาจเกิดการเสียเลือดมากเกินไป และอาจทำให้เกิดอันตรายได้ หากทราบวิธีห้ามเลือด ก็อาจช่วยป้องกันไม่ให้สูญเสียเลือดมากเกินไป และป้องกันอาการช็อกที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้

เลือดออก คืออาการที่สูญเสียเลือดจำนวนหนึ่งจากระบบไหลเวียนเลือด ซึ่งเกิดจากการที่หลอดเลือดบริเวณนั้นได้รับความเสียหาย โดยเลือดออกสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งภายในและภายนอก ถึงแม้ว่าวิธีห้ามเลือดอาจช่วยหยุดอาการเลือดออกภายนอกที่ไม่รุนแรงได้ แต่หากสงสัยว่ามีเลือดออกภายใน เลือดออกรุนแรง หรือเลือดไม่หยุดไหลแม้ใช้วิธีห้ามเลือดแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีก่อนเกิดอันตราย 

วิธีห้ามเลือด

วิธีห้ามเลือดก่อนเกิดอันตราย

วิธีการห้ามเลือดอาจแตกต่างกันไปตามอาการและความรุนแรง ดังนี้

วิธีห้ามเลือดจากบาดแผล

วิธีห้ามเลือดจากบาดแผลในเบื้องต้น อาจเหมาะสำหรับแผลขนาดเล็ก แผลที่เลือดออกไม่รุนแรง หรือแผลที่ไม่ลึกมาก โดยอาจทำได้ตามขั้นตอนดังนี้

  • กดบริเวณบาดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาด โดยควรกดบริเวณบาดแผลค้างไว้ประมาณ 15 นาทีเพื่อให้เลือดแข็งตัวและหยุดไหล หากกดบริเวณปากแผลแล้วแต่เลือดยังคงไหลอยู่ ให้ใช้ผ้าหรือผ้าก๊อซสะอาดวางทับเพิ่ม และกดค้างต่อไป
  • หากบาดแผลเกิดขึ้นบริเวณแขนหรือขา ให้ยกแขนและขาขึ้นให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อให้เลือดไหลช้าลง และกดบริเวณแผลต่อไป
  • เมือ่เลือดหยุดไหล ควรทำความสะอาดแผลด้วยสบู่และน้ำอุ่นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยพยายามล้างอย่างเบามือเพื่อป้องกันบาดแผลเปิด นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ไอโอดีนบนบาดแผล เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณแผลเกิดความเสียหายได้
  • ปิดบาดแผลด้วยผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์เพื่อป้องกันบาดแผลจากการติดเชื้อ โดยควรทำแผลและเปลี่ยนผ้าพันแผลทุกวันเพื่อความสะอาด

วิธีห้ามเลือดกำเดาไหล

เลือดกำเดาหรือเลือดที่ไหลออกจากจมูก เป็นอาการที่อาจพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเลือดกำเดาที่เกิดในเด็กอาจไม่เป็นอันตราย แต่หากเกิดในผู้ใหญ่ เลือดกำเดามักหยุดไหลได้ยาก และอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง อย่างไรก็ตาม วิธีห้ามเลือดกำเดาอาจทำได้ดังนี้

  • นั่งลง และโน้มหัวไปด้านหน้าเล็กน้อย ซึ่งท่านั่งแบบนี้อาจช่วยลดความดันของหลอดเลือดภายในจมูก ช่วยให้เลือดไหลช้าลง และช่วยป้องกันไม่ให้เลือดไหลลงกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้ได้
  • บีบเหนือจมูกค้างไว้ประมาณ 10–15 นาที ระหว่างที่บีบให้หายใจผ่านทางปาก
  • ปล่อยมือที่บีบจมูกออกช้า ๆ เมื่อเลือดหยุดไหลแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการแคะจมูก หรือสั่งจมูกไปสักระยะหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดกำเดาไหลอีกครั้ง
  • หากปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว แต่เลือดกำเดาไหลยังคงไหลนานเกิน 20 นาที ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

วิธีห้ามเลือดกับอาการที่ควรไปพบแพทย์ 

วิธีห้ามเลือดอาจเป็นวิธีปฐมพยาบาลที่ช่วยห้ามเลือดได้ในเบื้องต้น แต่หากพบเจอสัญญาณหรืออาการที่เป็นอันตราย ควรรีบไปพบแพทย์หรือติดต่อ 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทันที ซึ่งอาการที่อาจเป็นอันตรายอาจมีดังนี้

  • แผลที่มีสิ่งแปลกปลอมแทงหรือฝังอยู่ในร่างกาย หรือมีเศษดินและสิ่งสกปรกติดอยู่บริเวณแผล
  • แผลบริเวณหน้าท้อง ใบหน้า หรือหน้าอก
  • แผลที่เกิดจากการถูกสัตว์กัด เช่น งูกัด หรือสุนัขกัด 
  • แผลที่มีเลือดพุ่งออกจากแผล หรือเลือดไหลไม่หยุด
  • แผลมีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูง แผลแดง บวม กดแล้วเจ็บอย่างมาก หรือมีหนองไหลออกจากแผล
  • มีสัญญาณของอาการเลือดออกภายในร่างกาย เช่น เจ็บบริเวณที่บาดแผล บวม คลื่นไส้ อาเจียน ตัวซีด เหงื่อออก หายใจลำบาก หรือหมดสติ

หากผู้บาดเจ็บมีสิ่งแปลกปลอมแทงหรือฝังอยู่ในร่างกาย ไม่ควรดึงสิ่งแปลกปลอมนั้นออก อีกทั้งยังควรให้ผู้บาดเจ็บนอนราบกับพื้น และกดบริเวณบาดแผลเพื่อช่วยหยุดเลือดไว้จนกว่าจะได้รับความช่วยเหลือ 

นอกจากนี้ หากพบเจอผู้ที่มีเลือดไหลอย่างรุนแรงหรือเลือดไหลไม่หยุด ควรเฝ้าระวังภาวะช็อกจากการเสียเลือด เช่น อ่อนเพลีย หายใจเร็วกว่าปกติ เหงื่อออกเยอะ ตัวเย็น ชีพจรเต้นช้าลง และหมดสติ โดยภาวะช็อกอาจนำไปสู่อาการอวัยวะล้มเหลวซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้