ทำความรู้จักโรคติดต่อ พร้อมวิธีป้องกันอย่างเหมาะสมก่อนเกิดอันตราย

โรคติดต่อ เป็นปัญหาสุขภาพชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ที่สามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ โดยโรคติดต่อมักทำให้เกิดอาการต่าง ๆ แตกต่างกันไปตามโรคติดต่อนั้น ๆ เช่น มีไข้สูง ไอ อ่อนเพลีย ท้องเสีย อย่างไรก็ตาม โรคติดต่อส่วนใหญ่สามารถป้องกันและรักษาให้อาการดีขึ้นได้

โรคติดต่อสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยโรคมะเร็งหรือโรคที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเอชไอวี โรคเอดส์ โดยการแพร่กระจายเชื้อโรคติดต่อมีหลายวิธี เช่น การถูกแมลงกัดต่อย การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันกับผู้ติดเชื้อ การกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค 

โรคติดต่อ

ทำความรู้จักโรคติดต่อ

โรคติดต่อเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นเมื่อมีเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือพยาธิ เข้าสู่ร่างกาย และก่อให้เกิดการติดเชื้อ โดยระบบภูมิคุ้มของร่างกายจะตอบสนองต่อการติดเชื้อ และทำให้เกิดอาการโรคติดต่อแตกต่างกันไปตามชนิดของโรคติดต่อ โดยโรคติดต่อที่สามารถพบได้นั้นมีหลากหลายชนิด เช่น

โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส

โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสมีหลายชนิด เช่น 

1. โรคไข้หวัด 

 

โรคไข้หวัดเป็นโรคที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายหลังจากสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อผ่านการไอ จาม หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน ซึ่งอาจทำให้มีอาการต่าง ๆ ที่มักไม่รุนแรงตามมา เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม  

2. โรคไข้หวัดใหญ่ 

 

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อติดเชื้อไวรัสผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อจากการไอหรือจาม และทำให้มีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป แต่มักมีอาการรุนแรงกว่า เช่น มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ แน่นหน้าอก 

 3. โรคไข้เลือดออก 

 

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นเมื่อถูกยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคกัด และไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ เมื่อเกิดการติดเชื้ออาจทำให้มีอาการต่าง ๆ ที่ควรไปพบแพทย์ทันที เช่น ผื่นแดงตามร่างกาย ไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง

4. โควิด-19 

 

โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อผ่านการไอหรือจาม ซึ่งในปัจจุบันโควิด-19 มักไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงในผู้ที่ฉีดวัคซีน โดยผู้ที่ติดโควิดอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น ไอ มีเสมหะ มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ท้องเสีย แต่ในบางรายอาจมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสชาติ

ทั้งนี้ ผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรคโควิด-19 เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการของโรคโควิด-19 รุนแรงได้

5. โรคอีสุกอีใส 

 

โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่ติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งจากผื่นอีสุกอีใสของผู้ติดเชื้อ หลังจากการติดเชื้ออาจเกิดผื่นแดงขึ้นทั่วร่างกาย มีไข้สูงและรู้สึกคัน จากนั้นผื่นอาจกลายเป็นตุ่มน้ำขนาดเล็ก และตกสะเก็ดในเวลาต่อมา โดยอีสุกอีใสอาจดีขึ้นได้เองโดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์

6. โรคติดเชื้อเอชไอวี 

 

โรคติดเชื้อเอชไอวีป็นโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อหรือป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ง่ายกว่าปกติ ควรไปพบแพทย์ หากสังเกตเห็นอาการต่าง ๆ หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันหรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ เช่น มีไข้ เจ็บภายในปากหรือคอ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต น้ำหนักลดลงผิดปกติ  

โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดอาจก่อให้เกิดโรคติดต่อบางอย่าง เช่น  

1. อหิวาตกโรค

 

อหิวาตกโรคเป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน อีกทั้งยังอาจมีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น คอแห้ง ปากแห้ง หัวใจเต้นเร็ว ทั้งนี้ หากมีอาการท้องเสียหรือภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

2. โรคไข้ไทฟอยด์

 

ไข้ไทฟอยด์เป็นโรคติดต่อจากการกินอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือการสัมผัสอุจจาระของผู้ติดเชื้อ โดยไข้ไทฟอยด์อาจส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีอาการต่าง ๆ เช่น มีไข้สูง ซึ่งไข้อาจสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากปล่อยยังไม่ได้รับการรักษา ปวดศีรษะ ปวดท้อง อ่อนเพลีย มีผื่นขึ้น เบื่ออาหาร ท้องผูก หรือท้องเสีย หากมีอาการของไข้ไทฟอยด์ ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงยิ่งขึ้น

3. โรคคออักเสบจากเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส

 

โรคคออักเสบจากเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส เป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อที่ไอหรือจาม การกินอาหาร ดื่มน้ำ หรือใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ โดยโรคคออักเสบจากเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัสอาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ เช่น เจ็บคอ คันคอ มีไข้ ปวดศีรษะ คอแดง มีคราบขาวบริเวณลำคอ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอบวม

4. โรคไอกรน 

 

โรคไอกรนเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจที่ติดต่อผ่านการหายใจรับละอองน้ำลายที่เกิดจากการไอหรือจามของผู้ติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย โดยอาการที่สังเกตได้ชัด คือไอแห้งติดต่อกัน และมักตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียงวู้บ รวมถึงอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหล ตาแดง 

5. โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

 

โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียสามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อที่ไอหรือจาม หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ติดเชื้อ โดยสามารถสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ เช่น หายใจถี่หรือหายใจลำบาก เจ็บหน้าอกขณะหายใจ เหงื่อออก หนาวสั่น ไอมีเสมหะสีเขียว เหลือง หรือมีเลือดปน หากมีอาการข้างต้น ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม

6. วัณโรค 

 

วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่ส่งผลต่อปอด โดยเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดวัณโรคสามารถติดต่อกันได้เมื่อหายใจรับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อที่ไอหรือจามเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ปอด และก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่ควรไปพบแพทย์ เช่น มีไข้ ไอหรือไอเป็นเลือด อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน น้ำหนักลดลง 

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น โรคหนองใน โรคเริม โรคหูดหงอนไก่ เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งอาจติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ป้องกัน และทำให้เกิดอาการแตกต่างกันไปตามโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น ๆ เช่น มีตกขาวผิดปกติ แสบขณะปัสสาวะ อวัยวะเพศมีผื่น ตุ่มน้ำ หรือแผล คันอวัยวะเพศ

หากพบสัญญาณหรืออาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่อาการจะรุนแรงยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ โรคติดต่ออาจเกิดได้จากเชื้อโรคอื่น ๆ อย่างเชื้อรา ซึ่งมักติดต่อผ่านการสัมผัสผิวหนังของผู้ติดเชื้อ หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น โรคกลาก โรคสังคัง อีกทั้งยังมีโรคติดต่อที่เกิดจากพยาธิ เช่น โรคไกอาเดีย (Giardiasis) โรคพยาธิปากขอ (Hookworm) ซึ่งมักติดต่อผ่านการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค

วิธีป้องกันโรคติดต่อก่อนเกิดอันตราย

การป้องกันโรคติดต่อด้วยวิธีต่าง ๆ อาจช่วยลดความเสี่ยงในติดเชื้อโรคติดต่อได้ โดยวิธีการต่าง ๆ มีหลายวิธี เช่น

  • ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคที่ติดอยู่บนมือเข้าสู่ร่างกาย
  • ฉีดวัคซีนพื่อป้องกันโรคติดต่อต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
  • กักตัวอยู่บ้านเมื่อมีอาการป่วย เช่น มีไข้ อาเจียน ท้องเสีย หรืออาการของโรคติดต่อต่าง ๆ เพื่อลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น
  • รักษาความสะอาดขณะเตรียมอาหารหรือปรุงอาหาร และควรกินอาหารที่ผ่านการปรุงสุกแล้วเท่านั้น
  • ไม่วางอาหารอยู่ในอุณหภูมิห้องนานเกินไป ควรเก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรียหรือเชื้อโรคอื่น ๆ ในอาหาร
  • ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะผู้ที่เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีคู่นอนหลายคน หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ 
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แปรงสีฟัน แก้วน้ำ ช้อน ส้อม ผ้าขนหนู

โรคติดต่อบางชนิดอาจไม่รุนแรง แต่บางชนิดอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้น หากสังเกตเห็นอาการของโรคติดต่อ หรืออาการผิดปกติใด ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป