ต้นอ่อนข้าวสาลี คุณประโยชน์และข้อควรรู้ก่อนเลือกรับประทาน

ต้นอ่อนข้าวสาลี (Wheat Grass) เป็นส่วนของต้นข้าวสาลีที่เพิ่งงอกออกจากเมล็ด อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ กรดอะมิโน และสารอาหารอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ เชื่อกันว่ามีสรรพคุณช่วยขับสารพิษที่ตกค้างในร่างกาย และช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต้นอ่อนข้าวสาลีนิยมปลูกในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา แต่ในปัจจุบันคนไทยบางกลุ่มนิยมปลูกเพื่อนำมาคั้นเป็นเครื่องดื่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถปลูกได้ทั้งในและนอกอาคารโดยไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก หากสงสัยว่าต้นอ่อนข้าวสาลีมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร และมีข้อควรระวังในการรับประทานอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลไว้ให้คุณแล้ว

ต้นอ่อนข้าวสาลี คุณประโยชน์และข้อควรรู้ก่อนเลือกรับประทาน

คุณประโยชน์จากต้นอ่อนข้าวสาลี

เชื่อกันว่าการดื่มน้ำที่คั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ขับสารพิษออกจากร่างกาย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหารและระบบไหลเวียนเลือดดังนี้

1. อุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด

ต้นอ่อนข้าวสาลีเป็นแหล่งของวิตามินต่าง ๆ มากมาย ทั้งวิตามินเอ วิตามินบี 6 วิตามินอี วิตามินซี วิตามินเค รวมทั้งแร่ธาตุและสารอาหารอื่น ๆ เช่น แคลเซียม ซีลีเนียม แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก กรดอะมิโน และคลอโรฟิลล์ ซึ่งสารอาหารเหล่านี้มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน เช่น ช่วยลดการอักเสบ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคติดเชื้อ และต้านอนุมูลอิสระ

นอกจากนี้วิตามินบางชนิดในต้นอ่อนข้าวสาลียังมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจ

อย่างไรก็ตามงานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาในกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น จึงควรรองานวิจัยอื่นเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของสารอาหารในต้นอ่อนข้าวสาลีในการป้องกันหรือรักษาโรคต่าง ๆ ต่อไป

2. คุณสมบัติในการต้านมะเร็ง

ผลการวิจัยหลายชิ้นพบว่าสารต้านอนุมูลอิสระในต้นอ่อนข้าวสาลีอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าสารที่ได้จากสกัดต้นอ่อนข้าวสาลีอาจยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งกล่องเสียงได้ สอดคล้องกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่พบว่าสารคลอโรฟิลลิน (Chlorophyllin) ในต้นอ่อนข้าวสาลีมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมได้ นอกจากนี้งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ที่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและดื่มน้ำต้นอ่อนข้าวสาลีทุกวัน อาจช่วยลดความเสียหายของหลอดเลือดได้ 

อย่างไรก็ตาม การศึกษาและวิจัยคุณสมบัติของต้นอ่อนข้าวสาลีต่อการรักษาหรือป้องกันการเกิดโรคมะเร็งนั้นมีจำนวนน้อย และมีข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้ไม่สามารถยืนยันประสิทธิภาพของการใช้ต้นอ่อนข้าวสาลีต่อโรคมะเร็งได้อย่างชัดเจน จึงควรรอผลการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต ทั้งนี้ผู้ป่วยมะเร็งควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานต้นอ่อนข้าวสาลี และไม่ควรรับประทานต้นอ่อนข้าวสาลีเพื่อหวังผลลัพธ์ในการรักษาโรคมะเร็ง

3. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

ต้นอ่อนข้าวสาลีอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานได้ โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าต้นอ่อนข้าวสาลีอาจมีคุณสมบัติช่วยในการรักษาโรคเบาหวานได้ โดยพบว่าต้นอ่อนข้าวสาลีอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ อย่างไรก็ตามผลการศึกษาชิ้นนี้เป็นเพียงการทดลองในสัตว์และยังต้องการการศึกษาในมนุษย์เพิ่มเติมต่อไป

4. ต้านการอักเสบ

คลอโรฟิลล์ในต้นอ่อนข้าวสาลีมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ จึงอาจมีประโยชน์ต่อการลดภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative Stress) ซึ่งเป็นภาวะความไม่สมดุลกันระหว่างอนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย เนื่องจากงานวิจัยหนึ่งระบุว่าสารอะพิจีนีน (Apigenin) หนึ่งในสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ที่พบมากในน้ำต้นอ่อนข้าวสาลี มีคุณสมบัติต้านการอักเสบได้ดี 

อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้เป็นเพียงการทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ยังจำเป็นต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อยืนยันประสิทธิภาพในการต้านการอักเสบของโรคต่าง ๆ ในมนุษย์

รับประทานต้นอ่อนข้าวสาลีอย่างไรให้ปลอดภัย

โดยทั่วไปคนนิยมปลูกต้นอ่อนข้าวสาลีภายในบ้านและนำมาคั้นน้ำดื่ม ปั่นเป็นสมูทตี้ ทำน้ำสลัด หรือผสมในเครื่องดื่มอื่น ๆ นอกจากนี้ อาจรับประทานในรูปแบบอาหารเสริมชนิดแคปซูลหรือแบบผงสำเร็จรูปชงน้ำดื่ม ซึ่งสะดวกต่อการรับประทานและสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าทั่วไป

การรับประทานต้นอ่อนข้าวสาลีควรเริ่มจากการรับประทานทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายปรับตัวในการย่อยได้ก่อน แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มปริมาณการรับประทาน ซึ่งปริมาณที่เหมาะสมในรับประทานจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับในรูปแบบที่เลือกรับประทาน โดยปริมาณการดื่มน้ำต้นอ่อนข้าวสาลีจะอยู่ที่ครั้งละ 2 แก้วช็อต หรือประมาณ 1–4 ออนซ์ ส่วนแบบผงสำเร็จรูปควรรับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา หรือรับประทานตามปริมาณที่ฉลากระบุไว้ ทั้งนี้ การดื่มน้ำตามหลังจากดื่มน้ำต้นอ่อนข้าวสาลี อาจช่วยลดการเกิดผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

ข้อควรระวังในการรับประทานต้นอ่อนข้าวสาลี

ต้นอ่อนข้าวสาลีมักปลูกในดินหรือปลูกโดยใช้น้ำ และนำต้นอ่อนสดมาคั้นน้ำดื่ม จึงอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อปลูกเพื่อรับประทานเอง จึงควรเลือกซื้อต้นอ่อนข้าวสาลีจากแหล่งที่ได้รับการรับรองและเชื่อถือได้ ทั้งนี้หากสังเกตว่าต้นอ่อนข้าวสาลีมีลักษณะผิดปกติ เน่าเสีย หรือรับประทานแล้วมีรสขม ไม่ควรนำมารับประทานโดยเด็ดขาด

ปริมาณการรับประทานต้นอ่อนข้าวสาลีเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรระมัดระวัง เนื่องจากบางคนอาจมีอาการผิดปกติเช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการรับประทานเกินกว่าปริมาณที่แนะนำ หากมีอาการดังกล่าวหลังรับประทาน ควรลดปริมาณการรับประทานลง ซึ่งโดยทั่วไปอาการมักดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ หรือหลังจากร่างกายปรับตัวกับการรับประทานต้นอ่อนข้าวสาลีได้

นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ควรระมัดระวังการรับประทานต้นอ่อนข้าวสาลี

  • ผู้ป่วยโรคเซลิแอค (Celiac Disease) หรือมีอาการแพ้กลูเตน แม้ว่าต้นอ่อนข้าวสาลีจะจัดเป็นพืชที่ไม่มีกลูเตน แต่หากมีอาการของโรคเซลิแอค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานต้นอ่อนข้าวสาลีเสมอ 
  • ผู้ที่มีอาการแพ้ข้าวสาลีหรือแพ้หญ้า ไม่ควรรับประทานต้นอ่อนข้าวสาลี
  • เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังให้นมบุตร หรือระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ไม่ควรรับประทานต้นอ่อนข้าวสาลี เนื่องจากเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

ต้นอ่อนข้าวสาลีมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาชนิดของสารอาหารที่พบในต้นอ่อนข้าวสาลี หรือเป็นเพียงการศึกษาในห้องปฏิบัติการ และสัตว์ทดลอง จึงควรรอผลการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันถึงประโยชน์ต่อสุขภาพที่ชัดเจน 

ทั้งนี้ผู้มีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาบางชนิด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานต้นอ่อนข้าวสาลี และไม่ควรรับประทานต้นอ่อนข้าวสาลีทดแทนยารักษาโรคใด ๆ การรับประทานต้นอ่อนข้าวสาลีควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารบำรุงสุขภาพได้อย่างครบถ้วนยิ่งขึ้น