สมองล้าเป็นอย่างไร รู้จักสาเหตุและวิธีรับมือ

สมองล้า (Brain Fog) ใช้เรียกอาการหัวตื้อ คิดอะไรไม่ออกหรือคิดช้า มึนงง และไม่สามารถประมวลผลออกมาเป็นคำพูดหรือการกระทำได้ เสมือนมีหมอกหนาปกคลุมสมองอยู่ ซึ่งอาการสมองล้าอาจเกิดจากความเครียด การพักผ่อนน้อย อาการเจ็บป่วย หรือการใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลต่อสมอง

สมองล้าไม่จัดเป็นโรคโดยตรง แต่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคที่คุณไม่เคยรู้ อีกทั้งอาจส่งผลต่อความคิดและการตัดสินใจ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน แม้จะยังไม่มีวิธีรักษาอาการสมองล้า แต่การปรับพฤติกรรมอาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้

สมองล้าเป็นอย่างไร รู้จักสาเหตุและวิธีรับมือ

อาการสมองล้าเป็นอย่างไร

อาการสมองล้าของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีอาการสมองล้ามักมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • รู้สึกเฉื่อยชา เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย แต่นอนไม่หลับ
  • ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ 
  • หลงลืมง่าย จดจำคำศัพท์ ชื่อคน หรือสถานที่ไม่ค่อยได้ 
  • ใช้เวลาคิด ตัดสินใจ และตอบสนองต่อเรื่องต่าง ๆ นานกว่าปกติ
  • เริ่มทำผิดพลาดในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
  • ตามบทสนทนาของคนอื่นไม่ทัน และไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ พร้อมกันได้
  • ปวดศีรษะ 
  • ประสิทธิภาพการเรียนและการทำงานลดลง

สมองล้าเกิดจากอะไร

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนที่ทำให้เกิดภาวะสมองล้า แต่ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มสันนิษฐานว่าความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันอาจทำให้เกิดการอักเสบในสมอง จึงขัดขวางการประมวลผลของสมอง ทำให้สมองทำงานได้ไม่ดี 

นอกจากนี้ สมองล้าอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ความเครียดเรื้อรังและการพักผ่อนน้อยที่ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของสมอง ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย คิดอะไรไม่ออก และไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการขาดน้ำและวิตามินบี 12 ซึ่งมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาทและสมอง

ผู้มีกลุ่มอาการ PMS (Premenstrual Syndrome) ที่เกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือน หญิงตั้งครรภ์ที่ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) และเอสโตรเจน (Estrogen) เพิ่มขึ้น ผู้ที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง และการเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และทำให้เกิดอาการสมองตื้อ ขี้ลืม ไม่มีสมาธิ และนอนหลับยาก

ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการสมองล้า เช่น 

  • โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ข้ออักเสบ กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง กลุ่มอาการโจเกรน และไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของสมอง
  • การติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส เช่น โรคไลม์ (Lyme Disease) ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ (A H1N1) และโควิด-19 ซึ่งอาจเกิดอาการสมองล้าหลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 (Long COVID) เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสอาจส่งผลต่อการทำงานของสมอง
  • โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการคิดช้า พูดช้า ไม่สามารถตัดสินใจและจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ได้
  • ภาวะขาดไทรอยด์หรือที่เรียกว่าไฮโปไทรอยด์ เป็นภาวะที่มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์น้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ ทำให้มีอาการอ่อนเพลียและซึมเศร้า
  • น้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งทำให้รู้สึกวิงเวียน หน้ามืด สมองตื้อ และไม่มีสมาธิ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวานที่รับประทานอาหารน้อยหรือไม่ตรงเวลา และใช้ยาอินซูลินมากเกินไป อาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • แพ้อาหาร เช่น โรคเซลิแอค (Celiac Disease) ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อกลูเตน (Gluten) ในข้าวสาลีผิดปกติ
  • การใช้ยา เช่น ยาออกซีบิวไทนิน (Oxybutynin) ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) และการรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) ซึ่งทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสารสื่อประสาทในสมอง

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อมีอาการสมองล้า 

ผู้มีอาการสมองล้าควรดูแลตัวเองและปรับพฤติกรรมด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ธัญพืชขัดสีน้อย ผักผลไม้ และถั่วที่ช่วยบำรุงสมอง หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง และพักผ่อนให้เพียงพอ ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไปและผู้สูงอายุควรนอนอย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง โดยเข้านอนให้เป็นเวลา งดใช้โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน จะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

ในระหว่างวันควรหาเวลาพักสมองและร่างกาย เช่น มองออกไปนอกหน้าต่างหรือลุกขึ้นเดินไปรอบ ๆ หลีกเลี่ยงการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ควรค่อย ๆ ทำให้เสร็จทีละอย่าง จะได้ไม่รู้สึกรู้สึกเหนื่อยล้าเกินไป และทำกิจกรรมฝึกสมอง เช่น เล่นเกมจับคู่ เกมทายคำ หรือลองทำอะไรใหม่ ๆ อย่างการเปลี่ยนเส้นทางกลับบ้าน และเปลี่ยนแนวเพลงที่ฟัง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสารสื่อประสาทและช่วยให้สมองตื่นตัว 

นอกจากนี้ ควรจัดการกับความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น เขียนไดอารี่ เล่นโยคะ พูดคุยกับเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัว ทำงานอดิเรกที่ชอบ เข้าชมรมทำกิจกรรมที่สนใจ และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ หากมีโรคประจำตัวหรือใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการสมองล้า ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาและใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์

สมองล้าอาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ความคิดและตัดสินใจ ซึ่งโดยทั่วไปอาการมักดีขึ้นหลังปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการสมองล้าส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจโรคประจำตัว ตรวจเลือด เอกซเรย์ (X-Ray) ซีทีสแกน (CT Scan) ตรวจการนอนหลับ และทดสอบภูมิแพ้ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคที่อาจเป็นอาการสมองล้าและรับการรักษาต่อไป