ไอเป็นเลือด เกิดจากอะไรได้บ้าง เมื่อไรควรไปพบแพทย์

ไอเป็นเลือด เป็นอาการไอที่มีเลือดปนออกมากับน้ำลายหรือเสมหะ ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยในบางกรณีอาการไอเป็นเลือดอาจเป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติทางร่างกายที่รุนแรง อย่างการติดเชื้อหรือมะเร็งปอด รวมถึงยังอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการสูญเสียเลือดในปริมาณมากได้อีกด้วย

ความรุนแรงของอาการไอเป็นเลือดจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับปริมาณเลือดที่ปนออกมา โดยในกรณีที่มีเลือดออกมาเพียงเล็กน้อยประมาณไม่เกิน 1 ช้อนชา อาการนี้มักไม่ส่งผลรุนแรงต่อผู้ป่วย แต่กรณีที่พบว่ามีเลือดปนมามากกว่า 600 มิลลิลิตรต่อวัน หรือประมาณตั้งแต่ 100–200 มิลลิลิตรขึ้นไปต่อครั้ง ผู้ป่วยในกลุ่มนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ไอเป็นเลือด เกิดจากอะไรได้บ้าง เมื่อไรควรไปพบแพทย์

ไอเป็นเลือด เกิดจากอะไรได้บ้าง

อาการไอเป็นเลือดสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ เช่น

  • วัณโรค (Tuberculosis) โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่สามารถติดต่อได้ผ่านทางอากาศ
  • หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) เป็นภาวะอักเสบของเยื่อบุหลอดลม โดยภาวะนี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัส การสูบบุหรี่
  • โรคหลอดลมโป่งพอง (Bronchiectasis) เป็นภาวะที่หลอดลมเกิดการเสียหายและโป่งหนา ส่งผลให้ปอดเสี่ยงต่อการสะสมของเยื่อเมือกหรือเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ได้ง่าย
  • ปอดบวม (Pneumonia) เป็นภาวะติดเชื้อที่ส่งผลให้ถุงลมในปอดเกิดการอักเสบ
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) เป็นกลุ่มโรคที่ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยหายใจลำบากจากการที่ทางเดินอากาศในร่างกายเกิดการอุดตัน
  • มะเร็งปอด

นอกจากนี้ อาการไอเป็นเลือดยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่นกัน เช่น ฝีในปอด เนื้องอกในปอด หลอดเลือดอักเสบ อาการระคายเคืองลำคอจากการไอเรื้อรัง หรืออาจเกิดจากการมีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในร่างกาย

ควรทำอย่างไรเมื่อไอเป็นเลือด

แม้อาการไอเป็นเลือดในบางกรณีอาจไม่ได้มีสาเหตุที่รุนแรง แต่เนื่องจากยังมีความเป็นไปได้ว่าอาการนี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติรุนแรง ดังนั้น ผู้ที่พบว่าตนเองไอแล้วมีเลือดปนมากับน้ำลายหรือเสมหะควรสังเกตอาการและลักษณะของเลือดที่ปนมาขณะไอ และไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ 

แต่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบว่าไอแล้วมีเลือดปนมาในปริมาณมาก อาการเกิดติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ หรือพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ เวียนศีรษะ เหงื่อออกตอนกลางคืน น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีเลือดปนมากับปัสสาวะและอุจจาระ เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติที่รุนแรงจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้