โรคหลอดเลือดหัวใจ

ความหมาย โรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease: CAD/Coronary Heart Disease: CHD) เกิดจากการเกาะของคราบไขมัน (Plaque) ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่าง ๆ ภายในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดตีบและอุดตันจนปิดกั้นการไหลเวียนของกระแสเลือด ผู้ป่วยจึงมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด หรือรุนแรงถึงขั้นหัวใจวาย หากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้

โรคหลอดเลือดหัวใจ

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ

ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบทำให้ร่างกายไม่สามารถส่งกระแสเลือดและออกซิเจนไปยังหัวใจได้ โดยเฉพาะในขณะที่หัวใจต้องทำงานหนัก เช่น ระหว่างออกกำลังกาย เป็นต้น โรคหลอดเลือดหัวใจมีอาการดังนี้

  • เจ็บหน้าอก (Angina) ผู้ป่วยจะรู้สึกแน่นหน้าอกบริเวณกลางหรือด้านซ้ายของหน้าอกลามไปจนถึงช่วงแขน คอ กราม ใบหน้าหรือช่องท้อง และอาจบรรเทาลงได้เมื่อนั่งพัก หรือหยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเครียด โดยสาเหตุมักเกิดจากการที่หัวใจต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้นจากสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกาย หรือความเครียด เป็นต้น
  • หายใจติดขัด ผู้ป่วยอาจมีอาการหายใจติดขัดหรือหอบเหนื่อยรุนแรง หากหัวใจไม่ได้รับเลือดที่เพียงพอในการส่งต่อไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • หัวใจวาย หลอดเลือดอุดตันอาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายและอาจถึงตายได้หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทันเวลา ผู้ป่วยมักมีอาการแน่นหน้าอกและปวดบริเวณหัวไหล่หรือแขน ประกอบกับการหายใจติดขัดและเหงื่อออกก่อนเกิดภาวะหัวใจวาย หากผู้ป่วยมีภาวะความดันตกหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย อาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติและเสียชีวิตได้
  • หัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจล้มเหลวอาจเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยเกิดขึ้นในขณะที่หัวใจอ่อนแรงจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจติดขัดจากภาวะน้ำท่วมปอด เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงและไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หรือหากมีอาการน้ำท่วมปอดรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจมีสาเหตุจากการรวมตัวกันของไขมันที่ผนังภายในหลอดเลือดหัวใจ โดยก้อนไขมันนี้เกิดจากคอเลสเตอรอลและของเสียอื่น ๆ และมีชื่อว่าอเธอโรมา (Atheroma) การเกาะตัวกันของก้อนไขมันทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวหรือกระบวนการที่เรียกว่าอะเทอโรสเคลอโรซิส (Atherosclerosis) รวมถึงการขัดขวางทางเดินของเลือด ร่างกายจึงไม่สามารถส่งเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดกระบวนการเหล่านี้ ได้แก่

  • คอเลสเตอรอล ไขมันอิ่มตัวในอาหารที่มีความจำเป็นต่อเซลล์ในร่างกาย แต่คอเลสเตอรอลในกระแสเลือดที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ คอเลสเตอรอลแบ่งออกเป็นหลายประเภท แต่มี 2 ประเภทที่สำคัญ คือ
    • LDL หรือ “ไขมันร้าย” ไขมันร้าย LDL คือตัวการปิดกั้นหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจ
    • HDL หรือ “ไขมันดี” ทำหน้าที่นำไขมันร้ายออกจากเซลล์ต่าง ๆ และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูงส่งผลให้หัวใจทำงานหนักจนเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตตรวจวัดได้และมีค่าตรวจวัดดังต่อไปนี้
  • ความดันช่วงบน/ความดันซิสโตลิค (Systolic Pressure) คือระดับความดันโลหิตขณะหัวใจสูบฉีดเลือด
  • ความดันช่วงล่าง/ความดันไดแอสโตลิค (Diastolic Pressure) คือระดับความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัวและมีเลือดหล่อเลี้ยง

ในการตรวจวัดความดัน ความดันซิสโตลิคจะปรากฏเป็นจำนวนแรกและมีค่าสูงกว่าจำนวนที่ตามมา ซึ่งคือค่าความดันไดแอสโตลิค ผู้มีโรคความดันสูงจะมีค่าความดันซิสโตลิคมากกว่าหรือเท่ากับ 140mmHg หรือค่าความดันไดแอสโตลีตั้งแต่ 90mmHg ขึ้นไป

  • การสูบบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจคือการสูบบุหรี่ ซึ่งส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจมากถึง 24% สารนิโคตินและก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ในควันบุหรี่ส่งผลให้หัวใจเกิดความเครียด มีอัตราการเต้นที่เร็วขึ้นในขณะพัก ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงให้เลือดจับตัวกันเป็นลิ่มหรือก้อนอีกด้วย
  • โรคเบาหวาน เป็นความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากถึง 2 เท่า ผนังหลอดเลือดที่หนาขึ้นอาจมีผลต่อการปิดกั้นการไหลเวียนของโลหิต และการมีระดับน้ำตาลสูงหรือควบคุมไม่ได้เป็นเวลานานจะเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเร็วขึ้นเช่นกัน
  • ภาวะหลอดเลือดอุดตัน (Thrombosis) คือการที่เลือดจับตัวกันเป็นลิ่มหรือก้อนในเส้นเลือดใหญ่หรือหลอดเลือด มักเกิดขึ้นบริเวณเดิม ซึ่งเป็นผลจากกระบวนการอะเทอโรสเคลอโรซิส (Atherosclerosis) หากภาวะนี้เกิดขึ้นในหลอดเลือดหัวใจจะทำให้หลอดเลือดตีบและขัดขวางการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจในการสำรองเลือดได้ จึงอาจส่งผลต่อภาวะหัวใจวาย

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ

วิธีการวินิจฉัยอาจขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและความต้องการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งอาจมีวิธีการต่อไปนี้

  • การตรวจเลือด แพทย์อาจใช้การตรวจเลือดเพื่อวัดระดับเอนไซม์ในหัวใจ (Cardiac Enzyme Test) ในการตรวจสอบความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • การเอกซเรย์ทรวงอก ใช้ตรวจดูสาเหตุและอาการต่าง ๆ ที่เกิดขี้นบริเวณหัวใจ ปอดและผนังทรวงอก
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) แพทย์จะฉีดสารทึบแสงเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยเพื่อสร้างภาพอวัยวะและวัดปริมาณแคลเซียมสะสมที่ผนังหลอดเลือดได้
  • การสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ช่วยในการสร้างภาพหัวใจ โดยผู้ป่วยจะนอนหงายบนเครื่องสแกนที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์และติดตั้งแม่เหล็กโดยรอบ จากนั้นเครื่องสแกนจะสร้างภาพอวัยวะโดยคลื่นแม่เหล็ก
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG/Elektrokardiogram: EKG) สามารถวัดระดับ อัตราและความคงที่ของการเต้นหัวใจ ทั้งยังแสดงถึงภาวะหัวใจวายที่เคยเกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้น โดยการติดแผ่นอิเล็กโทรด (Electrode Patch) บนแขน ขา และทรวงอกของผู้ป่วยเพื่อตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจ
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) ใช้คลื่นเสียงในการสร้างภาพของหัวใจ เพื่อแสดงความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจ โครงสร้างและการสูบฉีดเลือด ซึ่งคล้ายคลึงกับการอัลตราซาวด์ที่ใช้ในการตรวจครรภ์ แพทย์จะทาเจลหล่อลื่นบริเวณทรวงอกของผู้ป่วยและใช้เครื่องทรานสดิวเซอร์ (Transducer) ตรวจโดยรอบ
  • การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiogram หรือ Angiography/Cardiac Catheterization) คือการตรวจดูภายในหลอดเลือดหัวใจ โดยการฉีดสีเข้าสู่หลอดเลือดหัวใจ (Angiogram) ผ่านการสอดท่อยาวขนาดเล็ก (Catheter) บริเวณขาหนีบ แขน หรือคอไปยังหลอดเลือดหัวใจ การฉีดสีจะช่วยสร้างภาพของหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน รวมถึงบ่งบอกถึงความดันโลหิตภายในหัวใจและสมรรถภาพในการสูบฉีดเลือด กระบวนการสวนหลอดเลือดหัวใจมีความปลอดภัยและมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เลือดออกเล็กน้อยหรือมีแผลฟกช้ำบริเวณที่สอดท่อเข้าสู่ร่างกาย แต่ในบางครั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ซึ่งพบได้น้อยมากหรือไม่เกิน 1% เช่น ภาวะเส้นเลือดสมองหรือเส้นเลือดบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายอุดตันจากการหลุดลอยของคราบตะกรันไปอุดตามหลอดเลือดบริเวณต่าง ๆ
  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise stress test: EST) ตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจขณะเดินบนสายพานหรือปั่นจักรยาน เพื่อทราบถึงความแข็งแรงของหัวใจขณะสูบฉีดเลือด ทั้งยังสามารถบ่งบอกถึงสาเหตุการเจ็บหน้าอก ซึ่งมักเป็นผลจากโรคหลอดเลือดหัวใจ บางกรณีแพทย์อาจใช้การอัลตร้าซาวด์ก่อนหรือหลังการวิ่งบนสายพานหรือปั่นจักรยาน (Exercise Stress Echocardiogram) หรืออาจใช้ยาเพื่อกระตุ้นหัวใจระหว่างการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
  • เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง (Holter Monitoring) ในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงเพื่อบันทึกความผิดปกติของจังหวะการเต้นหัวใจระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
  • การทดสอบโดยการกัมมันตรังสี (Radionuclide Tests) คือการฉีดสารกัมมันตรังสีไอโซโทป (Radioactive Isotope) เข้าสู่กระแสเลือดเพื่อทราบถึงประสิทธิภาพการสูบฉีดเลือดและการไหลเวียนของเลือดไปยังผนังกล้ามเนื้อหัวใจ

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีวิธีจัดการเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

การรักษาด้วยตนเอง

  • งดสูบบุหรี่ 
  • ลดน้ำหนักส่วนเกิน
  • ควบคุมความเครียด
  • หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีไขมันต่ำหรือน้ำตาลน้อยเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตนเอง

การรักษาด้วยการใช้ยา

หากอาการไม่ดีขึ้นผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาโดยการใช้ยา ซึ่งมีหน้าที่ลดความดันโลหิตหรือขยายหลอดเลือดเพื่อให้การไหลเวียนและการสูบฉีดเลือดในหัวใจดีขึ้น ยาบางชนิดอาจส่งผลข้างเคียงจึงควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรหยุดใช้ยาหากไม่ได้รับการยืนยันจากแพทย์ เนื่องจากอาจทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงได้ ยาที่ใช้มีตัวอย่างเช่น

  • กลุ่มยาคอเลสเตอรอล ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด โดยเฉพาะในส่วนของไขมันร้ายหรือ LDL ซึ่งมักจับตัวสะสมในหลอดเลือดหัวใจ 
  • ยาต้านเกล็ดเลือด
  • ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ ใช้รักษาความดันโลหิตสูงและป้องกันอาการเจ็บหน้าอก โดยการปิดกั้นฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ฟื้นฟูการไหลเวียนของเลือด และลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจวายเช่นกัน
  • ยาขยายหลอดเลือด มีทั้งในรูปแบบเม็ด สเปรย์ หรือแผ่นสำหรับติดบริเวณผิวหนัง ยาประเภทนี้ทำหน้าที่ลดความดันโลหิตและอาการปวดบริเวณหัวใจ แต่อาจทำให้ปวดหัวและมึนงงได้
  • ยาช่วยลดความดันโลหิตและยังช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ยาปิดกั้นแคลเซียม ใช้ในการลดความดันโลหิตโดยการสร้างความผ่อนคลายให้กับกล้ามเนื้อของผนังหลอดเลือด จึงทำให้หลอดเลือดกว้างขึ้น แต่อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว
  • ยาขับปัสสาวะ ช่วยขับน้ำและเกลือส่วนเกินออกจากร่างกายผ่านปัสสาวะ

การรักษาด้วยการผ่าตัดและกระบวนการทางการแพทย์

ในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบและไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่ออาการที่ดีขึ้น เช่น

  • การทำบอลลูนหัวใจ เป็นกระบวนการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกหรือใช้ในการรักษาอาการฉุกเฉิน ผู้ป่วยต้องได้รับการสวนหลอดเลือดหัวใจก่อนการรักษาด้วยการทำบอลลูน เพื่อประเมินความจำเป็นในการผ่าตัด การรักษาประเภทนี้มักเกิดขึ้นในผู้มีภาวะหัวใจวายฉุกเฉิน ซึ่งใช้การสอดท่อพร้อมบอลลูนเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นจึงทำการสูบลมให้บอลลูนพองตัวขึ้นเพื่อช่วยผลักไขมันที่อุดตันออกจากหลอดเลือดหัวใจ
  • การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจหรือการทำบายพาสหัวใจ การผ่าตัดชนิดนี้มักใช้กับภาวะหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ หรือการทำบอลลูนไม่สามารถช่วยรักษาได้ ผู้ป่วยต้องได้รับการสวนหลอดเลือดหัวใจก่อนเพื่อทราบถึงความจำเป็นในการรักษา การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ใช้ปอดและหัวใจเทียม (Off-Pump Coronary Artery Bypass: OPCAB) คือวิธีการรักษาที่เป็นที่นิยม มีจุดประสงค์เพื่อให้หัวใจสูบฉีดเลือดเอง โดยไม่ต้องใช้ปอดหรือหัวใจเทียม ศัลยแพทย์จะต่อเส้นเลือดใหม่ข้ามผ่านจุดที่มีการอุดตันเดิม จึงทำให้กระแสเลือดไหลเวียนได้ตามปกติ กระบวนการนี้เป็นการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด (Open-Heart Surgery) ส่วนใหญ่จึงใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีจำนวนหลอดเลือดอุดตันมากเท่านั้น
  • การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ใช้สำหรับกรณีที่รุนแรงและไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา หรือหัวใจไม่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ผู้ป่วยต้องเข้าพบแพทย์หลังการผ่าตัดเพื่อตรวจสอบการทำงานของหัวใจและผลข้างเคียง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อไปนี้

  • เจ็บหน้าอก การอุดตันของหลอดเลือดทำให้เลือดไม่สูบฉีดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะขณะออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่หัวใจต้องทำงานหนัก จึงทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้น
  • หัวใจวาย การสะสมของคราบไขมันและลิ่มเลือดคือสาเหตุของหลอดเลือดอุดตัน ซึ่งทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายจึงไม่สามารถส่งเลือดไปยังหัวใจและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ
  • หัวใจล้มเหลว หากผู้ป่วยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจวายตายจากการขาดเลือด หัวใจจะไม่สามารถสูบฉีดเลือดตามความต้องการของร่างกายได้ ส่งผลให้น้ำท่วมปอด หายใจติดขัด จนทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้น
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ คนปกติมีอัตราการเต้นของหัวใจ 60–100 ครั้งต่อนาที แต่เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย คลื่นไฟฟ้าของหัวใจจะทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจมีอัตราการเต้นช้าลง (Bradycardia) เร็วขึ้น (Tachycardia) หรือสั่นพลิ้ว (Fibrillation) ได้ ความผิดปกติของอัตราการเต้นหัวใจอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตทันที เนื่องจากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างเหมาะสม

การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจคือระดับคอเลสเตอรอล การสูบบุหรี่ เบาหวาน และความดันโลหิต การมีสุขภาพที่ดีจะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจ ซึ่งทำได้โดยวิธีการดังต่อไปนี้

การออกกำลังกาย 

ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายมักมีแนวโน้มที่จะประสบภาวะหัวใจวายได้มากถึง 2 เท่า การออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์เป็นเวลา 30–60 นาทีใน 4–5 วันต่อสัปดาห์ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยลดน้ำหนักส่วนเกินและควบคุมโรคเบาหวาน รวมถึงคอเลสเตอรอลและความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

เพื่อป้องกันโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรวางแผนในการรับประทานอาหาร ดังนี้

  • รับประทานอาหารประเภทไขมันต่ำและกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ถั่วและธัญพืชที่มีคอเลสเตอรอล ไขมันอิ่มตัว และโซเดียมในระดับต่ำ ซึ่งช่วยควบคุมน้ำหนัก ความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลได้ 
  • รับประทานปลาที่มีกรดไขมันสูง เช่น ปลาซาดีน ปลาแซลมอน ปลาทูน่า หรือปลาทะเลน้ำลึก ซึ่งอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่เชื่อกันว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าบุคคลทั่วไปควรรับประทานปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 หน่วยบริโภค  
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น อาหารแปรรูปประเภทไส้กรอกหรือลูกชิ้น เนย ชีส เค้กและอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มหรือน้ำมันมะพร้าว 
  • ลดและจำกัดปริมาณเกลือไม่เกิน 6 กรัมหรือประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน เพื่อลดอัตราการเกิดความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ การรับประทานน้ำมันปลาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากมีไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างโอเมก้า 3 ซึ่งช่วยในการไหลเวียนเลือด ลดการอักเสบ ลดระดับไตรกลีเซอไรด์และความดันโลหิต อีกทั้งน้ำมันปลาบางยี่ห้ออาจมีการเพิ่มสารสำคัญเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพอื่น ๆ เช่น แอสตาแซนธินที่มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระและป้องกันโรคในระบบหลอดเลือดหัวใจ หรือวิตามินอีที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ พร้อมทั้งจะช่วยให้น้ำมันปลาในร่างกายอยู่ในปริมาณที่คงที่ 

อย่างไรก็ตาม ปริมาณและความเหมาะสมในการรับประทานน้ำมันปลาจะขึ้นอยู่กับช่วงวัยของแต่ละบุคคล จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทาน โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัว เพื่อความปลอดภัย      

งดสูบบุหรี่ 

การสูบบุหรี่คือปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ สารนิโคตินในบุหรี่ขัดขวางการไหลเวียนของเลือดและกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น นอกจากนี้ ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ยังทำหน้าที่ลดปริมาณออกซิเจนในเลือดและทำลายผนังเลือดอีกด้วย

งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 

หากไม่สามารถงดเว้นได้ ควรควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ให้เหมาะสมหรือไม่เกิน 14 แก้วต่อสัปดาห์และไม่ควรดื่มอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจวายได้

ควบคุมความเครียด 

ควรฝึกวิธีการควบคุมความเครียด เช่น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อและการหายใจ เป็นต้น

ตรวจสุขภาพ 

ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาสุขภาพหัวใจและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจที่อาจเกิดขึ้น

ควบคุมความดันโลหิต 

ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการควบคุมความดันโลหิตที่เหมาะสมกับอายุและอาการของตนเอง และควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและรับประทานยาลดความดันโลหิตร่วมด้วยเพื่อการควบคุมที่ดียิ่งขึ้น

ควบคุมคอเลสเตอรอล 

แพทย์จะแนะนำวิธีการที่เหมาะสมในการลดคอเลสเตอรอล ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปตามอายุและข้อจำกัดของผู้ป่วยแต่ละคน 

ควบคุมโรคเบาหวาน 

โรคเบาหวานถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยจึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดน้ำหนักส่วนเกิน และควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับ 130/80mmHg

การรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง 

ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนดอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาอาการและระงับภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ และไม่ควรหยุดรับประทานยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงและทำให้อาการต่าง ๆ แย่ลงได้