กินข้าววันละมื้อ ประโยชน์และความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ควรรู้

การกินข้าววันละมื้อเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำ IF (Intermittent Fasting) หรือวิธีการควบคุมน้ำหนักด้วยการอดอาหารเป็นช่วงเวลา โดยจะอดอาหารติดต่อกันเป็นเวลา 23 ชั่วโมง และกินอาหารมื้อใหญ่ 1 มื้อในช่วงเวลา 1 ชั่วโมงที่เหลือเท่านั้น หลายคนเชื่อว่าการกินข้าววันละมื้อสามารถช่วยควบคุมน้ำหนักได้ จึงกลายเป็นวิธีควบคุมน้ำหนักที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน

โดยทั่วไปเราจะกินอาหารประมาณ 3 มื้อต่อวัน แต่ในบางคนอาจมีการกินมากกว่านั้น ซึ่งการกินอาหารบ่อยมากเกินไปอาจทำให้ความยืดหยุ่นในการเผาผลาญพลังงานของร่างกายลดลง รวมถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ อย่างไรก็ตาม การควบคุมน้ำหนักด้วยวิธีการกินข้าววันละมื้ออาจไม่ได้มีแต่ประโยชน์ต่อสุขภาพเสมอไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ด้วย

กินข้าววันละมื้อ ประโยชน์และความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ควรรู้

ประโยชน์ต่อสุขภาพจากการกินข้าววันละมื้อ

การกินข้าววันละมื้ออาจมีผลดีต่อร่างกาย ดังนี้

 อาจช่วยในการควบคุมน้ำหนัก

การกินข้าววันละมื้ออาจสามารถช่วยควบคุมน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพในผู้ที่มีสุขภาพดี หรือผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน โดยการควบคุมน้ำหนักด้วยวิธีนี้จะเกิดผลดีหากคุณสามารถควบคุมปริมาณของอาหารที่กินใน 1 มื้อไม่ให้เกินปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายควรได้รับต่อวันได้ รวมถึงควรเลือกกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วนและมีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นหลัก

อาจช่วยเพิ่มกระบวนการเผาผลาญ

การกินข้าววันละมื้อหรือการอดอาหารเป็นช่วง ๆ อาจส่งผลให้ระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น เนื่องจากพลังงานที่ได้รับจากการกินอาหารเพียง 1 มื้อน้อยกว่าพลังงานที่ได้รับจากการกินอาหาร 3 มื้อตามปกติ และน้อยกว่าพลังงานที่ร่างกายถูกใช้ออกไปจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันนั่นเอง

อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

การกินข้าววันละมื้ออาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ รวมถึงอาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กำลังกินยารักษาโรคเบาหวานควบคุมน้ำหนักด้วยวิธีการนี้ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้

อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ 

การกินข้าววันละมื้ออาจส่งผลให้ร่างกายจำเป็นต้องเผาผลาญไขมันที่สะสมอยู่ออกมาใช้เป็นพลังงาน จึงอาจทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายลดลง โดยเฉพาะคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี นอกจากนี้ยังอาจช่วยลดภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้นั่นเอง

ความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้จากการกินข้าววันละมื้อ

แม้ว่าการกินข้าววันละมื้ออาจมีผลดีต่อร่างกายอยู่บ้าง แต่ก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพเช่นเดียวกัน โดยความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้จากการกินข้าววันละมื้อมีดังนี้

อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการกินข้าววันละมื้อมีหลายประการ ได้แก่ รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแรง วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อารมณ์แปรปรวน สมองไม่แล่น หรือไม่มีสมาธิ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ เช่น การเรียน การทำงาน ได้เลยทีเดียว

อาจทำให้รู้สึกหิวจนควบคุมไม่ได้ 

การอดอาหารเป็นเวลานานหลายชั่วโมงจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นความอยากอาหารออกมามากขึ้น ซึ่งอาจทำให้คุณรู้สึกหิวมากจนไม่สามารถควบคุมปริมาณของอาหารหรือชนิดของอาหารที่กินเข้าไปได้ เช่น คุณอาจเลือกกินอาหารประเภทบุฟเฟ่ต์ที่สามารถกินได้ไม่จำกัด แต่อาจก่อให้เกิดโทษต่อสุขภาพได้มากกว่าอาหารชนิดทั่วไป

อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สมดุล 

การอดอาหารเป็นเวลาหลายชั่วโมงจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง แต่เมื่อคุณกินอาหารเข้าไป โดยเฉพาะการกินอาหารในปริมาณมากอย่างรวดเร็วในมื้อเดียว ก็สามารถส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างกะทันหันเช่นเดียวกัน ซึ่งหากระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างไม่สมดุล ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

อาจไม่เหมาะสมกับผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่าง

การกินข้าววันละมื้อไม่ใช่วิธีการควบคุมอาหารที่เหมาะสมสำหรับใครหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ที่ต้องกินยาพร้อมอาหาร ผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมถึงผู้ที่มีความผิดปกติในการกินอาหารด้วย เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้รุนแรงกว่าคนทั่วไป หรืออาจทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่แย่ลงได้

แม้ว่าการกินข้าววันละมื้อจะเป็นวิธีการควบคุมน้ำหนักที่ได้ผลสำหรับใครหลายคน แต่หากทำไปนาน ๆ ก็อาจนำไปสู่การเกิดภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อีกมากมายได้ 

ดังนั้น การกินอาหารวันละประมาณ 2–3 มื้อตามปกติ โดยเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นวิธีการควบคุมน้ำหนักที่เหมาะสมมากกว่า