แพ้กลูเตน (Gluten Sensitivity)

ความหมาย แพ้กลูเตน (Gluten Sensitivity)

แพ้กลูเตนเป็นอาการไม่พึงประสงค์หลังจากรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกลูเตน ซึ่งกลูเตนเป็นโปรตีนที่พบได้ทั่วไปในข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ รวมถึงพบได้ในวิตามินหรือยาบางชนิด ตามปกติแล้วกลูเตนเป็นโปรตีนที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่คนที่แพ้จะไม่สามารถรับประทานได้ เพราะจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย

อาการแพ้กลูเตนที่เรียกกันทั่วไป ทางการแพทย์หมายถึงได้ 2 ลักษณะ คือ อาการแพ้กลูเตน (Gluten Allergy) ที่เป็นอาการเกี่ยวข้องทางระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเหมือนโรคภูมิแพ้ (Allergy) อย่างแพ้อาหารที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หรืออาการไวต่อกลูเตน (Gluten Sensitivity, Gluten Intolerance) ที่เป็นภาวะผิดปกติทางระบบย่อยอาหาร ทำให้ไม่สามารถย่อยกลูเตนได้  

แพ้กลูเตน (Gluten Sensitivity)

นอกจากนี้ อาการแพ้กลูเตนยังถูกเข้าใจว่าเป็นโรคเซลิแอค (Celiac Disease) แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่โรคเดียวกัน เพราะโรคเซลิแอคเป็นความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นจากการรับประทานกลูเตน ส่งผลให้ลำไส้เล็กถูกทำลายและมีการดูดซึมที่ผิดปกติไป โดยในบทความนี้จะขอพูดถึงอาการแพ้กลูเตนที่หมายถึงอาการไวต่อกลูเตน

อาการแพ้กลูเตน

คนที่มีอาการแพ้กลูเตนอาจเกิดอาการต่าง ๆ หลังจากรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกลูเตน โดยอาการอาจเกิดเป็นเวลาหลายชั่วโมงหรือนานหลายวัน เช่น

  • ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • ปวดท้อง 
  • ท้องเสียหรือท้องผูก
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ปวดศีรษะ 
  • ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
  • อ่อนเพลีย
  • มีผื่นที่ผิวหนัง
  • มีภาวะโลหิตจาง
  • วิตกกังวล หรือมีภาวะซึมเศร้า
  • เกิดภาวะสมองล้า หรือมีปัญหาในการจดจ่อ

นอกจากนี้ คนที่มีอาการแพ้กลูเตนมักจะเป็นโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS) ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าพบอาการเหล่านี้เป็นประจำโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะอาการท้องเสียหรืออาเจียนรุนแรง เพราะอาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

สาเหตุของอาการแพ้กลูเตน

อาการแพ้กลูเตนมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สามารถเป็นได้ตั้งแต่เกิดหรือเพิ่งมามีอาการแพ้ในตอนโต ซึ่งสาเหตุของอาการแพ้กลูเตนนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดการณ์ว่าอาการแพ้กลูเตนอาจเป็นผลมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมคาร์โบไฮเดรตบางชนิดจากอาหารได้ ทำให้ถูกหมักหมมอยู่ในลำไส้จนเกิดอาการไม่พึงประสงค์ตามมา 

หรืออาจเกี่ยวข้องกับการที่เยื่อบุทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ ซึ่งเยื่อบุทางเดินอาหารมีหน้าที่คอยป้องกันไม่ให้แบคทีเรียรั่วไหลออกจากลำไส้ แต่เมื่อรับประทานอาหารจำพวกแป้งสาลีที่มีกลูเตนเป็นส่วนประกอบแล้วเยื่อบุทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ ทำให้แบคทีเรียสามารถเข้าสู่กระแสเลือดและเกิดการอักเสบตามมา

รวมถึงมีการคาดการณ์ว่าอาการที่ถูกเข้าใจว่าเป็นการแพ้กลูเตนอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากกลูเตน แต่มีสาเหตุมาจากส่วนประกอบอื่นที่พบได้เหมือนกันในอาหารจำพวกข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์แทน

การวินิจฉัยอาการแพ้กลูเตน    

แพทย์จะถามประวัติทางการแพทย์ อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น และตรวจเพิ่มเติมโดยให้ผู้ป่วยลองรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกลูเตนประมาณ 6 สัปดาห์ ในระหว่างนั้นจะมีการตรวจเลือดกับตรวจผิวหนัง เพื่อแยกแยะว่าไม่ใช่อาการแพ้ข้าวสาลี (Wheat Allergy) หรืออาการของโรคเซลิแอคที่ก่อให้เกิดอาการคล้ายกัน

เมื่อได้ข้อสรุปว่าไม่ใช่การแพ้ข้าวสาลีหรือโรคเซลิแอค แพทย์จะให้งดรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกลูเตนอย่างน้อย 6 สัปดาห์ และเก็บข้อมูลว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ หากอาการหายไปในช่วงที่รับประทานอาหารปราศจากกลูเตน แพทย์จะค่อย ๆ ให้ผู้ป่วยเริ่มรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกลูเตนอีกครั้ง หากมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นจึงจะสรุปได้ว่ามีอาการแพ้กลูเตน

การรักษาการแพ้กลูเตน

แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกลูเตน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการก่อนวางแผนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เนื่องจากมีงานวิจัยระบุว่าการรับประทานอาหารที่ปราศจากกลูเตน (Gluten-free Diet) อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) และภาวะขาดสารอาหารได้ด้วย 

รวมถึงแพทย์อาจให้รับประทานโพรไบโอติก  (Probiotics) เสริมในมื้ออาหารร่วมด้วย เพราะโพรไบโอติกสามารถช่วยเพิ่มแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ และอาจช่วยลดอาการท้องอืด ท้องผูก และลดแก๊สในกระเพาะอาหารได้

ภาวะแทรกซ้อนของอาการแพ้กลูเตน

คนที่แพ้กลูเตนแต่ไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ทำให้ไม่ได้หลีกเลี่ยงอาหารที่ปราศจากกลูเตนจนอาจเกิดอาการรุนแรง เช่น อาการท้องเสียหรืออาเจียนอาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต  

นอกจากนี้ การบริโภคอาหารที่ปราศจากกลูเตนอย่างไม่เหมาะสมหรือผิดวิธี อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และภาวะขาดสารอาหารขึ้นได้เช่นเดียวกัน คนที่แพ้กลูเตนจึงควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการก่อนเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการบริโภค

การป้องกันอาการแพ้กลูเตน

อาการแพ้กลูเตนไม่สามารถป้องกันได้ คนที่แพ้กลูเตนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคในระยะยาว เพราะอาการแพ้สามารถเป็นได้อีกครั้งหากกลับมารับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกลูเตนเช่นเดิม ดังนั้น จึงควรเรียนรู้วิธีการรับมือกับอาการแพ้กลูเตน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติ ดังนี้

  • แยกพื้นที่เก็บอาหารที่มีส่วนประกอบของกลูเตนกับอาหารที่ปราศจากกลูเตนแยกกัน
  • ระวังการปนเปื้อนของอาหารที่มีส่วนประกอบของกลูเตนในภาชนะและเครื่องครัวต่าง ๆ ภายในบ้าน
  • รับประทานอาหารที่ทำเองเป็นหลัก หากต้องรับประทานอาหารนอกบ้านควรสอบถามเกี่ยวกับส่วนผสมของอาหารก่อนทุกครั้ง 
  • อ่านข้อมูลและฉลากโภชนาการของอาหารแต่ละชนิดอย่างละเอียดก่อนการบริโภคทุกครั้ง
  • จดจำอาหารที่มีกลูเตนเป็นส่วนประกอบ เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารเหล่านั้น
  • หากรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกลูเตนโดยบังเอิญ ให้ดื่มน้ำในปริมาณมากเพื่อช่วยชะล้างระบบในร่างกาย และดื่มชาขิงหรือชาสะระแหน่เพื่อบรรเทาอาการท้องอืด
  • บริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำและมีใยอาหารสูงตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีและป้องกันภาวะขาดสารอาหาร
  • เข้ารับการตรวจโรคโลหิตจาง คอเรสเตอรอลสูง และการขาดวิตามินหรือสารอาหารอย่างสม่ำเสมอ