รู้ทันเบาหวานขึ้นตา อาการและวิธีรักษาก่อนเสี่ยงตาบอด

อาการเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานที่พบได้บ่อย หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงสะสมเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือดที่เรตินาหรือจอตา โดยภาวะเบาหวานขึ้นตาอาจนำไปสู่ความเสียหายของจอตาและการสูญเสียการมองเห็นได้ 

ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ชนิดที่ 2 และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงจำเป็นและอาจช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับดวงตาได้

รู้ทันเบาหวานขึ้นตา อาการและวิธีรักษาก่อนเสี่ยงตาบอด

อาการเบาหวานขึ้นตาเกิดจากอะไร

อาการเบาหวานขึ้นตาเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงสะสมเป็นเวลานาน ส่งผลให้จอตาได้รับความเสียหาย โดยผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง ตั้งครรภ์ และสูบบุหรี่ อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตาได้มากกว่าผู้ป่วยเบาหวานทั่วไป 

อาการเบาหวานขึ้นตาแบ่งออกเป็น 2 ระยะตามความรุนแรงของโรค ได้แก่

1. ระยะที่ยังไม่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Nonproliferative Diabetic Retinopathy: NPDR)

อาการเบาหวานขึ้นตาในระยะแรกเป็นระยะที่หลอดเลือดฝอยในจอตาโป่งพอง และอาจทำให้เลือดหรือของเหลวรั่วออกมาในจอตา และหากเกิดอาการบวมที่จุดภาพชัด (Macular Edema) ซึ่งเป็นบริเวณสำคัญที่ใช้ในการมองภาพ อาจทำให้เกิดอาการตามัว ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะจุดภาพชัดขาดเลือด (Macular Ischemia) ซึ่งอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวร

2. ระยะที่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy: PDR)

เมื่อเข้าสู่ระยะนี้ หลอดเลือดที่จอตาจะเกิดการอุดตันจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ จึงเกิดภาวะจอตาขาดเลือดและกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งหลอดเลือดที่สร้างขึ้นใหม่อาจไม่สมบูรณ์ และทำให้มีเลือดออกในจอตา ผู้ป่วยมักมองเห็นจุดดำหรือเส้นลอยไปมาในดวงตา (Eye Floaters) และหากเลือดออกมากอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

นอกจากนี้ หลอดเลือดที่สร้างขึ้นใหม่อาจทำให้เกิดพังผืดในตา และอาจส่งผลกระทบต่อจุดภาพชัดและทำให้จอประสาทตาลอก (Retinal Detachment) จนอาจสูญเสียการมองเห็นถาวร

อาการของเบาหวานขึ้นตามีอะไรบ้าง

ผู้ที่มีอาการเบาหวานขึ้นตามักไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ในระยะแรก แต่เมื่อรู้สึกว่าตามัวหรือมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็นแสดงว่าเริ่มมีอาการมากขึ้นแล้ว โดยมักเกิดอาการต่าง ๆ ที่ดวงตาทั้งสองข้าง ดังนี้

  • มองเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา
  • ตามัว การมองเห็นแย่ลง และมองเห็นไม่ชัดเจนในเวลากลางคืน
  • เห็นภาพมืดเป็นบางจุด
  • แยกแยะสีได้ยากขึ้น
  • สูญเสียการมองเห็นถาวร

อาการเบาหวานขึ้นตารักษาได้อย่างไร

หากมีอาการเล็กน้อยจนถึงอาการในระดับปานกลาง แพทย์จะคอยสังเกตและตรวจหาอาการผิดปกติของดวงตาอย่างใกล้ชิด โดยในระยะนี้ผู้ที่มีอาการเบาหวานขึ้นตาควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อยับยั้งไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น 

ผู้ป่วยที่มีอาการในขั้นรุนแรง แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

  • เลเซอร์ ซึ่งทําให้หลอดเลือดใหม่ที่ผิดปกติฝ่อลง ลดอาการบวมของจอตา และป้องกันการเกิดเลือดออกในตา
  • การฉีดยาสเตียรอยด์ และยาต้านการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Anti-Vascular Endothelial Growth Factor) เพื่อชะลอการงอกของหลอดเลือดใหม่และลดการบวมของจุดภาพชัด ซึ่งช่วยยับยั้งไม่ให้การมองเห็นแย่ลง
  • การผ่าตัดวุ้นตา (Vitrectomy) ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการตามัวเนื่องจากหลอดเลือดที่จอตารั่ว จอตาลอก หรือมีพังผืดดึงรั้งจอตา เพื่อซ่อมแซมหลอดเลือดจอตาและตัดพังผืดออก แต่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากอาจไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้เหมือนเดิม

หลังการรักษาอาการเบาหวานขึ้นตา ผู้ป่วยควรควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ งดสูบบุหรี่ เข้ารับการตรวจตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และผู้ป่วยเบาหวานที่ตั้งครรภ์ควรรับการตรวจตาในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หากตรวจพบความผิดปกติและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยชะลอการลุกลามของโรคและป้องกันการสูญเสียการมองเห็นจากภาวะเบาหวานขึ้นตาได้