ภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance)

ความหมาย ภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance)

ภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) เป็นภาวะที่เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ร่างกายต้องใช้อินซูลินมากขึ้นในการนำน้ำตาลกลูโคสไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงาน ตับอ่อนจึงผลิตอินซูลินออกมาเพิ่มขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้

หากปล่อยให้มีภาวะดื้ออินซูลินเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษา อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ตามมา และหากผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะดื้ออินซูลินร่วมด้วย อาจทำให้การควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือดทำได้ยากขึ้น การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ยารักษาจะช่วยรักษาภาวะดื้ออินซูลินได้

ภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance)

อาการของภาวะดื้ออินซูลิน

ผู้ที่มีภาวะดื้ออินซูลินอาจไม่มีอาการที่สังเกตได้ชัดเจน จึงไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะดื้ออินซูลิน แต่อาจทราบภายหลังจากที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แล้ว หรือทราบจากค่าระดับน้ำตาลในเลือดจากการตรวจเลือด โดยอาการทั่วไปของโรคเบาหวานที่พบได้ เช่น  

  • หิวบ่อย โดยอาจหิวระหว่างมื้ออาหาร หรือกระหายน้ำมากผิดปกติ
  • ปัสสาวะบ่อยหรือมากผิดปกติ
  • ตามัว 
  • มื้อเท้าชา
  • อ่อนเพลียผิดปกติ
  • มีอาการทางผิวหนัง เช่น เกิดติ่งเนื้อ (Skin Tags) และโรคผิวหนังช้าง (Acanthosis Nigricans) คือผิวหนังเป็นปื้นดำหนาและขรุขระ มักพบบริเวณหลังคอ รักแร้ และขาหนีบ

สาเหตุของภาวะดื้ออินซูลิน

โดยปกติแล้ว อินซูลินจะหลั่งออกมามากหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ทำให้ระดับนํ้าตาลสูงขึ้น ตับอ่อนจะหลั่งอินซูลินออกมาเพื่อควบคุมให้ระดับนํ้าตาลในเลือดเป็นปกติ หากมีภาวะดื้ออินซูลิน ร่างกายจะไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีเท่าที่ควร ทำให้น้ำตาลในเลือดสะสมสูงขึ้น

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะดื้ออินซูลิน แต่ผู้ที่มีปัจจัยเหล่านี้อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ได้แก่

  • โรคอ้วน โดยเฉพาะผู้ที่ไขมันสะสมที่หน้าท้อง และมีขนาดรอบเอวมากกว่า 40 นิ้วในเพศชาย และ 35 นิ้วในเพศหญิง
  • การไม่ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูง
  • โรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนบางโรค เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS) กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) ไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Fatty Liver Disease) และอะโครเมกาลี (Acromegaly)
  • ความดันโลหิตสูง โดยมีระดับความดันโลหิตเท่ากับหรือมากกว่า 130/80
  • ระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Glucose Level) สูงกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์สูงกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL Level) ต่ำกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในเพศชาย และ 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในเพศหญิง
  • มีประวัติเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis)
  • ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และภาวะหลอดเลือดแข็ง
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ (Steroids) ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotics) และยารักษาเอชไอวี (HIV)

นอกจากนี้ ความเสี่ยงของภาวะดื้ออินซูลินอาจเพิ่มขึ้นในผู้ที่อายุมากกว่า 45 ปี ผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ผู้ที่มีเชื้อชาติแอฟริกัน อเมริกัน และเอเชียน-อเมริกัน รวมทั้งพฤติกรรมบางอย่าง อย่างการสูบบุหรี่ และความเครียด

การวินิจฉัยภาวะดื้ออินซูลิน

แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพ ประวัติครอบครัว และตรวจร่างกาย เช่น ชั่งน้ำหนักและวัดความดันโลหิต จากนั้นอาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีดังนี้

การตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (Hemoglobin A1C Test) 

การตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซีจะแสดงค่าเฉลี่ยของน้ำตาลในเลือดตลอดช่วงเวลา 2–3 เดือนก่อนการตรวจ ซึ่งจะแสดงผลดังนี้

  • ค่าปกติ = ค่า HbA1c น้อยกว่า 5.7%
  • ผู้มีภาวะก่อนเบาหวาน = ค่า HbA1c อยู่ระหว่าง 5.7–6.4% หากค่ายิ่งสูงจะยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น
  • ผู้เป็นเบาหวาน = ค่า HbA1c มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5%

แพทย์อาจให้ตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อยืนยันผลในภายหลัง และใช้ประเมินวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar)

การตรวจวิธีนี้เป็นวิธีตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร 8 ชั่วโมง หากระดับน้ำตาลอยู่ในระดับปกติจะมีค่าต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดระหว่าง 100–125 มิลลิกรัม/เดซิลิตรถือว่ามีภาวะก่อนเบาหวาน และผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดเท่ากับหรือมากกว่า 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน

การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล (Glucose Tolerance Test)

ผู้ป่วยต้องงดรับประทานอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล ในวันที่เข้ารับการตรวจ เจ้าหน้าที่จะเจาะเลือดผู้ป่วยเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด จากนั้นจึงให้ดื่มสารละลายน้ำตาลกลูโคส และรอตรวจระดับน้ำตาลอีกครั้งเมื่อครบ 2 ชั่วโมง โดยทั่วไประดับน้ำตาลในเลือดจะกลับสู่ระดับปกติ คือน้อยกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตรภายใน 2 ชั่วโมง

แต่ผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวานและโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าระดับปกติแม้จะตรวจหลังผ่านไป 2 ชั่วโมงแล้ว ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 140–199 ถือว่ามีภาวะก่อนเบาหวาน และผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตรจะถือว่าเป็นเบาหวาน

ในบางกรณีอาจใช้การตรวจระดับน้ำตาลแบบสุ่มตรวจ (Random Blood Sugar) ในผู้ที่มีอาการของโรคเบาหวานชัดเจน แต่เป็นวิธีที่ไม่นิยมใช้ตรวจหาภาวะก่อนเบาหวานและโรคเบาหวาน เนื่องจากผลอาจมีความคลาดเคลื่อนได้

การรักษาภาวะดื้ออินซูลิน

การรักษาภาวะดื้ออินซูลินสำคัญต่อผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน เพราะจะช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานตามมา อีกทั้งการได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้ โดยวิธีที่ใช้รักษาภาวะดื้ออินซูลินมีดังนี้

  1. การปรับพฤติกรรม

ผู้มีภาวะดื้ออินซูลินควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารที่มีไฟเบอร์ (Fiber) สูงและคาร์โบไฮเดรตต่ำ ได้แก่ ธัญพืชขัดสีน้อย ผักกลุ่มที่ไม่มีแป้ง (Non-starchy Vegetables) อย่างผักตระกูลกะหล่ำ บร็อคโคลี แครอท แตงกวา และหน่อไม้ฝรั่ง อาหารประเภทโปรตีนที่ให้ไขมันชนิดดี อย่างเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่ว และปลาทะเล

นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายที่ใช้แรงปานกลางเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที เช่น เดินเร็ว ขี่จักรยาน และว่ายน้ำ พักผ่อนให้เพียงพอวันละ 7–9 ชั่วโมง ผ่อนคลายความเครียดอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

  1. การใช้ยา

แพทย์อาจให้ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ซึ่งช่วยยับยั้งการปล่อยกลูโคสจากตับเข้าสู่กระแสเลือด และกระตุ้นความไวต่ออินซูลินโดยทำให้เซลล์ในร่างกายนำกลูโคสไปใช้เพิ่มขึ้น จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และลดการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะดื้ออินซูลิน

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะดื้อต่ออินซูลินอาจแตกต่างกันในแต่ละคน หากการผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้นยังไม่เพียงพอที่จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ จะนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะก่อนเบาหวานและโรคเบาหวานตามมาหากไม่ได้รับการรักษา โดยภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังนี้

  • ความดันโลหิตสูง
  • คีโตน (Ketones) ในปัสสาวะสูง และภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis) 
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างหัวใจขาดเลือด (Heart Attack)
  • โรคไตและไตวาย
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • เส้นประสาทเสื่อมหรือถูกทำลาย
  • โรคตา เช่น เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) ต้อกระจก จอประสาทตาเสียหาย ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น

การป้องกันภาวะดื้ออินซูลิน

ภาวะดื้ออินซูลินไม่มีวิธีป้องกันได้โดยตรง แต่การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นเคลื่อนไหวและออกกำลังกาย และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะดื้ออินซูลินได้ และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน ซึ่งจะป้องกันการเกิดโรคเบาหวานตามมา